หมอนัดตรวจครรภ์บ่อยแค่ไหน เดือนนี้หมอนัดแล้วไม่ไปได้ไหม ไปเดือนหน้าได้ไหม

ความถี่ของการนัดตรวจครรภ์ของคุณหมอ หมอนัดตรวจครรภ์บ่อยแค่ไหน เดือนหนึ่งนัดกี่ครั้ง หมอนัดตรวจแล้วไม่ไป ไปเดือนถัดไปได้ไหม จะเป็นอะไรหรือเปล่า คุณหมอมีคำตอบ

หมอนัดตรวจครรภ์บ่อยแค่ไหน นัดแล้วไม่ไปได้ไหม

การตั้งครรภ์เป็นช่วงสำคัญของชีวิตของผู้หญิงที่กำลังจะเป็นคุณแม่ การตั้งครรภ์นำมาซึ่งความปีติยินดีและในขณะเดียวกันก็นำความเครียดมาสู่ครอบครัวด้วย คุณแม่ส่วนใหญ่จะมีความวิตกกังวลถึงการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและสรีระต่างๆ ระหว่างตั้งครรภ์ การคลอดบุตร การให้นมแม่ และความสมบูรณ์ของทารกในครรภ์ ปกติแล้ว หมอนัดตรวจครรภ์บ่อยแค่ไหน

องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้คุณแม่มาฝากครรภ์อย่างน้อย 8 ครั้ง ก่อนคลอดเพื่อการตั้งครรภ์ที่มีคุณภาพ ดังสโลแกนที่ว่า “เพื่อลูกเกิดรอด แม่ปลอดภัย” ดังนั้นการฝากครรภ์อย่างสม่ำเสมอจึงเป็นกุญแจสำคัญเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว

ในทางการแพทย์นับอายุครรภ์เป็นสัปดาห์โดยเริ่มต้นเมื่อขาดประจำเดือน สามารถแบ่งเป็นสามช่วงตามไตรมาสได้ดังนี้

  • ไตรมาสแรก สัปดาห์ที่ 1 -14
  • ไตรมาสที่สอง สัปดาห์ที่ 15-28
  • ไตรมาสที่สาม สัปดาห์ที่ 29-42

หมอตรวจอะไรในไตรมาสแรก

โดยทั่วไปแนะนำให้ฝากครรภ์เร็วที่สุดเมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ ซึ่งการมาฝากครรภ์ในแต่ละครั้ง แต่ละไตรมาสจะมีเป้าหมายในการดูแลที่แตกต่างกัน กล่าวคือ ไตรมาสแรกเน้นเรื่องการให้ความรู้เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ ขบวนการฝากครรภ์ ติดตามอาการแพ้ท้อง การตรวจเลือดคัดกรองสำหรับสตรีตั้งครรภ์ ต่างๆ เช่น ตรวจหมู่เลือด ตรวจโรคติดเชื้อ ตรวจโรคเลือดธาลัสซีเมีย เป็นต้น และยังเน้นเรื่องอาหารที่ให้รับประทาน พร้อมสารอาหารที่ต้องเสริมเพิ่มเติมโดยเฉพาะธาตุเหล็ก(วันละ 30-60 มิลลิกรัม)และธาตุโฟเลท(วันละ 400 ไมโครกรัม) ช่วงนี้สูติแพทย์จะนัดฝากครรภ์ทุก 4 สัปดาห์

หมอนัดตรวจครรภ์บ่อยแค่ไหน

หมอนัดตรวจครรภ์บ่อยแค่ไหน

หมอตรวจอะไรในไตรมาสที่สอง

ในไตรมาสที่สองเน้นการตรวจติดตามขนาดของยอดมดลูก คัดกรองเบาหวานของสตรีตั้งครรภ์(อายุครรภ์ 24-28 สัปดาห์) การสร้างภูมิคุ้มกันไข้หวัดใหญ่ บาดทะยัก การตรวจคัดกรองพันธุกรรมหรือความสมบูรณ์ของทารกในครรภ์(อายุครรภ์ 18-22 สัปดาห์) และการสอนนับลูกดิ้น ช่วงนี้สูติแพทย์ยังคงนัดฝากครรภ์ทุก 4 สัปดาห์

หมอตรวจอะไรในไตรมาสที่สาม

ในไตรมาสที่สามเน้นเรื่องการเฝ้าระวังการคลอดก่อนกำหนด ภาวะครรภ์เป็นพิษ(ความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์) การตกเลือดก่อนคลอด การเตรียมตัวคลอดบุตร การเลือกช่องทางคลอด เน้นย้ำสังเกตอาการเตือนว่าเข้าสู่ระยะคลอดบุตร การนับลูกดิ้นและติดตามตรวจสุขภาพของทารกในครรภ์ ช่วงนี้เป็นโค้งสุดท้ายของการตั้งครรภ์ สูติแพทย์จะนัดถี่ขึ้นเป็นทุก 2 สัปดาห์จนกระทั่งอายุครรภ์ได้ 36 สัปดาห์จึงนัดเป็นทุกสัปดาห์จนคลอด ในทางการแพทย์ถือว่าครรภ์ครบกำหนดเมื่ออายุครรภ์ 37 สัปดาห์ขึ้นไป

จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นว่าการมาฝากครรภ์ในแต่ละครั้ง แต่ละไตรมาสมีรายละเอียดที่ต่างกัน ให้การดูแลที่มีเป้าประสงค์ต่างกัน หากคุณแม่ไม่ได้มาฝากครรภ์ตามนัดก็อาจพลาดโอกาสในการดูแลหรือตรวจเฉพาะอย่างที่อายุครรภ์นั้นๆ ไป อย่างไรก็ตามหากมีความจำเป็นก็สามารถเลื่อนการฝากครรภ์ออกเป็นสัปดาห์ถัดไปได้  การมาฝากครรภ์สม่ำเสมอจะช่วยให้สูติแพทย์ติดตามการตั้งครรภ์ได้อย่างใกล้ชิดทั้งมารดาและทารกในครรภ์ ช่วยประเมินความเสี่ยงของการตั้งครรภ์ วางแผนการคลอดที่เหมาะสมและทันการณ์ต่อไป

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ:

การตรวจร่างกายหญิงตั้งครรภ์ การนัดตรวจครรภ์ หมอตรวจอะไรบ้างระหว่างตั้งครรภ์ ทุกไตรมาส

ความสำคัญของการตรวจครรภ์ช่วงสามเดือนแรก

ฝึกให้ลูกคนโตรักน้องตั้งแต่อยู่ในท้อง วิธีทำให้พี่รักน้องต้องทำอย่างไร?

มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!