เด็กร้องโคลิค งอแงเลี้ยงยาก รับมืออย่างไร
เด็กร้องโคลิด หรือที่คนเฒ่าคนแก่มักจะเรียกกันว่า ร้องร้อยวัน เป็นอาการที่พบได้ทั้งในเด็กผู้ชายและผู้หญิง พบได้ค่อนข้างบ่อยประมาณ 20 – 30% เริ่มมีอาการเมื่อเด็กมีอายุได้ประมาณ 2 สัปดาห์ แต่อาการจะรุนแรงขึ้นในช่วงอายุ 6 – 8 สัปดาห์ แล้วอาการจะหายไปเองเมื่อลูกอายุประมาณ 3 เดือน โดยสาเหตุของอาการโคลิคนี้ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจน
เด็กร้องโคลิค จะมีอาการร้องไห้รุนแรง ทำอย่างไรก็ไม่หยุดร้อง โมโห หน้าแดง ร้องแบบแผดเสียง กำหมัดแน่น ขางอเข้าหาหน้าท้อง มักจะเกิดขึ้นในช่วงบ่ายหรือเย็น โดยมีอาการนานกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน มากกว่า 3 วันต่อสัปดาห์
รู้ได้อย่างไรว่าลูกร้องโคลิค
การที่เด็กร้องในช่วงแรกๆ พ่อแม่อาจไม่รู้ว่าลูกเป็นอะไร แต่ถ้าเกิดเป็นซ้ำๆก็พอจะบอกได้ว่าอาจเป็นการร้องโคลิค โดยจุดสังเกตสำหรับพ่อแม่มีดังนี้
- มักจะเริ่มมีอาการในช่วงเดือนแรก โดยที่เด็กดูแข็งแรง ปกติดี
- เด็กจะร้องคล้ายกับมีอาการปวดท้อง โดยจะเกร็งท้อง มือและขางอเข้าหาลำตัว
- มักจะร้องเป็นระยะ วันละ 1 – 2 ครั้ง ครั้งละ 1 – 2 ชั่วโมง และส่วนใหญ่จะเป็นในช่วงบ่ายหรือเย็น
- ไม่มีอาการแสดงว่าหิว
เด็กร้องโคลิค รับมืออย่างไร
อาการเด็กร้องโคลิคนั้น มักจะทำให้คุณพ่อคุณแม่เกิดความเครียด ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะลูกไม่ยอมหยุดร้องเสียที อย่างไรก็ตาม คุณพ่อคุณแม่อาจลองทำตามวิธีดังต่อไปนี้ เพื่อดูแลเด็กร้องโคลิค
- สร้างบรรยากาศในการเลี้ยงดูให้สงบ ให้เด็กอยู่ในห้องเงียบๆ แสงสว่างน้อยๆ
- อุ้มทารกเมื่อมีอาการ อาจจะอุ้มแล้วนั่งเก้าอี้โยก หรืออุ้มพาเดินรอบห้อง
- ให้ทารกนอนตะแคงหรือนอนคว่ำบนตักแม่ หรือใช้ผ้าอ้อมห่อตัวให้เหมือนเด็กขดตัวอยู่ในท้องแม่
- ลองให้เด็กนอนหงายแล้วนวดท้องเป็นเวลาสั้นๆไม่เกิน 5 นาที ในลักษณะทวนเข็มนาฬิกา
- สังเกตว่ามีอะไรทำให้ทารกไม่สบายตัวหรือไม่ เช่น ผ้าอ้อมเปียก อากาศที่ร้อนหรือเย็นจนเกินไป
- อย่าให้คุณแม่ดูแลเด็กอยู่คนเดียว ควรมีคนมาช่วยดูแลสลับกัน
เมื่อไหร่ควรพาลูกไปพบคุณหมอ
- เด็กร้องอย่างเจ็บปวดนานเกิน 3 ชั่วโมง
- เด็กยังคงมีอาการร้องโคลิคหลัง 3 เดือน หรือมีอาการมากกว่า 2 – 3 ครั้งต่อวัน
- พบความผิดปกติอย่างอื่นร่วมด้วยเช่น ถ่ายเหลว ถ่ายมีมูกเลือด ผื่นขึ้น อาเจียน
การร้องไห้ กับเด็กน้อย เป็นของคู่กัน คุณพ่อคุณแม่จึงต้องอดทน โดยเฉพาะเมื่อลูกน้อยมีอาการร้องโคลิค แต่ส่วนใหญ่เมื่อผ่าน 3 เดือนไปแล้วอาการก็จะดีขึ้นเอง ไม่ส่งผลต่อพัฒนาการของเด็ก หากคุณพ่อคุณแม่ท่านใดมีประสบการณ์หรือมีเคล็ดลับรับมืออาการร้องโคลิค ก็อย่าลืมนำมาแชร์เพื่อเป็นประโยชน์กับผู้อ่านท่านอื่นกันนะครับ
บทความอื่นๆที่น่าสนใจ
วิธีง่ายๆ ช่วยให้ลูกฟื้นไข้ใน 5 นาที
เช็คด่วน! รูเล็กๆข้างหูของลูก สัญญาณร้ายที่ไม่ควรมองข้าม