อะไรที่เรียกว่าปกติสำหรับทารกแรกเกิด?
ทารกแรกเกิด: ร่างกายเล็ก ปัญหาใหญ่
สภาพปกติของหัวทารกแรกเกิดเป็นอย่างไร? มาพบกับเจ้าหัวโคนตัวน้อยกันเถอะ ไม่ต้องตกใจหากกะโหลกศีรษะของลูกมีรูปร่างยาว เพราะกะโหลกของทารกแรกเกิดประกอบด้วยแผ่นกระดูกที่อ่อนนุ่มและเคลื่อนไหวได้ เพื่อให้สามารถปรับรูปร่างและผ่านช่องคลอดในระหว่างการคลอดมาได้อย่างราบรื่น หัวที่ยืดยาวของลูกจะกลับเป็นปกติภายในหนึ่งหรือสองวัน
แต่การทำงานของธรรมชาติยังไม่จบลง ยังมีอีกสองส่วนบนหัวลูกที่เรียกกันว่า “กระหม่อม” ซึ่งกระดูกยังไม่เชื่อมต่อกัน กระหม่อมส่วนหน้าที่ใหญ่กว่าและมีรูปร่างเป็นข้าวหลามตัดจะยังคงอยู่จนลูกอายุ 18 เดือน ในขณะที่กระหม่อมส่วนหลังที่มีขนาดเล็กกว่าเป็นรูปสามเหลี่ยมมักจะหายไปในระหว่าง 2 และ 6 เดือนแรก กระหม่อมส่วนหน้าควรจะแบนราบหรือกดลงไปเล็กน้อยเมื่ออุ้มลูกขึ้นตัวตรง เนื่องจากสมองก็ได้รับการปกป้องโดยเนื้อเยื่อที่แข็งแกร่งและหนา คุณจึงสามารถล้างและหวีผมอย่างเบามือรอบ ๆ บริเวณนี้ได้
ส่วนหนังศีรษะที่ฟกช้ำและบวมเป็นเรื่องปกติหลังจากการคลอดผ่านช่องคลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากต้องใช้คีมหรือการดูดออกเพื่อช่วยคลอด (การคลอดลูกก็ใช่ว่าจะราบรื่นเสมอไปนะ) คุณอาจสัมผัสส่วนที่โนออกมานุ่ม ๆ กดได้บนหัวของลูกหรือสังเกตเห็นรอยถลอกเล็ก ๆ จากการตรวจหนังศีรษะของทารก
แม้ว่าจะเป็นกรณีที่หายาก แต่ความดันจากการคลอดอาจทำให้เกิดเลือดออกที่ส่วนเหนือกระดูกของกะโหลกศีรษะได้ ภาวะนี้ทำให้เกิดเป็นก้อนขึ้นที่ส่วนหลังของด้านข้าง ข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างของกะโหลกหลังจากคลอดลูก ก้อนนี้เรียกกันว่าก้อนเลือดใต้หนังศีรษะเหตุคลอดและจะหายไปเองแต่อาจใช้เวลานับสัปดาห์
สิ่งที่ผิดปกติของกะโหลกทารกแรกเกิด
หากก้อนนุ่ม ๆ ใหญ่ ๆ นั้นบุ๋มลงไป อาการขาดน้ำ ซึ่งมักเป็นผลทั่วไปจากการอาเจียนหรือท้องร่วงอาจเป็นสาเหตุก็ได้ กระหม่อมที่บวมอาจเป็นสัญญาณบอกเหตุถึงอาการเจ็บป่วยที่น่ากังวล เช่น โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
กุมารแพทย์ของคุณจะวัดขนาดศีรษะของลูกระหว่างการตรวจสุขภาพร่างกายเพื่อให้แน่ใจว่าหัวของลูกไม่ได้มีขนาดใหญ่เกินไปหรือโตเร็วหรือช้าเกินไป
ดวงตาและผิวที่ปกติ หน้าถัดไป >>>
ดวงตาและผิวที่ปกติ
ตาของเด็กทารกเกิดใหม่
สภาพปกติเป็นอย่างไร? คุณอาจเห็นการตกเลือดเป็นจุดเล็ก ๆ แดง ๆ ที่ตาขาวของลูกเนื่องจากเส้นเลือดเล็ก ๆ ที่ตาแตกระหว่างการคลอด โดยปกติแล้วจุดแดง ๆ เหล่านี้จะหายไปเองในเวลาสองหรือสามวัน นอกจากนี้ ยาที่หมอใช้กับดวงตาของลูกตอนแรกเกิดเพื่อป้องกันการติดเชื้ออาจทำให้ตาของลูกระคายเคือง ทำให้หนังตาบวมหรือมีของเหลวไหลออกมาซึ่งจะมีอาการนี้อยู่เพียงหนึ่งหรือสองวันเท่านั้น
ทารกแรกเกิดมีสายตาที่แย่มาก ลูกจะมองเห็นภาพต่าง ๆ ได้ชัดเจนเพียงแค่ในระยะ 8 ถึง 15 นิ้วจากหน้าตัวเอง เนื่องจากคุณอยู่ในระยะที่ลูกมองได้ชัดในระหว่างที่คุณป้อนนมลูก คุณควรใช้ช่วงเวลานั้นสร้างความผูกพันกับลูกโดยคอยจ้องมองลูกไว้ อย่าได้กังวลหากบางทีลูกมองคุณกลับแต่ลูกตาเขตาเหล่หรือตาลูกมองโน่นนี่ไปมารอบ ๆ เด็กทารกเกิดใหม่อาจไม่สามารถจดจ้องอะไรได้
สิ่งที่ผิดปกติของตาเด็กแรกเกิด พาลูกไปพบกุมารแพทย์หากคุณสังเกตเห็นลูกมีน้ำตาไหลนานเกินกว่าสองวันหรือมีน้ำตาไหลออกมาในระยะเวลาไม่นานหลังจากที่คุณเช็ดออกไป ลูกมีน้ำตาไหลมาก มีกระจกตาขุ่น รูม่านตามีสีออกขาว ๆ เปลือกตาห้อยลงมาหรือปิดไม่สนิท รูม่านตามีขนาดไม่เท่ากัน หรือมีภาวะที่ตาสองข้างไม่ได้มองไปทางเดียวกันตลอดเวลา
ผิวของลูก
สภาพปกติเป็นอย่างไร? การไหลเวียนโลหิตของลูกยังไม่เจริญเติบโตเต็มที่ทำให้ผิวของลูกเป็นจ้ำมีรอยไม่สม่ำเสมอหากลูกหนาวหรือทำให้มือและเท้าเย็น มีผิวสีออกฟ้า ๆ ในช่วงเช้าของวันสองวันแรก เด็กทารกเกิดมาที่มีสุขภาพดีร้อยละ 60 มีอาการตัวเหลืองซึ่งมาจากบิลิรูบิน เม็ดสีที่สร้างขึ้นโดยเซลล์เม็ดเลือดแดง แต่ตับที่ยังไม่เจริญเต็มที่ของทารกแรกเกิดยังไม่สามารถขจัดออกไปได้ทั้งหมด โดยทั่วไปแล้วอาการตัวเหลืองจะมีมากที่สุดระหว่างช่วงสามถึงห้าวันหลังคลอดและจะหายไปเองภายในหนึ่งสัปดาห์ บางทีอาจจำเป็นต้องได้รับการรักษา
สภาพผิวที่ผิดปกติ ใบหน้าและริมฝีปากของลูกอาจเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินชั่วครู่เมื่อร้องไห้หนัก ๆ แต่หากผิว ริมฝีปากหรือลิ้นมีสีน้ำเงินบ่อย มาก ๆ เข้า เรียกกันว่า ภาวะเขียวคล้ำเนื่องจากการขาดออกซิเจน อาจเกิดมาจากความผิดปกติของหัวใจ ปัญหาการหายใจ หรืออาการเจ็บป่วยอื่น ๆ ที่ต้องได้รับการรักษาจากแพทย์โดยทันที
ในขณะที่อาการตัวเหลืองเล็กน้อยเป็นเรื่องที่ไม่ก่อให้เกิดอันตราย แต่หากมีปริมาณบิลิรูบินสูงมาก ๆ อาจทำให้เกิดอาการตัวเหลืองมากเกินไปซึ่งเป็นอาการสมองเสียหายแบบหนึ่งที่ทำให้เกิดสมองพิการ สูญเสียการได้ยิน และแม้กระทั่งทำให้เสียชีวิตได้ ปัจจัยเสี่ยงประกอบด้วยการคลอดก่อนกำหนด การเป็นผู้มีเชื้อสายเอเชียตะวันออกหรือเมดิเตอร์เรเนียน มีพี่น้องที่มีภาวะตัวเหลืองมากเกินไป มีพัฒนาการตัวเหลืองตั้งแต่วันแรกของการคลอด ได้รับรอยฟกช้ำตอนเกิด และไม่ได้รับนมมากเพียงพอ
ทารกที่มีความเสี่ยงมากจะได้รับการติดตามดูแลอย่างระมัดระวังในโรงพยาบาลและหลังจากออกจากโรงพยาบาลแล้ว ทารกอาจได้รับการรักษาเพื่อป้องกันภาวะตัวเหลืองมากเกินไปได้
อวัยวะเพศและสายสะดือที่ปกติ หน้าถัดไป >>>
อวัยวะเพศและสายสะดือที่ปกติ
หน้าอกและอวัยวะเพศของทารก
สภาพปกติเป็นอย่างไร? เมื่อเกิดมา หน้าอกของทารกอาจมีขนาดแตกต่างกัน ระดับการโตก็ต่างกันในแต่ละคน เนื่องมาจากฮอร์โมนการตั้งครรภ์และสิ่งนี้ก็ไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ ขนาดหน้าอกจะลดลงในช่วงสัปดาห์แรก ๆ ในขณะที่ตั้งแต่คลอดออกมา ระดับฮอร์โมนการตั้งครรภ์ของแม่ที่ลดลงอาจทำให้แคมนอกของเด็กหญิงบวมชั่วคราวหรือทำให้มีของเหลวหรือมีเลือดไหลออกมาจากช่องคลอดเด็กทารกหญิงในช่วงสองสามวันแรก ในขณะที่ปัญหาแคมบวมของเด็กหญิงจะหายไปเองอย่างรวดเร็ว ปัญหาที่ถุงอัณฑะข้างใดข้างหนึ่งของเด็กชายใหญ่ผิดปกติอาจยังคงอยู่ไปเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน ๆ เนื่องจากของเหลวปริมาณเล็กน้อยที่อยู่รอบ ๆ อัณฑะ หากเด็กชายได้รับการตัดหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศไปแล้ว ส่วนหัวของอวัยวะเพศอาจระคายเคือง มีสีขาวหรือออกเหลือง ๆ ตามจุดต่าง ๆ จนกว่าแผลจะหายดี เมื่อลูกปัสสาวะ น้ำที่พุ่งออกมาควรมีความแรงระดับหนึ่ง
สิ่งที่ผิดปกติ เด็กทารกชายที่คลอดในเวลาที่ครบกำหนดร้อยละ 3 เกิดมาโดยที่มีอัณฑะข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างยังไม่อยู่ในถุงอัณฑะ เด็กทารกชายที่คลอดก่อนกำหนดร้อยละ 30 มีปัญหานี้ อัณฑะที่ยังไม่หล่นลงไปในถุงอัณฑะจะย้ายลงไปในถุงอัณฑะเองได้ในช่วงเดือนแรก ๆ หลังคลอด หากภายในเวลาหนึ่งปีแล้วอัณฑะยังไม่หล่นลงไปในถุงอัณฑะ การรักษาด้วยฮอร์โมนหรือการผ่าตัดจะช่วยให้อัณฑะลงไปอยู่ในถุงอัณฑะได้
สายสะดือของทารก
สภาพปกติเป็นอย่างไร? สายสะดือมีสีขาว โปร่งแสง และเป็นมันวาวเมื่อถูกตัดและหนีบหลังจากการคลอด ส่วนที่เหลือมักจะแห้งและหลุดออกมาในระหว่างหนึ่งถึงสามสัปดาห์แรก ในโรงพยาบาล แพทย์อาจใช้สีย้อมที่ทำให้ส่วนที่เหลืออยู่แห้งและยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย หรือบอกกับคุณพ่อคุณแม่ให้เช็ดสายสะดือด้วยแอลกอฮอล์เมื่อสวมผ้าอ้อมให้ลูกที่บ้าน แพทย์คนอื่น ๆ อาจแนะนำให้ใช้วิธีทำให้สายสะดือแห้ง โดยทำความสะอาดส่วนสายสะดือด้วยสบู่และน้ำเมื่อสกปรกแล้วปล่อยให้แห้ง เมื่อใช้วิธีการทั้งสองวิธีนี้อย่างใดอย่างหนึ่ง ขอให้อาบน้ำให้ลูกด้วยฟองน้ำจนสายสะดือส่วนที่เหลือหลุดออกมา
สิ่งที่ผิดปกติ สัญญาณการติดเชื้อมีตั้งแต่หนองที่สะสมที่ฐานของสายสะดือ ผิวที่หยาบกระด้างขึ้นหรืออ่อนนุ่มลงบริเวณรอบ ๆ สายสะดือที่เหลืออยู่ ลูกร้องไห้เมื่อคุณสัมผัสถูกสายสะดือที่เหลืออยู่ (นอกจากเวลาที่โดนแอลกอฮอล์เย็น ๆ สัมผัส) หรือสายสะดือหลุดช้า ของเหลวใส ๆ เหมือนปัสสาวะที่ไหลออกมาจากสายสะดืออาจบ่งชี้ความผิดปกติเชิงโครงสร้างของบริเวณสายสะดือ นอกเหนือจากการมีหยดเลือดเป็นครั้งคราวบนผ้าอ้อม สายสะดือไม่ควรมีเลือดออกสม่ำเสมอ หลังจากที่สายสะดือส่วนที่เหลือหลุดออก จะมีตุ่มเนื้อเยื่อแผลเป็นสีชมพู ที่เรียกกันว่า ติ่งเนื้อสะดือทารก ที่มีของเหลวสีเหลือง ๆ ไหลซึมออกมา ติดต่อแพทย์หากคุณสงสัยว่ามีการติดเชื้อหรือจุดผิดปกติที่กล่าวมาข้างต้น
เท้า น้ำหนัก และสุขภาพโดยทั่วไปที่ปกติ หน้าถัดไป >>>
เท้า น้ำหนัก และสุขภาพโดยทั่วไปที่ปกติ
เท้าของทารกแรกเกิด
สภาพปกติเป็นอย่างไร? ทารกต้องขดตัวแน่นขณะอยู่ในมดลูก ดังนั้นจึงเป็นเรื่องธรรมชาติหากทารกแรกเกิดจะมีปลายเท้าจะหันเข้าหาด้านใน ปัญหานี้จะได้รับการแก้ไขเองภายในสองหรือสามเดือนเพราะทารกจะเตะเท้าไปมาอย่างอิสระ
สิ่งที่ผิดปกติ หากส่วนหน้าของเท้าโค้งเข้าหาด้านในมากเป็นพิเศษและไม่อาจยืดออกได้แม้คุณจะใช้แรงเบา ๆ คุณควรปรึกษากับกุมารศัลยแพทย์ด้านออร์โทพีดิกส์เพื่อรับการรักษาก่อนที่ลูกจะเริ่มเดิน
น้ำหนักของลูก
คุณอาจสงสัยว่าลูกได้กินนมตามที่จำเป็นหรือไม่ คำแนะนำทั่วไปคือ อย่าได้รอให้ลูกร้องไห้เพื่อบอกใบ้ว่าลูกหิว แต่คุณควรสังเกตคำใบ้ล่วงหน้าจากลูกเอง เช่น การนำมือเข้าไปในปาก การตื่นจากนอนหลับ การยืดแขนขา การขยับปากหรือลิ้น นอกจากนี้ยังมีเรื่องสำคัญอีกสองข้อด้วยกัน
– น้ำหนัก: ในช่วงสองสามวันแรก ทารกจะเสียน้ำหนักไม่เกินร้อยละ 7-10 ของน้ำหนักที่มีหลังคลอด จากนั้นลูกควรเริ่มมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างรวดเร็ว ประมาณ 450 กรัมทุก ๆ สองสัปดาห์ในช่วงสองหรือสามเดือนแรกของชีวิต จากนั้นน้ำหนักเพิ่มขึ้นช้าลง
– อุจจาระ: การขับถ่ายครั้งแรกที่เรียกกันว่า “ขี้เทา” เป็นสารที่มีสีดำเหมือนน้ำมันดินหรือมีสีเขียวเข้มมาก ๆ จะเริ่มมาภายในสองสามวันแรกหลังคลอด ขี้เทาจะเปลี่ยนสีไปเป็นสีน้ำตาลออกเขียว จากนั้นในช่วงวันที่สี่หรือห้า ทารกที่ได้ดื่มนมแม่จะเริ่มมีอุจจาระสีออกเหลือง กึ่งแข็ง หรือเป็นเม็ด ๆ แต่เด็กที่ได้ดื่มนมผงจะมีอุจจาระสีเหลืองซีดไปจนถึงเหลืองน้ำตาล น้ำตาลแทน หรือน้ำตาลเขียว และมีลักษณะเหมือนเนยถั่ว
ลูกป่วย!
ติดต่อกุมารแพทย์ทันทีหากลูกของคุณมีอายุสองเดือนหรือน้อยกว่าและมีไข้มากกว่า 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป หรือมีอาการเจ็บป่วยอื่น ๆ เช่น
– ไม่ค่อยกินนม (นอนเลยเวลากินนมหรือกินนมน้อย)
– หงุดหงิด ฉุนเฉียว หรือ ไม่ค่อยอยู่นิ่ง
– สีผิวผิดปกติ (ซีด เทา หรือ เหลือง)
– ไอหรือหายใจเร็ว หายใจไม่สะดวก
– อาเจียน เมื่ออาเจียนมาก ๆ จะอาเจียนบ่อย หรือ สิ่งที่อาเจียนออกมามีสารสีเหลืองหรือเขียวปะปนด้วย
– ท้องเสียเป็นน้ำบ่อย ๆ หรือมีเลือดในอุจจาระ
– มีผดผื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีตุ่มบวมไม่ว่าจะอยู่ในขั้นไหนก็ตาม
– การเคลื่อนไหวผิดปกติ เช่น ใบหน้าหรือแขนกระตุก
ที่มา: parents.com