สิ่งที่คุณแม่ควรรู้เกี่ยวกับการ เตรียมตัวก่อนไปอัลตราซาวด์ จะมีอะไรบ้าง วันนี้ theAsianparent Thailand ขอวิธีการเตรียมตัวก่อนไปอัลตราซาวด์มาฝากคุณแม่กันค่ะ มาดูกันว่าก่อนจะไปหาหมอเราจะต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง จะได้ไปโรงพยาบาลไม่เสียเที่ยวกัน
การอัลตราซาวด์ คืออะไร
การตรวจอัลตราซาวด์ (Ultrasound) หรือ การตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง เป็นการตรวจที่ใช้คลื่นเสียงในการสร้างภาพลูกในท้องคุณแม่ โดยอุปกรณ์ที่ใช้ในการตรวจจะปล่อยคลื่นเสียงผ่านร่างกายคุณแม่ คลื่นเสียงนี้จะสะท้อนกับกล้ามเนื้อ ไขมัน อวัยวะในช่องท้อง และร่างกายของทารก รก น้ำคร่ำที่อยู่ในมดลูกของคุณแม่ แล้วสะท้อนกลับมายังอุปกรณ์ตรวจรับเพื่อแปลงเป็นภาพทางหน้าจออีกครั้ง
การเตรียมตัวก่อนตรวจอัลตราซาวด์
การเตรียมตัวก่อนอัลตราซาวด์ขึ้นอยู่กับว่าเป็นการอัลตราซาวด์ที่อวัยวะหรือบริเวณใดในร่างกาย ซึ่งแพทย์อาจแนะนำข้อปฏิบัติก่อนการอัลตราซาวด์ที่จะช่วยให้มองเห็นภาพอัลตราซาวด์ส่วนนั้น ๆ ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
บางกรณีคนไข้อาจต้องอดอาหารเป็นเวลา 6-8 ชั่วโมงก่อนการตรวจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นการตรวจช่องท้อง เนื่องจากอาหารที่ยังย่อยไม่หมดสามารถกีดขวางคลื่นเสียง ทำให้ไม่สามารถได้ภาพที่ชัดเจน
ส่วนการตรวจถุงน้ำดี ตับ ตับอ่อน หรือม้าม แพทย์อาจบอกให้รับประทานอาหารปลอดไขมันในเย็นวันก่อนตรวจ และอดอาหารจนถึงการตรวจ ทั้งนี้ผู้ป่วยสามารถดื่มน้ำและรับประทานยาได้ตามปกติ ส่วนการตรวจอื่น ๆ เช่น การตรวจครรภ์ หรือตรวจเชิงกรานอาจแนะนำให้ดื่มน้ำอย่างน้อย 4-6 แก้ว ในช่วง 1-2 ชั่วโมงก่อนการตรวจ แล้วอย่าปัสสาวะออกจนกว่าจะอัลตราซาวด์เรียบร้อย
- การตรวจอวัยวะในช่องท้อง ถ้านัดตรวจเช้า งดอาหาร ยา และเครื่องดื่มทุกชนิด หลังเที่ยงคืนก่อนตรวจหรืออย่างน้อย 6 ชม. ถ้านัดตรวจบ่าย มื้อเช้าตรวจให้รับประทานอาหาร่อ่นที่ไม่มีไขมันหลัง 08.00 น. ให้งดอาหาร ยา และเครื่องดื่มทุกชนิดจนกว่าจะตรวจเสร็จ
- การตรวจในอุ้งเชิงกราน สามารถเลือกตรวจโดยผ่านทางหน้าท้อง หรือทางช่องคลอด การตรวจโดยผ่านทางหน้าท้องผู้รับการตรวจต้องปวดปัสสาวะขณะตรวจและต้องกลั้นปัสสาวะจนกว่าจะตรวจเสร็จ หากไม่ปวดปัสสาวะควรดื่มน้ำ 2-3 แก้วก่อนตรวจ 30-60 นาที เพื่อให้ปวดปัสสาวะ ทั้งนี้ต้องอาศัย น้ำในกระเพาะปัสสาวะ เป็นตัวกลางส่งผ่านเสียงไปยังอวัยวะอื่นๆ ในอุ้งเชิงกรานที่อยู่หลังกระเพาะปัสสาวะ
- การตรวจอวัยวะอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับช่องท้อง ไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวก่อนการตรวจ
นพ.อดิศร อักษรภูษิตพงศ์ สูตินรีแพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ โรงพยาบาลพญาไท 3 ว่าวัตถุประสงค์หลักของการตรวจอัลตราซาวด์ คือการตรวจประเมินสุขภาพของทารกในครรภ์ โดยสามารถแยกย่อยประโยชน์ของการตรวจได้ตามช่วงอายุครรภ์
คุณหมออดิศรยังกล่าวต่อว่า คุณแม่ควรได้รับการตรวจอัลตราซาวด์อย่างน้อย 1 ครั้ง ในช่วงอายุครรภ์ 18-22 สัปดาห์ โดยสูติแพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ (maternal-fetal medicine, MFM) เพื่อตรวจหาความพิการในทารก (anomaly scan) และติดตามพัฒนาการของทารก ปัจจุบันแนะนำว่าคุณแม่ควรได้รับการตรวจอัลตราซาวด์อย่างน้อย 1 ครั้งในทุกไตรมาส
สำหรับคุณแม่บางท่านที่มีภาวะแทรกซ้อนผิดปกติ เช่น ทารกน้ำหนักตัวน้อย, น้ำคร่ำน้อย, ครรภ์เป็นพิษ, เบาหวาน, ครรภ์แฝด เป็นต้น จะได้รับการตรวจอัลตราซาวด์ที่ถี่กว่าปกติและตรวจละเอียดมากขึ้น บางครั้งอาจต้องได้รับการตรวจทุกเดือน ทุกสัปดาห์ หรือทุกวัน
การตรวจอัลตราซาวด์มีอันตรายไหม
รศ.พญ. สายฝน ชวาลไพบูลย์ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า “อัลตราซาวด์ ที่ใช้ตรวจคุณแม่ตั้งครรภ์ จะมีความเข้มข้นของเสียงผ่านเข้าไปในเนื้อเยื่อของร่างกายในปริมาณที่น้อยมาก ในต่างประเทศมีการศึกษาของสถาบันทางการแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านอัลตราซาวด์แห่งสหรัฐอเมริกา (American Institute of Ultrasound in Medicine) และราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งอังกฤษ (Royal College of Obstetricians and Gynaecologists) พบว่า ลูกในท้องที่คุณแม่ได้รับการตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ ไม่ได้มีความพิการหรือการเจริญเติบโตช้ากว่าลูกในท้องของคุณแม่ที่ไม่ได้รับการตรวจแต่อย่างใด เมื่อทำการตรวจติดตามเด็กที่คลอดไปนานแล้ว ก็ไม่พบว่ามีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตทั้งร่างกาย จิตใจ และสมอง”
ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า การอัลตราซาวด์ขณะตั้งครรภ์ไม่เป็นอันตรายใด ๆ สามารถตรวจการตั้งครรภ์ได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง เพียงแต่คุณหมอมักจะแนะนำให้อัลตราซาวด์เพียง 2–3 ครั้งเท่านั้น หรืออย่างน้อยที่สุด 1 ครั้ง และควรทำในขณะที่มีอายุครรภ์ได้ประมาณ 18–22 สัปดาห์
ลงทะเบียนรับการดูแลตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ กับ theAsianparent Thailand ตั้งแต่ช่วงไตรมาสแรก มาติดตามพัฒนาการของลูกอย่างใกล้ชิด ว่าลูกโตขึ้นแค่ไหนกันนะ ไตรมาสที่ 2 มาฟังเสียงลูกน้อย นับว่าหนึ่งวันลูกดิ้นไหมนะ และ ลูกดิ้นวันละกี่ครั้งด้วยแอพพลิเคชั่น theAsianparent Thailand นี่เป็นแค่ตัวอย่างกิจกรรมบนแอพพลิเคชั่นในส่วนแรก เพราะคุณแม่จะได้รับการดูแลทั้งอาหารการกินโดยการออกแบบจากผู้เชี่ยวชาญว่าควรทานอะไรบ้างในแต่ช่วงอายุครรภ์ ยาที่เป็นอันตรายชนิดไหนบ้างที่ไม่ควรทาน กิจกรรมใดบ้างที่ทำได้หรือทำไม่ได้ เคล็ดลับการตั้งชื่อลูกอย่างไรให้เป็นมงคลทั้งเด็กหญิงและเด็กชาย รวมถึงเตรียมแผนการล่วงหน้าถึงอนาคต การเตรียมคลอด การดูแลตนเองหลังคลอด ที่ครอบคลุมทุกช่วงเวลาที่คุณแม่ต้องการ
Source : pobpad.com , phyathai.com
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
100 สิ่งแม่ท้องต้องรู้ ตอนที่ 98 ความเครียดในช่วงแม่ท้อง ส่งผลต่อลูกในท้องอย่างไร
ของบำรุงคนท้อง สำหรับแม่ท้อง 8 เดือน บำรุงคุณแม่ตั้งครรภ์ เดือนที่ 8