เด็กติดเกมสูงขึ้น 1.5 เท่า อายุน้อยสุดเพียง 5 ขวบ
เด็กติดเกมสูงขึ้น 1.5 เท่า อายุน้อยสุดเพียง 5 ขวบ เท่านั้น นอกจากนี้ยังมีอาการป่วยทางจิตเวช เช่น สมาธิสั้น โรคดื้อต่อต้าน ซึมเศร้า 53 คน เพิ่มสูงขึ้น 1.5 เท่าตัว ในการเก็บข้อมูล 3 เดือนแรกปีนี้ พบเด็กและวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 16 ปีในรอบ 3 ปี ร้อยละ 96 เป็นชาย
ติดเกมมากเเค่ไหนในสังคม
วันนี้(21 พ.ค.2560) นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กติดเกม สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ รายงานว่าในปี 2560 นี้ ช่วง 3 เดือนแรก พบผู้ป่วยเด็กและวัยรุ่นที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีปัญหาพฤติกรรม และอาการเสพติดเกมอยู่ในระดับปานกลางถึงรุนแรงที่ต้องเข้ารับการบำบัดรักษาทางจิตเวชอย่างเร่งด่วน และต่อเนื่อง รวมจำนวน 53 คน ซึ่งเป็นสถิติที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 1.5 เท่าตัวในรอบ 3 ปี ร้อยละ 96 เป็นชาย
โดยจิตแพทย์ตรวจพบว่าเด็กกลุ่มนี้จะมีโรคร่วมทางจิตเวช เช่น โรคสมาธิสั้น โรคดื้อต่อต้าน โรควิตกกังวลโรคซึมเศร้า โรคกล้ามเนื้อตากระตุก โรคบกพร่องทักษะการเรียนรู้ นอกจากนี้ยังพบปัญหาพฤติกรรมโกหก ขโมยเงิน เล่นการพนัน หนีเรียน ไม่ยอมไปโรงเรียน และหนีออกจากบ้าน ส่วนใหญ่พบในกลุ่มอายุ 14 – 16 ปี แนวโน้มพบอายุน้อยลงเรื่อยๆ น้อยที่สุดคือ 5 ขวบ ซึ่งสัมพันธ์กับปัญหาการเลี้ยงดูแบบปล่อยปละละเลย นับว่าเป็นเรื่องที่น่าห่วงมาก โดยเรื่องติดเกมนี้ยังเป็นปัญหาอันดับ 2 ที่พ่อแม่โทรปรึกษาสายด่วน 1323 รองจากปัญหาสุขภาพจิตวัยรุ่นเช่น เรื่องความรัก
เตือนเกมโมบ้า อันตรายต่อสมอง
อธิบดีกรมสุขภาพจิต บอกว่า สิ่งที่กังวล ขณะนี้เรายังเข้าใจผิดคิดว่า เกมบนสมาร์ทโฟน เกมออนไลน์ การแข่งขันเกมต่อสู้ออนไลน์ คือของเล่นของเด็กทุกวัย เข้าใจผิดว่าการแข่งขันเกมต่อสู้ออนไลน์ ที่รู้จักกันว่าโมบ้า ซึ่งเป็นเกมที่มีลักษณะจำลองการต่อสู้เสมือนจริงของทั้ง 2 ฝ่ายที่กำลังได้รับความนิยมในหมู่วัยรุ่นและเยาวชนทั่วโลก เล่นกันเป็นทีม เป็นกีฬาทางสมองหรือที่เรียกว่าอี-สปอร์ต( E-Sports) ซึ่งแท้จริงแล้วเกมโมบ้า มีอันตรายต่อสมองที่บริเวณสมองส่วนหน้าของเด็ก และวัยรุ่น ทำหน้าที่เกี่ยวกับการคิดวิเคราะห์ สมาธิ ความจำ และการตัดสินใจด้วยเหตุผล ซึ่งมีผลต่อการควบคุมความคิด อารมณ์และพฤติกรรมโดยตรง สมองส่วนนี้จะทำงานลดลง
ในขณะที่สมองส่วนอยาก หรือที่เรียกว่าระบบลิมบิก จะทำงานเพิ่มขึ้นเมื่อได้รับการกระตุ้นด้วยความอยากความสนุกตื่นเต้นความท้าทายจากการต่อสู้และการได้คะแนนหรือชัยชนะในเกมบ่อยๆซ้ำๆต่อเนื่องนานๆ จะนำไปสู่วงจรสมองติดเกมในที่สุด เป็นการเสพติดทางพฤติกรรมจนเกิดความเคยชิน จึงเลิกยากมาก ซึ่งขณะนี้จิตแพทย์พบว่าเกมชนิดนี้กำลังเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เด็กติดเกมมากจนต้องเข้ารับการบำบัด
อาการติดขนาดไหนถึงต้องพบแพทย์
ด้านพญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า เด็กทุกคนที่เล่นเกมจะมีโอกาสติดเกม สถาบันฯได้ร่วมกับรพ.รามาธิบดีและศิริราชพยาบาลศึกษาปัญหาติดเกมในประเทศไทยในพ.ศ.2558 พบว่า วัยรุ่นไทยมีอัตราเสพติดเกมร้อยละ 13.3 -16.6 จึงคาดว่ามีวัยรุ่นไทยติดเกมประมาณ 1.3 – 1.6 ล้านคน แนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันเด็กที่ติดเกมส่วนมากจะมีความใฝ่ฝันอยากเป็นนักกีฬาอี-สปอร์ต ซึ่งโอกาสที่จะเป็นซุปเปอร์สตาร์ในวงการนักแข่งเกมมีน้อยมากเพียง 0.00007 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
นอกจากนี้ยังพบวัยรุ่นมีแนวโน้มก่อพฤติกรรมรุนแรงจากการเลียนแบบเกมที่เล่น และยังมีพฤติกรรมเสี่ยงเข้าถึงเกมพนันในหมู่วัยรุ่นอายุ15-24 ปี เป็นนักพนันหน้าใหม่ร้อยละ 0.6 ด้วย
อาการที่แสดงว่าเด็กกำลังเกิดปัญหาติดเกมที่ผู้ปกครองต้องพาไปพบจิตแพทย์โดยด่วน ได้แก่ เด็กใช้เวลาหมกมุ่นอย่างมากกับการเล่นเกม อินเตอร์เน็ต จนเกิดการกระหายโอกาสในการเข้าถึง เด็กใช้เวลาเล่นนานกว่า 2 ชั่วโมงและมีอาการถอนคือ อาการหงุดหงิด กระ วนกระวาย อาละวาดเมื่อบอกให้หยุดเล่นเกม เด็กอาจมีอาการแตกต่างกันเช่นบางคนแค่หงุดหงิด บางคนรุนแรงทำลายข้าวของ ทำร้ายพ่อแม่ ทำร้ายตัวเอง ขาดสมาธิการเรียน โดดเรียน ไม่ยอมไปโรงเรียน บางคนอดนอน ขโมยเงิน ท้อแท้สิ้นหวังในโลกความเป็นจริง
หากพ่อแม่ต้องการขอรับคำปรึกษาการเลี้ยงลูกวัยรุ่น สามารถโทรที่สายด่วน 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมงได้เช่นกัน
ที่มา ThaiPBS
บทความที่น่าสนใจ
สัญญาณอันตรายที่บอกว่า “ลูกติดเกม”
อย่าให้ลูกต้องพูด “พ่อแม่ไม่รักหนู” เพราะมือถือที่พวกเราก้มหน้าก้มตาเล่น