การเลือกอาหารสำหรับลูกน้อย 6-8 เดือน นอกจากนมแม่แล้ว ลูกควรได้รับโภชนาการอื่น ๆ เพิ่มเติมผ่านอาหารหลัก 1-2 มื้อได้ในแต่ละวัน ซึ่งสามารถใช้วิธีทำแบบตุ๋น ต้ม และนำมาบดให้ลูกได้กิน โดยมีขั้นตอนได้แก่
1.การเตรียมคาร์โบเดรต ซึ่งก็คือการนำข้าวสวย 1 ช้อนโต๊ะหรือ 3 ช้อนชามาต้มกับแกงจืดหรือซุปประมาณครึ่งถ้วยตวง หรือใช้ข้าวตุ๋นข้นปานกลาง 1 ช้อนโต๊ะผสมกับน้ำแกงจืดหรือซุป 8 ช้อนกินข้าว หรือนำปลายข้าว 1 ช้อนกินข้าวมาต้มกับน้ำแกงจืดหรือน้ำซุปประมาณ 10 เท่า ซึ่งจะเหลือปริมาณ 4 ใน 5 ส่วนเมื่อเสร็จแล้ว
2.เพิ่มคุณค่าอาหาร ด้วยการใส่ผักใบเขียว ที่เคี้ยวง่าย กลืนง่าย ไม่ฉุน ผสมกับโปรตีนอย่างเนื้อสัตว์ หรือไข่แดง ตับไก่ เต้าหู้อ่อน หมุนเวียนสลับกันไป และเหยาะน้ำมันพืชเล็กน้อยประมาณครึ่งช้อนชาลงในอาหารที่ปรุงเสร็จเพื่อช่วยในการดูดซึมวิตามินที่ละลายในไขมันและเพิ่มความเข้มข้นของพลังงานที่จะได้รับ
วันนี้ดิเอเชี่ยนพาเร้นท์มีสูตรอาหารสำหรับลูกน้อย 6-8 เดือน ที่คุณแม่ลงมือทำได้ง่าย ๆ มาฝากค่ะ
เมนูอร่อย “ข้าวบดเนื้อไก่กับผักตำลึง”
ส่วนผสม
ข้าวสวย 2 ช้อนโต๊ะ (หรือปลายข้าว หรือข้าวสาร 1 ช้อนโต๊ะ)
เนื้อไก่บดละเอียด 1 ช้อนโต๊ะ
ผักตำลึงสับละเอียด 1 ช้อนโต๊ะ
น้ำมันเล็กน้อย
วิธีปรุง
1.ต้มข้าวสวยหรือข้าวที่เตรียมไว้และผักตำลึงด้วยไฟปานกลาง ต้มจนข้าวและผักตำลึงสุกนิ่ม จากนั้นใส่เนื้อไก่
ลงไปคนให้สม่ำเสมอ จนเนื้อไก่สุกดี ใส่น้ำมันเล็กน้อยคนให้เข้ากัน
2.นำข้าวต้มที่ได้มาบดด้วยหลังช้อนให้ละเอียด
คุณแม่สามารถใช้วิธีทำที่คล้ายกันนี้แต่สลับสับเปลี่ยนหรือเพิ่มวัตถุดิบ เช่น เมนูข้าวบดไข่แดง-ตำลึง หรือเมนูข้าวบด ตับไก่-เต้าหู้ ฯลฯ ได้นะคะ
ข้อน่ารู้การเตรียมอาหารสำหรับลูกน้อย 6 เดือน
- หากคุณแม่เตรียมอาหารให้ลูกในมื้อต่อ ๆ ไป สำหรับข้าวที่บดละเอียดสามารถนำไปเก็บในช่องแช่แข็งในตู้เย็นได้ประมาณ 2 สัปดาห์ ก่อนป้อนให้นำมาอุ่นร้อนในหม้อหรือไมโครเวฟ
- สามารถเพิ่มรสชาติให้อาหารโดยใส่ซอสถั่วเหลืองเล็กน้อย เพื่อให้ลูกได้ลิ้มลองรสชาติใหม่ ๆ แต่การเพิ่มเนื้อไก่หรือผักลงไปในข้าว ลูกก็จะได้รสชาติจากความหวานของเนื้อและผักตามธรรมชาติอยู่แล้ว
ที่มา : www.manager.co.th
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
สิ่งเล็ก ๆ ที่ผู้ใหญ่มองข้าม เพราะอะไรลูกกินเท่าไหร่ก็ไม่อ้วน
อาหารเสริมมื้อแรกของลูกเริ่มต้นอย่างไรดีนะ