เยื่อหุ้มสมองอักเสบ อาการ
เยื่อหุ้มสมองอักเสบ อาการ เป็นยังไง จริงไหมที่ว่า อาการคล้ายไข้หวัด มาดูประสบการณ์ของคุณแม่ท่านนี้ ที่ลูกวัย 2 เดือน เป็นโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ความสำคัญของวัคซีนเสริมที่แม่ ๆ ห้ามมองข้าม
คุณแม่ได้แชร์ประสบการณ์ ความสำคัญของวัคซีนเสริมไว้ว่า ขอฝากบอกต่อแม่ทุกคนนะคะ ถ้าพอจะมีเงินฉีดวัคซีนเสริมให้ลูกกันเถอะค่ะ น้องเก้าอายุ 2 เดือน 23 วัน อยู่ดี ๆ ไข้ขึ้นสูง 39-40 องศาเซลเซียส ทำทุกอย่าง เช็ดตัวกินยาลดไข้ ไข้ก็ไม่ลด พามาหาหมอ หมอเจาะเลือดตรวจปัสสาวะก็ไม่เจอเชื้ออะไร จนได้เจาะน้ำไขสันหลัง ตั้งแต่เล็ก ๆ เลย
หมอบอกน้ำไขสันหลังติดเชื้อ นั่นหมายถึง เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
แต่ยังบอกไม่ได้ว่าติดเชื้อตัวไหนต้องส่งไปเพาะเชื้อ ประมาน 5 วัน ถึงจะรู้ผล ระหว่างรอหมอให้ยาฆ่าเชื้อเข้าสายน้ำเกลือทุก 6 ชั่วโมง ซึ่งการให้ยา ถ้าติดเชื้อแบคทีเรียต้องให้ยาอย่างน้อย 6 สัปดาห์ แต่เชื้อไวรัสธรรมดาอย่างน้อยก็ให้ 10 วัน
ระหว่างรอผลตรวจคนเป็นพ่อเป็นแม่ก็คิดไปต่าง ๆ นานา ไปเปิดอ่านในเน็ตก็กลัวลูกจะมีผลกระทบ ภาวะแทรกซ้อนหูหนวกตาบอด ไม่เป็นอันทำอะไรเลย แต่ก็ต้องยอมรับ ถ้าเกิดอะไรขึ้น แต่ผลสรุปน้องเก้าโชคดีไม่เป็นไรมาก หมอบอกให้นอนให้ยา 10 วัน หลังจากทีได้ยาฆ่าเชื้อ ไข้ก็เริ่มลดลงเรื่อย ๆ จนหายเป็นปกติ
แต่ที่จะบอกคือ เข็มให้ยาต้องเปลี่ยนทุก 3 วัน เด็กเล็กเส้นเลือดยังไม่ขึ้น น้องเก้ากว่าจะหาเส้นเจอแต่ละทีโดนเจาะจนพรุน บางทีเข็มที่เจาะก็ให้ยาได้ไม่ถึงวันเลย ชั่วโมงต่อไปให้ยาไม่เข้าก็ต้องเอาไปแทงใหม่ สงสารลูกมากแต่ก็ต้องให้ยาจนครบ จึงฝากเตือนถ้าเป็นโรคนี้ ระยะเวลาการให้ยานาน มีเงินก็ไปฉีดวัคซีนเสริมให้ลูกกันเถอะค่ะ ดีกว่ามานั่งเห็นลูกเจ็บตัวใจเราแทบขาด
ทางทีมงานดิเอเชี่ยนพาเร้นท์ขอให้น้องเก้าแข็งแรงเร็ว ๆ และขอเป็นกำลังใจให้คุณแม่ด้วยนะคะ
โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เกิดจากอะไร
ศ.พญ.อุษา ทิสยากร นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย อธิบายถึงโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ว่า โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis) เป็นหนึ่งในโรคติดเชื้อรุนแรงที่เกิดจากการติดเชื้อในระบบประสาทส่วนกลาง เกิดได้จากการติดเชื้อหลายตัว ได้แก่ การติดเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย เช่น เชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส และเชื้อฮิบ ทั้งยังอาจจะเกิดจากเชื้อรา และหนอนพยาธิ
เชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส หนึ่งในสาเหตุสำคัญและกุมารแพทย์ให้ความสนใจมากจัดเป็นกลุ่มโรคไอพีดี (Invasive Pneumococcal Disease) โรคติดเชื้อรุนแรง โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ขวบ เชื้อนี้ยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคปอดบวม (Pneumonia) และโรคติดเชื้อในกระแสเลือด (Bacteremia)
อาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
อาการของโรคคล้ายกับไข้หวัด เป็นได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่
- มีไข้
- ปวดศีรษะ
- ปวดต้นคอ
- ก้มคอลำบาก
- คลื่นไส้อาเจียน
- เบื่ออาหาร
- ตาไวต่อแสง
- เซื่องซึม
- แขนขาอ่อนแรง
สำหรับอาการ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ทารกแรกเกิด ทารก หรือเด็กเล็ก พ่อแม่ต้องสังเกตให้ดี เพราะคล้ายกับอาการไข้หวัด หากมองข้ามอาจอันตรายเกินแก้ไขได้ทัน
อ่านเพิ่มเติมการฉีดวัคซีนโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบฟรี หน้าถัดไป
วิธีป้องกันเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
- ทารกแรกเกิดหรือทารก ควรกินนมแม่ให้ได้มากที่สุด
- ทารกหลัง 6 เดือนไปแล้ว ที่เริ่มกินอาหารเสริม หรือเด็กเล็ก ต้องรับประทานอาหารหลักครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำ
- ออกกำลังกาย และพักผ่อนอย่างพอเพียง
- ล้างมือบ่อย ๆ
- ปิดปากปิดจมูกเมื่อไอ หรือจาม
สำหรับความรุนแรงของโรคมีสูงมาก และส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยได้มากมาย เกิดความเสี่ยงสูงที่จะเสียชีวิต หรือทุพพลภาพในระยะยาว เช่น สมองถูกทำลาย หูหนวก และอาจจะสูญเสียความสามารถในการใช้แขนขา
เตรียมฉีดวัคซีนโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบฟรีปี 2562
จากงานพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2560 ศ.พอร์ทเตอร์ ดับเบิลยู แอนเดอร์สัน จูเนียร์, นพ.จอห์น บี รอบบินส์, พญ.ราเชล ชเนียสัน และ ศ.นพ.มธุราม ซานโตชาม ร่วมกันวิจัยพัฒนาวัคซีนป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียฮีโมฟีลุส อินฟลูเอนเซ ชนิดบี หรือ เชื้อฮิบ ซึ่งก่อให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี พบว่าอัตราการเกิดโรคและการตายจากเชื้อฮิปในเด็กเล็ก ลดลงกว่าร้อยละ 95-99 และป้องกันโรคในเด็กได้กว่า 100 ล้านคนทั่วโลก
ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ หัวหน้าสาขาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ระบุว่า เด็กอาจเสียชีวิต หรือพิการอย่างถาวรได้หากได้รับเชื้อฮิป
ล่าสุด ไทยเตรียมบรรจุวัคซีนดังกล่าวเป็นวัคซีนพื้นฐานสำหรับเด็กไทยในปี 2562 โดยเป็นการฉีดวัคซีนรวมป้องกัน 5 โรค คือ คอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ไวรัสตับอักเสบบี และเพิ่มฮิป เข้าไป ฉีด 4 เข็มให้เด็กอายุ 2, 4, 6 เดือน และ 1 ขวบครึ่ง ซึ่งค่าใช้จ่ายเท่ากับวัคซีนป้องกัน 4 โรค เพราะฉะนั้นให้ไปเลย 5 ตัวคุ้มค่ากว่ามาก นอกจากนี้ การพัฒนาวัคซีนในปัจจุบันมีความปลอดภัยและมีคุณภาพ จึงไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดผลข้างเคียง หรือเป็นอันตรายใด ๆ เพราะวัคซีนเป็นการป้องกันโรคได้ดีกว่าการรักษา
ที่มา : https://www.dailynews.co.th
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
วิธีตัดเล็บทารก ตัดเล็บให้ลูกอย่างไร ให้ปลอดภัยไม่เข้าเนื้อ
ตารางวัคซีน ปี 2561 จากกระทรวงสาธารณสุขมาแล้ว เช็คเลย!
ยาป้ายตาทารกแรกเกิด หมอป้ายตาลูกทำไม หลังอุแว๊! เกิดอะไรขึ้นบ้างในห้องคลอด