อาการป่วยของลูกในหน้าหนาว
ลมหนามใกล้เข้ามาทุกที ช่วงหน้าหนาวนี้เด็กๆมักจะเจอกับปัญหาสุขภาพมากมาย เนื่องจากเจ้าตัวน้อยนั้นมีผิวอันบอบบาง มีช่องทางเดินหายใจขนาดเล็ก และภูมิคุ้มกันต่างๆยังน้อยอยู่ ช่วงนี้คุณพ่อคุณแม่จึงควรดูแลเอาใจใส่ลูกน้อยเป็นพิเศษ อาการป่วยของลูกในหน้าหนาว มีอะไรบ้าง ไปติดตามกันเลยครับ
ไข้หวัด
โดยทั่วไปแล้วอาการเริ่มต้นของไข้หวัด มักจะมีไข้นำมาก่อน แต่สำหรับเด็กบางคนก็อาจจะไม่มีไข้เลย หรือมีไข้ต่ำๆ และมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ปวดหัว ไอ จาม กินอาหารไม่ค่อยได้
สำหรับอาการไข้หวัดใหญ่นั้นเด็กมักจะมีไข้สูง และมีอาการปวดกล้ามเนื้อร่วมอยู่ด้วยครับ
หากลูกน้อยของคุณมีอาการของไข้หวัดใหญ่แล้ว อาการจะรุนแรงและอาจมีภาวะปอดอักเสบแทรกซ้อนได้บ่อยกว่าไข้หวัดธรรมดาครับ
ซึ่งการป้องกันที่ดีที่สุดคือควรให้ลูกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ นอนพักผ่อนอย่างพียงพอ รักษาร่างกายของลูกน้อยให้อบอุ่นอยู่เสมอ ที่สำคัญ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรสูบบุหรี่นะครับ ถ้ามีผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัดอยู่ในบ้านก็ไม่ควรให้คนป่วยอยู่ใกล้ชิดกับเด็ก เพราะอาจนำไปสู่การติดต่อได้นั่นเอง
โรคอุจจาระร่วง
โรคอุจจาระร่วงในฤดูหนาวส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสโรตา พบได้บ่อยในเด็กเล็ก ซึ่งติดต่อโดยการดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารที่มีเชื้อไวรัสนี้ปนเปื้อน อีกทั้งยังสามารถติดต่อทางน้ำมูก น้ำลายได้อีกด้วย
โดยทั่วไปอาการของโรคจะไม่รุนแรง โดยผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการคล้ายไข้หวัด คือมีไข้ อาเจียน และถ่ายอุจจาระเป็นน้ำ แต่ในเด็กบางคนก็อาจมีอาการรุนแรงโดยเฉพาะเด็กเล็กที่มีปริมาณน้ำในร่างกายน้อย ก็อาจเกิดการขาดน้ำรุนแรงจนทำให้ช็อคได้
หากพบว่าลูกน้อยของคุณมีอาการของโรคอุจจาระร่วง ควรพาลูกน้อยไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างถูกวิธีครับ
โรคอีสุกอีใส
อาการของโรคอีสุกอีใสนั้น เด็กที่ป่วยจะเริ่มมีไข้ต่ำ ๆ ต่อมาจะมีผื่นขึ้นที่หนังศีรษะ ใบหน้า และตามลำตัว โดยจะเริ่มเป็นผื่นแดง ตุ่มนูน แล้วเปลี่ยนเป็นตุ่มน้ำ(ตุ่มใส) ในวันที่ 2-3 นับตั้งแต่เริ่มมีไข้ หลังจากนั้นตุ่มจะเป็นหนอง(ตุ่มสุก) แล้วจะเริ่มแห้งตกสะเก็ด โดยทั่วไปแล้วโรคนี้มักหายได้เอง แต่สำหรับผู้ป่วยบางรายก็อาจมีอาการแทรกซ้อนทางสมอง หรืออาการปอดอักเสบได้
เด็กที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำและป่วยเป็นโรคสุกใสต้องไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา และสำหรับเด็กนักเรียนควรให้หยุดเรียนประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อพักรักษาตัวและป้องกันการแพร่เชื้อไปยังเด็กคนอื่นๆครับ
ผิวแห้งแตก
ฤดูหนาว เป็นช่วงที่ความชื้นในอากาศลดลง อีกทั้งอากาศที่หนาวเย็นยังอาจทำให้น้ำระเหยจากผิวหนังจนเสียความชุ่มชื้นได้ง่าย โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่ผิวมักจะแห้งจนเกิดผื่นคันได้ง่าย
ในช่วงหน้าหนาวนี้ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรให้ลูกอาบน้ำที่ร้อนเกินไป หรือให้ลูกแช่น้ำนานๆนะครับ เพราะจะทำให้ไขมันตามธรรมชาติที่เคลือบผิวหนังอยู่หลุดลอกออกไป ถ้าผิวของลูกน้อยแห้งมากๆ คุณพ่อคุณแม่อาจจะใช้ครีมบำรุงผิวสำหรับเด็กที่มีน้ำมันเป็นส่วนประกอบทาผิวลูกน้อย ก็จะช่วยทำให้ผิวชุ่มชื่น และเคลือบผิวไม่ให้น้ำที่ผิวหนังระเหยไปได้ง่ายๆครับ
หากลูกมีสัญญาณหรืออาการต่างๆที่บ่งบอกว่าเค้าเริ่มจะป่วย คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรนิ่งนอนใจนะครับ เพราะทุกอาการสามารถป้องกันและรักษาได้ด้วยการดูแลเอาใจใส่จากคุณแพ่อและคุณแม่อย่างเพียงพอครับ
ที่มา si.mahidol.ac.th, nhs.uk
บทความอื่นๆที่น่าสนใจ
ภาวะสมองกระเทือนของลูกน้อยอันตรายกว่าที่คิด
ผ้าเช็ดตัว แหล่งเชื้อโรคสู่ลูกน้อยที่คุณไม่คาดคิด