โดยปกติแล้วการตรวจการตรวจวินิจฉัยก่อนคลอดโดยการเจาะน้ำคร่ำ จะทำก็ต่อเมื่อการตั้งครรภ์นั้นๆ มีความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นอายุของคุณพ่อคุณแม่ ประวัติของเครือญาติและคนในครอบครัว ความผิดปกติต่างๆ ระหว่างการตั้งครรภ์ และจะทราบแน่ชัดว่าลูกเป็นออทิสติกหรือไม่ เมื่ออายุ 1-2 ควบ จากการตรวจร่างกาย และสังเกตพฤติกรรมและพัฒนาการนะคะ
ฮอร์โมนเพศในน้ำคร่ำสูง ความเสี่ยงเป็นออทิสติกสูง
งานวิจัยชิ้นใหม่จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ จึงได้ทำการวิจัยบนพื้นฐานของการตรวจหาแนวโน้มว่าเด็กจะเป็นออทิสติกหรือไม่ หรือมีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหนตั้งแต่เจ้าตัวเล็กอยู่ในครรภ์เลยทีเดียวค่ะ โดยนักวิจัยได้ทำการวิเคราะห์น้ำคร่ำของแม่ตั้งครรภ์กลุ่มตัวอย่าง จากการตรวจวินิจฉัยก่อนคลอดโดยการเจาะน้ำคร่ำ ตอนอายุครรภ์ประมาณสัปดาห์ที่ 15-16 เพื่อวินิจฉัยว่าลูกมีความเสี่ยงเป็นออทิสติกหรือไม่
ซึ่งจำนวนกลุ่มตัวอย่างจากแม่ตั้งครรภ์ที่ตั้งครรภ์ทารกเพศชายนั้น พบว่าฮอร์โมนเพศ หรือ sex steroid hormones 4 ฮอร์โมนสำคัญในน้ำคร่ำเป็นกุญแจสำคัญที่เป็นต้นเหตุของออทิสติก ได้แก่ ฮอร์โมนโปรเจนทอโรน ฮอร์โมนเทสโทสทอโรน ฮอร์โมน 17แอลฟา-ไฮดรอกซิโพรเจสเทอโรน และฮอร์โมนแอนโดรสตีนไดโอน
เพศชายเป็นออทิสติกมากกว่าเพศหญิง
หากน้ำคร่ำที่มีฮอร์โมนทั้ง 4 ตัวนี้ ในปริมาณที่สูงมากกว่าปกติ จะทำให้ทารกในครรภ์เป็นออทิสติก ซึ่งก็เป็นคำอธิบายว่า ทำไมจำนวนคนที่เป็นออทิสติกส่วนใหญ่ถึงเป็นเพศชาย นั่นก็เพราะฮอร์โมนเพศชายเป็นสาเหตุของการเป็นออทิสติกนั่นเองค่ะ ซึ่งหากมีปริมาณฮอร์โมนเพศชายที่สูง จะส่งผลให้สมองพัฒนาได้ช้ากว่าที่ควรจะเป็น ทำให้มีพัฒนาการของทารกในครรภ์บกพร่องในหลายๆ ด้าน แต่จะเห็นผลได้ชัดเจนเมื่อเด็กมีอายุได้ 1-2 ขวบมากที่สุด
การเลี้ยงเด็กออทิสติกไม่ใช่เรื่องง่ายค่ะ วิธีที่ดีที่สุดคือคุณพ่อคุณแม่ต้องตรวจคัดกรองความเสี่ยงตั้งแต่ตั้งครรภ์ เพราะหากได้รับการวินิจฉัยที่รวดเร็วแล้ว การรับมือที่ทันท่วงทีและเหมาะสม จะทำให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้นมากได้ และสามารถใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นในสังคมได้ค่ะ
ที่มา sciencedaily.com