การฉีดวัคซีน เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกายของเด็กๆ และผู้ใหญ่ ช่วยลดการติดเชื้อที่มีอาการร้ายแรงเป็นจำนวนมาก เช่น โรคคอตีบ โปลิโอ และวัณโรค แต่ทำไมคนในประเทศที่เจริญแล้วถึงไม่เชื่อในความปลอดภัยของการฉีดวัคซีน?
งานวิจัยโครงการความเชื่อมั่นต่อวัคซีน หรือ Vaccine Confidence Project โดยทีมวิจัยจาก London School of Hygiene and Tropical Medicine (LSHTM) ตีพิมพ์ลงในวารสาร EBioMedicine มีวัตถุประสงค์ในการหาข้อมูบเชิงลึกว่าทำไมถึงมีกลุ่มคนที่ไม่มั่นใจในการฉีดวัคซีน
ใครบ้างที่คิดว่าวัคซีนไม่ปลอดภัย
กลุ่มตัวอย่าง 66,000 คน จาก 67 ประเทศทั่วโลกที่คิดว่าวัคซีนไม่ปลอดภัย หรือมีทัศนคติเชิงลบต่อการฉีดวัคซีน มีจำนวนดังนี้ค่ะ
- ประชาชนจากประเทศฝรั่งเศสถึง 41% (ซึ่งเป็น 3 เท่าของค่าเฉลี่ยจากคนทั่วโลกที่อยู่ที่ 12%) ไม่เชื่อว่าการฉีดวัคซีนปลอดภัย
- ตามมาด้วยประชาชนจากประเทศบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา 36%
- ประชาชนจากประเทศรัสเซีย 28%
- ประชาชนจากประเทศมองโกเลีย 27%
- ประชาชนจากประเทศกรีซ ญี่ปุ่น และยูเครน อยู่ที่ 25% เท่ากันค่ะ
ส่วนประเทศที่เชื่อมั่นต่อการฉีดวัคซีนว่าปลอดภัยมากที่สุด จะเป็นประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เรานี้เอง
- ประชาชนในประเทศบังคลาเทศ ซาอุดิอารเบีย และอาร์เจนตินา 1%
- ประชาชนในประเทศอินโดนีเซีย 3%
- และประชาชนในประเทศไทย 6% เท่านั้นที่ไม่เชื่อว่าวัคซีนปลอดภัย
นั่นหมายความว่าคนส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้เชื่อมั่นต่อความปลอดภัยของวัคซีนค่ะ
หากแบ่งเป็นทวีปแล้ว ภูมิภาคยุโรปมีคนจำนวน 15.8% เทียบกับภูมิภาคเอเชียมีคนเพียง 4.4% ที่คิดว่าวัคซีนไม่ปลอดภัย
เพราะอะไรถึงคิดว่าวัคซีนไม่ปลอดภัย
ในประเทศฝรั่งเศสผู้คนจำนวนที่เห็นว่าการฉีดวัคซีนนั้นไม่ปลอดภัย ถือเป็นเปอร์เซนต์ที่ค่อนข้างสูง โดยนักวิจัยคิดว่าอาจจะมาจากข้อถกเถียงเรื่องผลข้างเคียงที่น่าสงสัยจากวัคซีนไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B) และวัคซีน HPV
สำหรับในบางประเทศนั้น จะเป็นเรื่องของศาสนาที่ตั้งข้อสงสัยกับการฉีดวัคซีน อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีศาสนาไหนที่มีเปอร์เซนต์สูงกว่าศาสนาอื่นๆ และผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 65 ปีขึ้นไปจะค่อนข้างเชื่อถือความปลอดภัยของวัคซีนมากกว่าคนในกลุ่มอายุอื่นๆ ค่ะ
ถ้าไม่ฉีดวัคซีน จะเกิดอะไรขึ้น
จุดประสงค์ของการฉีดวัคซีนนั้นเพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เช่น การเป็นโรคโปลิโอ หัด เยื่อหุ้มสมองอักเสบ การฉีดวัคซีนนั้นทำให้คนที่ติดเชื้อดังกล่าวลดลงอย่างมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมานี้ ทำให้ตัวเลขของการสูญเสียชีวิตลดลงไปด้วย
สื่ออินเตอร์เน็ตก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ส่งผลกระทบอย่างมาก ในการเผยแพร่ข่าวสารเชิงลบต่อวัคซีน และยังทำได้รวดเร็วอีกด้วย ซึ่งอาจจะส่งผลเสียต่อสุขภาพของประชาชนในประเทศอื่นๆ ต่อไปได้
งานวิจัยชิ้นนี้เป็นเพียงตัวชี้วัดระดับความเชื่อมั่นในประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีน ไม่สามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับทัศนคติของประชาชนที่มีต่อวัคซีนได้อย่างละเอียด เฉพาะเจาะจง หรือสาเหตุของทัศคติเหล่านี้ได้ และหวังว่างานวิจัยชิ้นนี้จะมีประโยชน์ต่อการเปลี่ยนแปลงทัศนคติโดยรวมได้ค่ะ
ที่มา Medical News Today
บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
5 วัคซีนจำเป็น ที่ต้องพาลูกไปฉีด
พาลูกฉีดวัคซีนเรื่องไม่เล็กที่พ่อแม่ควรรู้