เรื่องราวน่าเศร้าที่เกิดขึ้นกับคุณแม่ท่านหนึ่ง ผู้ใช้เฟซบุ๊คชื่อว่า M’Poppy Ka N’pokpong ซึ่งคุณแม่ได้โพสต์เล่าเรื่องราว การสูญเสียลูกชายหรือน้องปกป้อง ที่มีอายุได้เพียง 3 เดือน 25 วัน โดยคุณแม่เล่าถึงอาการป่วยของน้องไว้ว่า น้องปกป้องมีอาการป่วยเป็นหวัด มีเสมหะ และหายใจแรง เนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทำให้น้องต้องเข้าออกโรงพยาบาลเพื่อรักษาอาการมาตลอด แต่ก็ไม่หายขาด จนสุดท้ายแล้ว น้องปกป้องก็มาจากคุณแม่ไปเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยแพทย์ระบุว่า น้องปกป้องมีอาการปอดบวมและติดเชื้อ
จากข้อความที่คุณแม่ได้โพสต์เพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้กับทุก ๆ บ้าน จาก กลุ่มคนท้องคุยกัน…
เป็นอุทาหรณ์สำหรับคุณแม่ที่มีลูกน้อยนะคะ น้องปกป้อง 3 เดือน 25 วัน น้องเป็นหวัดมาตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์หาหมอหลายที่ ทั้งคลินิก โรงพยาบาล เป็นๆหายๆมาตลอด อาการน้องตอนนั้นไม่มีไข้ มีเสมหะค่อนข้างเยอะค่ะ แระหายใจแรงด้วย จนวันที่ 15 กุมภาแม่ได้พาน้องไปโรงบาลของต่างอำเภอเพราะน้องหายใจแรงมากจนหน้าอกบุ๋มลงไป หมอบอกว่าเสมหะได้ลงปอดค่ะทำให้น้องหายใจไม่ค่อยสะดวก จากนั้นหมอได้ส่งตัวน้องไปที่โรงบาลในตัวจังหวัด หมอบอกว่าต้องใส่เครื่องช่วยหายใจเพราะจะทำให้น้องหายใจโล่งขึ้นเพราะในเวลานั้นน้องหายใจเองไม่ค่อยได้แล้ว จนมาวันที่ 17 กุมภา หมอได้เปลี่ยนยาตัวใหม่ให้เป็นตัวที่แรงกว่าเดิมเพราะยาตัวเก่าน้องไม่ดีขึ้น แล้วน้องก็ได้มาจากอกแม่ไป ในเวลา 20.55น. ของวันที่ 17 กุมภาค่ะ ซึ่งหมอบอกว่าน้องปอดบวมติดเชื้อค่ะ
ทางทีมงานดิเอเชี่ยนพาเร้นท์ ขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของคุณแม่น้องปกป้องมา และขอขอบพระคุณสำหรับเรื่องราวที่คุณแม่แชร์เพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้กับคุณพ่อคุณแม่ท่านอื่น ๆ ณ ที่นี้ด้วยค่ะ และขอให้น้องปกป้องของคุณแม่ได้ไปเป็นเทวดาน้อยบนสวรรค์ค่ะ
ทั้งนี้อาการของไข้หวัดใหญ่ในเด็กจะเกิดขึ้นได้ เมื่อได้รับเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายประมาณ 2-3 วัน มักเริ่มจากมีไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดตามตัว อ่อนเพลีย และต่อมาจะมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ และอาจมีอาการของระบบร่างกายอื่น ๆ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ตาแดง ร่วมด้วยได้ โดยถ้าเป็นไม่รุนแรงอาจมีอาการแค่ 3-4 วัน แล้วหายได้เอง แต่บางคนอาจมีอาการนานเป็นสัปดาห์ ซึ่งอาการของไข้หวัดใหญ่ในเด็กเล็กและผู้ใหญ่ที่แตกต่างกัน คือ ในเด็กเล็กหรือเด็กทารก จะพบอาการคลื่นไส้ อาเจียน ตาแดงได้บ่อยกว่าผู้ใหญ่ และในเด็กทารกอาจมีอาการภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดอักเสบติดเชื้อที่รุนแรง หรืออาการคล้ายติดเชื้อในกระแสเลือด จนถึงช็อค และเสียชีวิตได้
คุณพ่อคุณแม่อาจดูแลลูกตามอาการโดยให้ทานยาลดไข้ ยาแก้ไอ ล้างจมูก ดูดน้ำมูก ให้นอนพักผ่อนและดื่มน้ำมาก ๆ รักษาร่างกายให้อบอุ่น และสังเกตอาการที่ต้องไปพบคุณหมอเช่น ซึมลง ทานไม่ได้ ไข้สูง อ่อนเพลียมาก ไอมากจนหอบเหนื่อย เป็นต้นค่ะ อ่านข้อมูลเพิ่มเติมที่ วิธีดูแลเมื่อลูกวัยทารกหรือวัยเตาะแตะเป็นไข้
ที่มาจาก เฟซบุ๊ค – M’Poppy Ka N’pokpong
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
วิธี “เคาะปอด” ระบายเสมหะ ทำให้ลูกได้เองที่บ้าน
โรคอื่น ๆ ที่ทำให้ลูกไข้ขึ้นนอกจากหวัด