เทคนิคเรียนเก่งอย่างอัจฉริยะ
เคล็บลับความฉลาดสร้างได้ตั้งแต่เล็ก เทคนิคเรียนเก่งอย่างอัจฉริยะ วิธีเรียนเก่ง ที่พ่อแม่ปลูกฝังลูกได้ตั้งแต่ยังเล็ก
เทคนิคเรียนเก่งและความจําดี เริ่มได้จากร่างกายที่แข็งแรง
ก่อนจะหาเทคนิคเรียนเก่งอย่างอัจฉริยะ พ่อแม่ต้องเสริมสร้างสุขภาพของลูกเสียก่อน เมื่อร่างกายแข็งแรง สมองปลอดโปร่ง ก็จะสามารถเติมเต็มความรู้ ให้ลูกเรียนรู้ได้รวดเร็วมากขึ้น
กินอะไรความจำดี
หลังจากปลูกฝังความฉลาดผ่านน้ำนมแม่มาเป็นเวลา 6 เดือน เมื่อลูกเริ่มทานอาหารเสริมได้ พ่อแม่ต้องเลือกอาหารที่มีประโยชน์ เปี่ยมไปด้วยคุณค่าทางสารอาหารมาให้ลูก เช่น
- กินปลา เพราะกินปลาแล้วฉลาด โดยเฉพาะปลาทะเลน้ำลึก เช่น แซลมอน ทูน่า เป็นต้น ปลาเหล่านี้ประกอบไปด้วยไขมันโอเมก้า-3 และโปรตีนมากมายซึ่งช่วยในการทำงานของสมอง
- กินผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ สตรอเบอรี่ บลูเบอรี่ เชอรี่ ผลไม้ตระกูลนี้ได้รับการพิสูจน์ทางการแพทย์แล้วว่าช่วยป้องกันสมองจากสารอนุมูลอิสระ มีระบบช่วยหมุนเวียนเลือดไปเลี้ยงสมอง มีวิตามิน ช่วยเพิ่มความสามารถในการคิด ความจำดีและเพิ่มระดับไอคิวได้อีกด้วย
- กินไข่ ในไข่นั้นมีสารโคลีน ซึ่งเป็นสารอาหารที่สำคัญต่อพัฒนาการทำงานของสมองและเพิ่มความจำได้ดี โดยมหาวิทยานอร์ทแคโรไลน่า สหรัฐอเมริกา ได้ค้นพบว่า สมองของทารกที่แม่ได้รับประทานไข่ในตอนตั้งครรภ์นั้นจะมีพื้นที่การจดจำและมีความสามารถในการจำได้มากขึ้น
- กินผักโขม ผักใบเขียวชนิดนี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าช่วยป้องกันภาวะสมองเสื่อมได้ดี มีกรดโฟลิกสูงที่ดีต่อการจำ นักประสาทวิทยาได้แนะนำว่าควรกินผักโขมอย่างน้อย 3 สัปดาห์ มีส่วนช่วยการทำงานของสมองด้านความจำได้ดี
นอกจากนี้ พวกผักผลไม้ชนิดอื่น ๆ ก็ดีต่อร่างกายไม่แพ้กัน เช่น แครอท ช่วยกระตุ้นให้สมองทำงานอย่างสดชื่น โดยเฉพาะแครอทสด ซึ่งควรให้ลูกได้ทานอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้งจะช่วยกระตุ้นความจำที่ดีได้ แล้วอย่าลืมพืชตระกูลถั่วอย่างอัลมอนด์ ถั่วลิสง แมคคาเดเมีย หรือวอลนัท วิตามินอีในถั่วที่มีส่วนช่วยในกระบวนการคิดและจดจำ และธัญพืช เช่น เมล็ดดอกทานตะวัน งา หรือข้าวกล้อง ขนมปังธัญพืช ต่างก็มีสารอาหารบำรุงสมองด้วยเช่นกัน ช่วยกระตุ้นสมอง ทำให้เลือดไปหล่อเลี้ยงสมองได้ดี
ให้ลูกออกกำลังกายช่วยกระตุ้นความจำ
ขณะที่ลูกเคลื่อนไหวร่างกายไม่ว่าจะเป็นการวิ่ง กระโดด เต้นตามจังหวะดนตรี หรือการได้เล่นนอกบ้าน จะส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้มากขึ้น ทำให้สมองเปิดพร้อมที่จะรับกับการจดจำและเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้รวดเร็วขึ้น
ลูกต้องนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ
อยากให้ลูกมีความจำดีควรให้ลูกได้นอนอย่างน้อยวันละ 7 ชั่วโมง จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพความจำให้เพิ่มขึ้น และไม่ควรเกินวันละ 9 ชั่วโมง เพราะการนอนมากไปจะทำให้เกิดความตื่นตัวน้อยลง เป็นผลให้ประสิทธิภาพของความจำลดน้อยลงด้วย
เทคนิคเรียนเก่งอย่างอัจฉริยะเริ่มได้ตั้งแต่เล็ก
- ฝึกสมาธิ สำหรับเด็กเล็ก ๆ แค่ชวนลูกมานอนหนุนตักใช้เวลาเงียบ ๆ อย่างน้อย 15 นาทีก็เป็นการฝึกสมาธิได้ ซึ่งจะช่วยให้ลูกรู้สึกผ่อนคลาย และเตรียมให้สมองได้เปิดรับการเรียนรู้ใหม่ ๆ พร้อมที่จะจดจำสิ่งต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี
- ส่งเสริมการเล่นของลูก การให้ลูกได้เล่น จัดกิจกรรมตารางเวลาอย่างเหมาะสม จะเป็นการช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของลูกได้ดี รวมถึงการเลือกของเล่นให้ลูกที่มีส่วนสำคัญต่อพัฒนาการความฉลาดและความเก่งของลูก จะทำให้ลูกเรียนรู้ได้อย่างสนุกสนานและมีความสุขไปด้วย
- เล่มเกมฝึกความจำ เช่น เกมหาคำศัพท์ บิงโก จิ๊กซอว์ หาภาพจับคู่ ที่จะช่วยฝีกความจำได้เป็นอย่างดี แถมยังช่วยให้ลูกมีสมาธิและความคิดในการแก้ปัญหาให้สำเร็จได้
- เล่นดนตรีช่วยเพิ่มความจำ การที่ลูกได้ฟังเพลง ร้องเพลง ซ้ำ ๆ ทุกวัน จะช่วยให้ลูกจดจำเนื้อเพลงและทำนองได้ นอกจากนี้ การสนับสนุนให้ลูกได้เล่นดนตรีจะทำให้เด็กได้ฝึกอ่านโน้ตดนตรี ซึ่งเป็นการฝึกในเรื่องของความจำโดยตรงอีกด้วย
- ชวนลูกนับเลข และเริ่มใช้นิ้วมือนับบวกลบเลขอย่างง่าย ๆ ทำได้ตั้งแต่ยังเล็ก ขณะเดียวกันก็ฝึกความจำเรื่องสีสัน ชวนลูกบอกสี เช่น สีของลูกบอล สีของรถ สีของดอกไม้ สีของเสื้อผ้า ฯลฯ เพื่อฝึกให้ลูกได้เป็นคนช่างคิด ช่างสังเกต และช่วยพัฒนาสมองไปสู่การเรียนรู้ที่ดีในอนาคต
- ตั้งคำถามชวนให้ลูกเป็นคนช่างสังเกต ชวนคุยหรือตั้งคำถามลูก จะช่วยฝึกให้ลูกเป็นเด็กที่ช่างสังเกต นำไปสู่กระบวนการคิด รู้จักการโต้ตอบ ซึ่งบางคำตอบอาจมีถูกผิด แต่พ่อแม่ก็สามารถอธิบายคำตอบต่อยอดการเรียนรู้ของลูกได้ โดยตั้งคำถามให้เหมาะสมกับวัย เริ่มต้นที่คำถามง่าย ๆ เช่น คำถามหลังจากลูกกลับจากโรงเรียน หรือคำถามบนโต๊ะอาหาร เช่น วันนี้คุณแม่ทำผัดผัก 3 อย่าง มีผัดอะไรบ้างนะ หรือแม้แต่คำถามรอบตัว เช่น สัญญาณไฟมีสีอะไร เป็นต้น
เทคนิคเรียนเก่งอย่างอัจฉริยะสอนได้ตั้งแต่ก่อนเข้าโรงเรียน
เทคนิคเรียนเก่งอย่างอัจฉริยะอย่างแรกคือการปลูกฝังให้รักการอ่าน ไม่ใช่บังคับให้ลูกอ่านหนังสือหรือท่องตำราเรียน แต่นิสัยรักการอ่านต้องเริ่มสร้างกันตั้งแต่เด็กเริ่มสื่อสารได้ พ่อแม่ต้องอ่านนิทานให้ลูกฟังบ่อย ๆ หรือแม้แต่เวลาออกไปนอกบ้าน ก็สามารถอ่านชื่อร้านอาหาร หรือป้ายโฆษณาให้ลูกฟัง มนุษย์จะสามารถจดจำสิ่งต่าง ๆ ได้ดีที่สุดเมื่อได้รับข้อมูลด้วยประสาทสัมผัส 2 ส่วนขึ้นไป เช่น ฟังและดูภาพประกอบ หรือดูและวาดเขียนตาม ชมลูกเมื่อเขาสามารถจำสัญลักษณ์หรือโลโก้ยี่ห้อสินค้าต่าง ๆ หรือ นี่จะช่วยกระตุ้นสมองให้รู้จักเชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ฝึกให้เด็กได้จินตนาการ อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้เขาอยากเรียนรู้ที่จะอ่านอีกด้วย
เทคนิคเรียนเก่งอย่างอัจฉริยะอย่างที่สองคือช่วยทำงานบ้าน การมอบหมายหน้าที่ให้ลูกช่วยทำงานบ้านง่าย ๆ เช่น เก็บของเล่น เก็บที่นอน ซักถุงเท้าของตัวเอง ล้างผักผลไม้ หรือกรอกน้ำ จะเป็นการปลูกฝังให้เด็กรู้จักรับผิดชอบในหน้าที่ รู้จักแบ่งเวลา เรียงลำดับความสำคัญของงาน และรู้จักช่วยเหลือผู้อื่น เมื่อโตขึ้นเขาก็จะรู้ว่าเวลาใดต้องทำการบ้าน ทำงานบ้าน อ่านหนังสือ หรือออกไปเที่ยวเล่น
เทคนิคเรียนเก่งอย่างอัจฉริยะเมื่อลูกเริ่มอ่านออก เขียนได้
- ฟังลูกอ่านหนังสือ เมื่อลูกเริ่มอ่านหนังสือเองได้แล้ว พยายามชักชวนหรือส่งเสริมให้ลูกได้อ่านหนังสือ ด้วยการเลือกหนังสือที่ลูกสนใจ ชวนลูกอ่านหนังสือให้พ่อแม่ฟัง ให้ความสนใจเกี่ยวกับสิ่งที่เขาอ่านและรับฟังความคิดเห็นของลูก การแสดงความสนใจต่อลูกนั้นจะทำให้เขารู้สึกมีคุณค่า และเรียนรู้ว่าการอ่านหนังสือเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ ที่จะนำทางไปสู่ความฉลาดในอนาคตได้
- สอนลูกจดบันทึก การเขียนบันทึกประจำวันแบบง่าย ๆ จะช่วยฝึกให้ลูกรู้จักทักษะการเขียนและการลำดับเรื่องราวอย่างเป็นขั้นเป็นตอน และทำให้ลูกได้รู้จักกับการรวบรวมความคิดและจดจำเรื่องราวที่ได้เจอในแต่ละวัน หรือฝึกเขียนตารางการวางแผน เช่น แผนที่จะทำอะไรในวันเสาร์ เช้า กลางวัน เย็นทำอะไรบ้าง นอกจากการเขียนหรือจดบันทึกจะช่วยจัดระบบความคิดและความจำ ยังช่วยสร้างให้ลูกได้มีวินัยกับตัวเองได้ดีด้วย
- สอนลูกให้รู้จักพยายาม ปล่อยให้ลูกลองทำสิ่งเล็ก ๆ ด้วยตัวเองก่อน โดยพ่อแม่ทำหน้าที่เป็นโค้ชคอยให้คำแนะนำ อธิบายถึงวิธีทำ กระบวนการต่าง ๆ แต่ไม่ลงมือทำให้ อาจจะเริ่มจากเกมง่าย ๆ
- สภาพแวดล้อมในบ้านก็สำคัญ ทารกแรกเกิดจนถึง 11 ขวบ เป็นช่วงที่สำคัญที่สุดในการกำหนดอนาคตของเด็ก หากพ่อแม่มีความเครียด ก็จะส่งผลต่อไปยังลูก นอกจากนี้ ยังต้องใช้เวลาอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว เพราะครอบครัวที่ทะเลาะกันบ่อย หรือพ่อแม่ทำงานหนักจนไม่มีเวลาให้ลูก เด็กจะมีปัญหาเกี่ยวกับสภาพจิตใจ ส่งผลโดยตรงต่อพัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก
- ตารางชีวิตประจําวันของลูกต้องชัดเจน ตื่นกี่โมง อาบน้ำกี่โมง อ่านหนังสือกี่โมง เล่นกี่โมง เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องระเบียบวินัย รู้จักแบ่งเวลา อย่าตามใจลูกไปเสียทุกอย่าง หากลูกต่อรองก็ผ่อนปรนได้บ้าง เช่น ลูกขอเวลาเล่นอีก 10 นาที ถ้าอย่างนั้น อีก 10 นาที ลูกต้องอาบน้ำ
- พูดคุยกับลูกบ่อย ๆ พ่อแม่ควรพูดคุยกับลูกตั้งแต่อยู่ในท้อง แต่สำคัญมาก ๆ ในช่วงวัยทารก จวบจนเข้าสู่โรงเรียน การพูดคุยกับลูก จะทำให้พ่อแม่รู้ความต้องการของลูกที่ชัดเจน เพื่อวางแผนได้ว่าลูกจะเรียนอะไร ถนัดวิชาไหน ชอบทำอะไร ทั้งยังสามารถจูงใจให้ลูกทำในสิ่งที่ดีต่อตัวลูกเอง ด้วยการอธิบายอย่างมีเหตุผล อาทิ ทำไมลูกต้องทำการบ้าน หรือทำไมลูกต้องอ่านหนังสือ
เทคนิคเรียนเก่งอย่างอัจฉริยะที่สำคัญที่สุด ลูกต้องเรียนรู้ทุกอย่างด้วยความอยากรู้ ไม่ใช่ว่าถูกพ่อแม่บังคับ เพื่อให้ลูกฉลาดอย่างมีความสุข ไม่เครียด หรือกดดัน ขณะเดียวกันพ่อแม่ต้องชื่นชมลูกด้วยความจริงใจ กล่าวชม กอด หรือหอมแก้มลูก พัฒนา IQ แล้วอย่าลืมพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) รวมถึงพัฒนา Executive Function (EF) หรือทักษะการคิดควบคู่กันไปด้วยนะคะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ทารกสามารถกินสับปะรดได้ไหม จะเป็นอันตรายไหมถ้าจะให้ลูกกิน
วิธีสอนลูกให้ฉลาด เลี้ยงลูกให้ฉลาด อารมณ์ดี มีความฉลาดทางอารมณ์ ตั้งแต่แรกเกิด
กิจกรรมที่ทำแล้วลูกไม่โง่ เรียนเก่ง อารมณ์ดี ไม่งอแง
ผลวิจัยชี้! ความสัมพันธ์พ่อลูก ยิ่งใกล้ชิดยิ่งเป็นเด็กดี เรียนเก่ง ลูกมีความสุขมากขึ้น
*ภาพและข้อมูลมีลิขสิทธิ์เจ้าของโดย บริษัท ทิคเกิ้ลมีเดีย จำกัด ไม่อนุญาตให้คัดลอกข้อมูล และนำรูปภาพไปเผยแพร่ต่อไม่ว่าวิธีใด ๆ หากฝ่าฝืน ทางบริษัทฯจะดำเนินการตามกฎหมาย เว้นแต่ได้มีการขออนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรกับทางบริษัทฯเรียบร้อยแล้ว