อาการแพ้ท้อง เป็นอย่างไร เริ่มแพ้ท้องสัปดาห์ที่เท่าไหร่ เตรียมตัวอย่างไรไม่ให้แพ้ท้องมาก

อาการแพ้ท้อง คืออะไร มีลักษณะอาการแบบไหนบ้าง เวลาตั้งท้องจะรู้สึกว่าแพ้ท้องเมื่อไหร่ ถ้าแพ้ท้องหนักมากควรทำอย่างไร ลองมาดูวิธีลดอาการแพ้ท้องกันค่ะ

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

อาการแพ้ท้อง เป็นอาการที่เกิดขึ้นกับหญิงตั้งครรภ์เป็นปกติ การแพ้ท้องจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ เหนื่อยง่าย และอ่อนเพลียมากกว่าปกติ โดยจะเริ่มแสดงอาการมากขึ้น เมื่ออายุครรภ์เข้าสู่เดือนที่ 3

อาการแพ้ท้อง มีสาเหตุมาจากอะไรนั้น ในปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าอาจเป็นผลมาจากร่างกายมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน และฮอร์โมนเอชซีจี (HCG – Human chorionic gonadotropin) ที่สูงขึ้น จากการทำงานของรก

คนท้องส่วนใหญ่จะรู้สึกแพ้ท้องมาก หลังจากตื่นนอนตอนเช้า และจะยิ่งเป็นหนักขึ้น ถ้าหากท้องว่างมากเป็นพิเศษ แม่ท้องแต่ละคนมีอาการแพ้ท้องที่แตกต่างกัน บางคนรู้สึกพะอืดพะอม บางคนอาเจียนร่วมด้วย ในขณะที่บางคนถึงกับทานอาหารไม่ได้ จนร่างกายโทรม ตาลึกโบ๋ ปากแห้ง ปัสสาวะน้อย และมีสีเข้ม ในกรณีนี้ควรพบแพทย์โดยด่วน

อาการแพ้ท้องเป็นอย่างไร

1. รู้สึกอยากอาเจียน

คุณแม่จะรู้สึกอึดอัดท้อง และหน้าอกมาก จนต้องอาเจียนออกมา ยิ่งตอนท้องว่าง ถึงแม้จะอยากอาเจียน แต่กลับไม่มีอะไรออกมา คุณแม่จะรู้สึกทรมานมาก บางคนถึงกับต้องยอมกิน ทั้งที่ไม่อยากกิน เพราะหากไม่มีอะไรตกถึงท้อง ก็จะรู้สึกคลื่นไส้อยู่ตลอดเวลา

2. เหม็นไปหมด

อาการนี้เกิดขึ้น เนื่องจากระบบประสาทอัตโนมัติไม่มั่นคง ทำให้คุณแม่อาจรู้สึกไม่สบายในทันที เมื่อได้กลิ่นบางอย่าง เช่น แม่ท้องบางคนเหม็นกลิ่นอาหาร เช่น เนื้อ กระเทียม กาแฟ กลิ่นน้ำหอมที่เคยชอบ กลับไม่ชอบ บางทีก็รู้สึกเหม็นกลิ่นคุณพ่อ แต่บางทีก็รู้สึกหอมมากกับบางสิ่ง เช่น กลิ่นหุงข้าว กลิ่นไอน้ำจากของต้ม เป็นต้น

3. เหนื่อยง่าย

รู้สึกเหน็ดเหนื่อย อยากนอนหลับตลอดเวลา เนื่องจากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่สูงขึ้น มีผลทำให้กล้ามเนื้อในร่างกายคลายตัว เป็นเหมือนยากล่อมประสาท อีกทั้งภายในร่างกายมีการเผาไหม้อาหารสำหรับทารกตัวน้อยมากขึ้น ทำให้ร่างกายมีอุณหภูมิสูง และสูญเสียพลังงานมาก ถ้าคุณแม่ได้พักผ่อน ก็จะรู้สึกสบายขึ้น

4. อยากกินอะไรแปลก ๆ

บางครั้งคุณแม่อาจอยากกินอาหารแปลก ๆ เช่น อาหารที่มีรสเปรี้ยวอย่างมะม่วง มะกอก มะดัน ฯลฯ หรือจู่ ๆ ก็ไม่สามารถกินของที่ตัวเองเคยชอบได้ และบางครั้งก็อยากกินของที่เคยไม่ชอบอย่างมาก บางคนไม่อยากกินอะไรเลยก็มี ซึ่งอาจเป็นเพราะมีอาการขมเฝื่อนในปาก ทำให้กินอาหารไม่อร่อย

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

5. ปวดแสบลิ้นปี่

ในช่วงที่คุณแม่มีอาการแพ้ท้อง และอาเจียนบ่อย ๆ อาจมีอาการปวดแสบบริเวณลิ้นปี่เกิดขึ้นได้ เพราะน้ำย่อยที่อาเจียนออกมา ทำให้รู้สึกแสบบริเวณหลอดอาหาร และคุณแม่อาจมีความรู้สึกขมที่ลิ้น รู้สึกเจ็บปวดในอก และลามไปจนถึงคอ จนเป็นสาเหตุทำให้เจ็บคอ และไอเรื้อรัง นอกจากนี้อาการปวดแสบลิ้นปี่ยังอาจเกิดจากการที่ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้กล้ามเนื้อเรียบคลายตัว ทำให้กล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารได้รับผลกระทบ จึงอาจมีน้ำย่อยไหลย้อนขึ้นมาที่หลอดอาหาร ทำให้รู้สึกระคาย และปวดแสบที่บริเวณลิ้นปี่ได้

6. อารมณ์แปรปรวน

รู้สึกหงุดหงิด และปวดศีรษะบ่อยขึ้น แต่ไม่รุนแรงมากนัก

7. ง่วงนอนตลอดเวลา

คุณแม่บางคนอาจจะรู้สึกว่าร่างกายเหนื่อยล้า นอนเท่าไรก็ไม่เต็มอิ่มเสียที

อาการแพ้ท้องเริ่มต้นในสัปดาห์ที่เท่าไหร่

อาการแพ้ท้องจะเริ่มพบในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ หรือประมาณสัปดาห์ที่ 6 บางคนอาจจะรู้สึกเร็ว หรือช้ากว่านั้น ช่วงสัปดาห์ที่ 12 - 16  ของการตั้งครรภ์ก็ได้ โดยส่วนใหญ่แล้ว คุณแม่จะรู้สึกแพ้ท้องหนักที่สุดในช่วงสัปดาห์ที่ 8 - 9 ในขณะที่บางคนไม่มีอาการใด ๆ เลยก็มี

อาการแพ้ท้องบรรเทาได้อย่างไร

1. ดื่มน้ำมาก ๆ

ในช่วงเวลาของการตั้งครรภ์ แม่ท้องควรดื่มน้ำมาก ๆ เท่าที่จะมากได้ เพราะว่าการดื่มน้ำนั้น สามารถบรรเทาอาการแพ้ท้องได้ในระดับหนึ่ง ควรดื่มน้ำเปล่า หรือน้ำผลไม้ ก่อน และหลังรับประทานอาหารประมาณ 30 นาที แต่ไม่ควรดื่มร่วมกับการรับประทานอาหาร หรือหลังอาหารทันที

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

2. ไม่ควรปล่อยให้ท้องว่าง

คุณแม่อาจจะนำขนมจำพวกถั่ว ขนมที่ทำจากถั่วเหลืองติดตัวไว้ และทานไปเรื่อย ๆ จะช่วยบรรเทาอาการคลื่นเหียนอาเจียนได้

3. พักผ่อนให้เพียงพอ

การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ จะทำให้คุณแม่มีอาการแพ้ท้อง รู้สึกเวียนหัว และคลื่นไส้ แม่ท้องควรเข้านอนตั้งแต่หัวค่ำ เพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อนอย่างเต็มที่

4. หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด

พยายามหลีกเลี่ยงสถานที่ที่แออัด อากาศไม่ถ่ายเท อากาศร้อน เพราะจะทำให้คุณแม่เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียนได้ง่าย ถ้าต้องออกไปข้างนอก ก็อาจจะพกร่ม พัด ยาดม หรือลูกอมติดตัวเอาไว้ และหลีกเลี่ยงแดดจัดจะดีกว่า

5. หลีกเลี่ยงอาหารมัน ทอด และรสจัด

อาหารที่มีรสจัดเกินไป ไขมันสูง มีกรดสูง อาหารทอด อาจไปกระตุ้นระบบการย่อยอาหารให้ผิดปกติ และทำให้รู้สึกอยากอาเจียนได้ง่ายขึ้น แม่ท้องควรเปลี่ยนมาเป็นการรับประทานอาหารที่อุดมด้วยโปรตีนสูง และวิตามินบี 6 ที่จะช่วยบรรเทาอาการแพ้ท้องให้น้อยลง

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

6. เลือกทานอาหารที่มีประโยชน์

โดยเน้น วิตามินบี 6 แร่ธาตุสังกะสี ซึ่งพบมากในอาหารประเภทผลิตภัณฑ์นม เนื้อสัตว์ ตับ ไข่ ปลา สัตว์น้ำประเภทมีเปลือก พืชประเภทถั่ว ข้าวโพด ผลไม้ ผักสด และอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง เช่น ขนมปัง หรือขนมปังกรอบ เป็นต้น

7. พยายามอย่าเครียด

คุณแม่ควรหาเวลาผ่อนคลาย อาจจะนอนแช่น้ำอุ่นในอ่าง หรือนอนนิ่ง ๆ ฟังเพลงสบาย ๆ เปิดใจพูดคุยกับสามีถึงเรื่องที่คุณกังวล หรือลองหากิจกรรมทำเพลิน ๆ เช่น อ่านหนังสือ ดูโทรทัศน์ เล่นเกม ปลูกต้นไม้ เป็นต้น

8. สวมเสื้อผ้าที่สบายตัว

ความรู้สึกไม่สบายตัว ก็อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คุณแม่รู้สึกอยากจะอาเจียน วิงเวียน หรืออึดอัด ดังนั้น คุณแม่ควรเลือกสวมใส่เสื้อที่สบาย เนื้อผ้าระบายอากาศได้ดี ก็จะช่วยให้รู้สึกดีมากยิ่งขึ้น

การแพ้ท้องอาจเป็นสัญญาณของสุขภาพครรภ์ที่ดี

แม้ว่าอาการแพ้ท้องจะถือเป็นเรื่องปกติของแม่ท้อง แต่บางครั้งความรู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะก็อาจทำให้กังวลได้เกี่ยวกับสุขภาพครรภ์ได้ แต่งานวิจัยชิ้นนี้จะทำให้แม่ท้องผ่อนคลายมากขึ้น เพราะการแพ้ท้องในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์นั้น อาจหมายถึงสุขภาพครรภ์ที่ดี และมีความเสี่ยงในการแท้งน้อย เพราะร่างกายกำลังสร้างฮอร์โมนที่จำเป็นต่อการตั้งครรภ์ จึงทำให้เกิดอาการแพ้ท้องนั่นเอง

หลังการปฏิสนธิที่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ ไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิเป็นตัวอ่อน จะเคลื่อนที่ไปฝังตัวเข้ากับผนังมดลูก ร่างกายของแม่ก็จะเริ่มสร้างฮอร์โมนเอชซีจี (HCG – Human chorionic gonadotropin) หรือฮอร์โมนตั้งครรภ์ ซึ่งคาดว่าการเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนเอชซีจี (HCG) นี้ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการแพ้ท้อง ยิ่งร่างกายสร้างฮอร์โมนตั้งครรภ์นี้มากขึ้นเท่าไหร่ แม่ท้องก็อาจจะแพ้ท้องหนักมากขึ้น สังเกตได้จากแม่ที่ตั้งครรภ์แฝด อาจจะมีอาการแพ้ท้องมากกว่า เนื่องจากการเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณของฮอร์โมนเอชซีจี

เช่นเดียวกันกับฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการสืบพันธุ์ การเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนชนิดนี้ ก็อาจทำให้เกิดการแพ้ท้องได้เช่นกัน

นอกจากนี้การแพ้ท้องอาจเป็นสัญญาณจากการทำงานของรกได้อีกด้วย

สำหรับแม่ท้องหลาย ๆ คน การแพ้ท้องคงจะเป็นสัญญาณที่บอกว่าการตั้งครรภ์ได้เร่ิมต้นขึ้นแล้ว แต่ว่าที่คุณแม่ที่ไม่มีอาการวิงเวียน คลื่นไส้อาเจียน หรือแพ้ท้องใด ๆ ก็อย่าเพิ่งตกใจไป เพราะยังมีคุณแม่อีกหลายคน ที่มีสุขภาพครรภ์ที่ดี แต่ไม่เคยแพ้ท้องเลย การฝากครรภ์ และพบแพทย์เป็นประจำ จะทำให้แม่คลายความกังวลใจได้

ที่มา: medthai , mayoclinic

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

ตรวจครรภ์ตอนเช้าหรือตอนเย็น และทุกข้อสงสัยเรื่องการตรวจครรภ์

10 อาการคนท้องหลังคลอด แม่ผ่าคลอด-แม่คลอดลูกเอง ต้องเจอกับอะไรบ้าง

13 วิธีแก้อาการแพ้ท้อง คนท้องต้องรับมือยังไง ให้ได้ผลชัวร์!

บทความโดย

Khunsiri