ห้ามเขย่าลูก ไม่ว่าจะโกรธหรือเล่น ทารกอาจพิการหรือถึงขั้นเสียชีวิต
ห้ามเขย่าลูก ไม่ว่าจะโกรธหรือเล่น ก็อย่าเด็ดขาด! เพราะการเขย่าทารกอย่างรุนแรง จะทำให้ลูกเกิดอันตราย รุนแรงถึงขั้นพิการ หรือเสียชีวิตได้เลย
เขย่าลูกแรงๆ อันตรายแค่ไหน
การเขย่าลูกอย่างรุนแรงจะทำให้ทารกเกิดอาการ Shaken Baby Syndrome สมองได้รับการกระทบกระเทือน โดยเฉพาะเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 2 ขวบ เพราะกล้ามเนื้อคอนั้นยังไม่แข็งแรงดี เวลาจะอุ้มสักทียังต้องคอยประคอง การเชคหรือเขย่าตัวอย่างแรงจนคอและศีรษะเหวี่ยงไปเหวี่ยงมานั้น ย่อมเกิดอันตรายกับลูกอย่างแน่นอน
อย่าลืมว่า ศีรษะของทารกนั้นใหญ่เมื่อเทียบกับลำตัว ภายในสมองของลูกก็มีเนื้อที่มาก ส่วนที่ป้องกันอันตรายจากการถูกเขย่านั้นก็น้อย เมื่อคอและศีรษะถูกแรงเหวี่ยงไปมาข้างหน้า ข้างหลัง จะทำให้เส้นเลือดบริเวณเยื่อหุ้มสมองฉีกขาด จนเกิดเลือดออกในสมอง ลุกลามไปจนถึงเส้นเลือดในจอตาขาดได้ด้วย
ลูกอาจพิการหรือเสียชีวิต
ผลจากการเขย่าทารกหรือเด็กเล็กๆ นั้น จากสถิติพบว่า มากกว่า 20% ของทารกที่ป่วยด้วยสาเหตุจากการถูกเขย่านั้น ไม่สามารถรักษาได้ ต้องกลายเป็นเด็กพิการถาวร เช่น ไร้สมรรถภาพในการเรียนรู้ ตาบอด หรือเป็นอัมพาตในสมองใหญ่
ส่วน 1 ใน 3 ของทารกที่เข้ารับการรักษานั้นน่าเศร้า เพราะต้องจบชีวิตลง…
ไม่ว่าจะเป็นการเขย่าเพราะโมโห จากการร้องไห้งอแงของเด็กแรกเกิด ทารก หรือแม้แต่เขย่าเล่นสนุกๆ เพราะคิดว่า ทารกจะชอบ ก็ห้ามทำอย่างเด็ดขาด!!!
อ่าน ห้ามเขย่าลูก ไม่ว่าจะโกรธหรือเล่น ทารกอาจพิการหรือถึงขั้นเสียชีวิต ต่อหน้าถัดไป
เหวี่ยงลูกไปมาก็เป็น Shaken baby syndrome ได้นะ
ข้อมูลเพิ่มเติมจากเพจ ใกล้มิตรชิดหมอ โพสต์ไว้ว่า รายการตี 10 ได้เอาคลิปใน youtube มานำเสนอ แล้วเชิญผู้เชี่ยวชาญมาอธิบาย เป็นคลิปที่พ่อเล่นกับลูกเล็กๆ น่าจะไม่เกิน 7-8 เดือน เล่นโดยการเหวี่ยงไปมาจับบริเวณข้อมือเด็กแล้วเหวี่ยงขึ้นฟ้าแบบ 360 องศา ซึ่งทำให้เกิดอาการ Shaken baby syndrome เช่นกัน
Shaken baby syndrome กลุ่มอาการนี้เกิดในเด็กเล็กๆ ที่อายุน้อยกว่า 2 ขวบ อาจพบได้จน 5 ขวบ มีสิ่งที่เกิดร่วมกันทั้งหมด 3 อย่าง เราถึงเรียกว่า syndrome หรือกลุ่มอาการ ได้แก่ สมองบวม (cerebral edema) เลือดออกที่จอประสาทตา (retinal hemorrhage) เลือดออกใต้ชั้นเยื่อหุ้มสมอง (subdural hematoma) การเล่นโยนเด็กเหวี่ยงเด็กสูงๆ ด้วยความแรง แม้จะพบได้น้อยกว่าการตั้งใจเขย่าแต่ก็เป็นสาเหตุที่พบได้
เนื่องจากคอเด็กเล็กๆ ยังไม่แข็งแรง กล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อต่างๆ ยังอ่อนอยู่ เวลาเกิดแรงเหวี่ยง สมองที่ยังอ่อนอยู่ในกระโหลกจะกระแทกกับกระโหลกศีรษะเกิดสมองช้ำ ตามมาด้วยสมองบวม จนเสียชีวิตได้ อีกสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นคือ เส้นเลือดที่เลี้ยงผิวสมองที่เชื่อมกับเยื่อหุ้มสมองในเด็กยังไม่แข็งแรงเส้นเลือดยังเปราะอยู่ เมื่อเกิดการเขย่ากระโหลกศีรษะกับเนื้อสมองเคลื่อนที่ไม่พร้อมกัน เมื่อหยุดเขย่าจะมีแรงเฉื่อยอยู่แรงนี้จะดึงให้เส้นเลือดที่เชื่อมอยู่นี้ฉีกขาด มีเลือดซึมออกมาและเซาะเยื่อหุ้มสมองถ้าปริมาณมากขึ้นเกิดความดันในสมองสูงกดศูนย์การหายใจ ก็เสียชีวิตได้ ซึ่งลักษณะของเลือดออกที่จอประสาทตาก็อธิบายด้วยกลไกแบบเดียวกันเลือดที่ออกมาที่จอประสาทตาจะเซาะจนทำให้จอประสาทตาลอกและตาบอดในที่สุด
สังเกตยังไงว่าลูกมีอาการ Shaken baby syndrome
- เซื่องซึม ง่วง นอนตลอด
- หงุดหงิด ร้องโยเยจนผิดสังเกต
- ไม่ยอมกินนม กินนมได้น้อย
- อาเจียนบ่อยๆ
หากลูกเล็กอายุไม่เกิน 1 ขวบครึ่ง กระหม่อมยังไม่ปิด ถ้าลูบแล้วบวมหรือนูนผิดปกติ ต้องพาไปโรงพยาบาลทันที
วิธีที่ดีที่สุดคือการป้องกัน พ่อแม่ต้องใส่ใจ ไม่เขย่าลูก หรือเหวี่ยงไปมาแรงๆ เพื่อป้องกันอาการ Shaken baby syndrome รวมทั้งคอยสังเกตอาการของลูกให้ดี ถ้ามีอาการผิดปกติต้องรีบพาไปพบแพทย์
ที่มา : ใกล้มิตรชิดหมอ และ มูลนิธิหมอชาวบ้าน
เครดิตภาพ : braininjurygroupfoundation.sharepoint.com, radiologyassistant.nl และ natural-health-news.com
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
4 อย่าง ที่ห้ามทำเด็ดขาดกับเด็กแรกเกิด
รักลูกอย่านิ่งนอนใจ ระวังอันตรายใกล้ตัวคร่าชีวิตลูก