เขย่าลูก อันตรายอย่างไร
วิธีเดียวที่ทารกจะสื่อสารให้คุณพ่อคุณแม่รู้ว่าหนูกำลังมีปัญหาบางอย่าง เช่น ไม่สบายตัว หิว ง่วง เปียกชื้น ปวดท้อง หรือเพียงต้องการแม่มาอยู่ใกล้ๆ คือการร้องไห้ แต่บางครั้งคุณแม่ทำทุกอย่างแล้ว เจ้าตัวน้อยก็ยังไม่หยุดร้อง จนคุณแม่เกิดอารมณ์และเผลอเขย่าทารกด้วยความรู้เท่าไหม่ถึงการณ์ แม่รู้ไหม เขย่าลูก อันตรายถึงชีวิต
บทความแนะนำ 14 วิธีปลอบลูก ช่วยทารกเลิกร้องไห้ให้ได้ผล
Shaken Baby Syndrome เป็นอาการที่เกิดจากการถูกเขย่าอย่างรุนแรง ทำให้สมองได้รับการกระทบกระเทือนจากการที่คอและศีรษะของลูกถูกแรงเหวี่ยงไปมาข้างหน้าและข้างหลังอย่างรุนแรง ในขณะที่กล้ามเนื้อคอของเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบนั้นยังไม่แข็งแรงพอที่จะประคองศีรษะได้อย่างมั่นคง ประกอบกับศีรษะทารกมีขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับขนาดลำตัว ทำให้ส่วนของสมองภายในกะโหลกศีรษะมีเนื้อที่สำหรับการถูกเขย่าไปมาได้มาก และส่วนที่จะป้องกันอันตรายจากการบาดเจ็บทางสมองมีน้อยลง
การถูกแรงเหวี่ยงที่เร็วและแรงเช่นนี้ ทำให้เส้นเลือดบริเวณเยื่อหุ้มสมองฉีกขาด มีเลือดออกภายในสมอง นอกจากนี้แรงเขย่ายังส่งผลให้เส้นเลือดในจอตาขาดได้อีกด้วย
จากสถิติพบว่า เด็กที่มีอาการ Shaken Baby Syndrome 1 ใน 3 สามารถรักษาให้หายเป็นปกติได้ ในขณะที่อีก 1 ใน 3 กลายเป็นคนพิการไปตลอดชีวิต เช่น ไร้สมรรถภาพในการเรียนรู้ ตาบอด หรือเป็นอัมพาตในสมองใหญ่ เป็นต้น และที่น่าเสียใจที่สุดคืออีก 1 ใน 3 นั้นอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต
การเขย่านั้นเป็นการใช้ความรุนแรงทางกายที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บไม่น้อยไปกว่าการทุบตี ต่างกันตรงที่บาดแผลที่สามารถมองเห็นได้ ในขณะที่การเขย่า ส่งผลให้เกิดบาดแผลที่อวัยวะภายในซึ่งมองไม่เห็น
สังเกตอาการ Shaken Baby Syndrome
หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตพบว่า เจ้าตัวน้อยมีอาการง่วงเหงา ชอบนอน หงุดหงิด อาเจียน และไม่อยากอาหาร อาจเป็นอาการที่สมองได้รับความกระทบกระเทือน ควรพาลูกไปพบคุณหมอโดยเร็วค่ะ
ชมคลิปจำลองความเสียหายของสมองจากการเขย่าลูก ด้านล่างนี้
ที่มา www.doctor.or.th
ภาพประกอบ medicalartlibrary.com
บทความที่น่าสนใจอื่นๆ
5 อย่างที่ห้ามทำกับเด็กทารกเด็ดขาด!
20 อาการปกติของทารกแรกเกิดที่ไม่น่ากังวล