คุณแม่พาน้องปลา อายุ 1 ปี มาพบหมอที่โรงพยาบาลด้วยอาการผื่นแดงขึ้นทั้งตัว หายใจหอบเหนื่อย เป็นครั้งที่ 2 ในชีวิต ครั้งแรกตอนอายุ 6 เดือน หลังจากลองทานอาหารเสริมซีเรียลชนิดหนึ่งแค่ช้อนเดียว ครั้งนี้มีอาการประมาณ 30 นาที หลังจากคุณแม่ให้ทานขนมปังชิ้นเล็กๆแค่ชิ้นเดียว จากการถามประวัติเพิ่มเติม ตรวจร่างกาย และตรวจทางห้องปฏิบัติการทั้งหมด สรุปว่า น้องปลามีอาการแพ้รุนแรงจากการทานอาหารที่ทำมาจาก “แป้งสาลี” ซึ่งเป็นอาหารชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการแพ้รุนแรงได้บ่อยในเด็ก
จากการสถิติในประเทศไทยพบว่าการแพ้อาหารเป็นสาเหตุของอาการแพ้รุนแรงที่พบมากที่สุดของผู้ป่วยที่มารับการรักษาที่ห้องฉุกเฉินในโรงพยาบาล โดยเฉพาะในเด็ก จึงเป็นเรื่องสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ควรทราบค่ะ
ทราบได้อย่างไรว่าลูกมีอาการแพ้อาหารอย่างรุนแรง?
อาการแพ้อาหารอย่างรุนแรงมักเริ่มแสดงอาการภายใน 1 ชั่วโมงหลังรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบที่แพ้นั้น บางครั้งอาจมีอาการภายใน 2-3 ชั่วโมงถ้าอาหารมีการดูดซึมช้า หรืออาการไม่รุนแรง โดยอาการเริ่มแรกที่พบบ่อยคือ ผื่น อาจเป็นลมพิษ หรือผื่นแดงทั้งตัว คัน อาจมีเปลือกตาบวมร่วมด้วย และมีอาการของระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ คัดจมูก แน่นหน้าอก หายใจลำบาก นอกจากนี้อาจมีอาการของระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ แน่นท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลว หรืออาการของระบบหัวใจและหลอดเลือดได้แก่ เวียนศีรษะ หน้ามืด เป็นลม ร่วมด้วย ซึ่งความรุนแรงของอาการจะแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละคน
อาหารที่เป็นสาเหตุของการแพ้อาหารอย่างรุนแรงได้แก่อะไรบ้าง?
แป้งสาลี ถั่วลิสง และอาหารทะเล เป็นอาหารที่เป็นสาเหตุของการแพ้อาหารอย่างรุนแรงที่พบได้บ่อย นอกจากนี้อาหารชนิดอื่นๆที่ทำให้เกิดอาการแพ้ได้บ่อย แต่มักไม่รุนแรง เช่น นมวัว บางครั้งก็เป็นสาเหตุของการแพ้อาหารอย่างรุนแรงในผู้ป่วยเด็กบางราย เช่นกัน
ซึ่งการเกิดอาการแพ้นั้น นอกจากจะเกิดหลังจากการทานเข้าไปแล้ว ผู้ป่วยที่แพ้อาหารอย่างรุนแรงอาจเกิดอาการได้หลังจากการสูดหายใจเอาละอองของอาหารเข้าไประหว่างการประกอบอาหารด้วยความร้อน ซึ่งมีรายงานในผู้ป่วยที่แพ้ นมวัว ไข่ ถั่วเหลือง และอาหารทะเล ค่ะ
คุณหมอวินิจฉัยการแพ้อาหารอย่างรุนแรงได้อย่างไร?
หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตว่าลูกทานอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งและมีอาการแพ้รุนแรงในระบบต่างๆของร่างกาย เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ภายในเวลาไม่เกิน 2-3 ชั่วโมง ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อจะได้สอบถามประวัติ ชนิดของอาหาร ปริมาณ อาการที่เกิดขึ้น และตรวจร่างกายเพื่อหาอาการแสดงของระบบต่าง ๆ นอกจากนี้คุณหมอจะส่งตรวจการทดสอบภูมิแพ้เพิ่มเติม โดย วิธีการทดสอบทางผิวหนัง (skin test) หรือการตรวจเลือดเพื่อช่วยในการวินิจฉัยชนิดของอาหารที่สงสัยได้ นอกจากนี้ การวินิจฉัยอีกวิธีหนึ่งคือ การลองทานอาหารนั้นๆแล้วสังเกตอาการ ซึ่งต้องทำภายในโรงพยาบาล ภายใต้การดูแลของคุณหมออย่างใกล้ชิดเพราะอาจมีโอกาสเกิดปฏิกริยาแพ้รุนแรงได้
หากลูกแพ้อาหารอย่างรุนแรงจะมีการดูแลอย่างไร?
สิ่งที่สำคัญมากคือการหลีกเลี่ยงอาหารที่แพ้รุนแรงอย่างเคร่งครัด โดยคุณพ่อคุณแม่ควรทราบว่าอาหารที่ลูกทานประกอบด้วยอะไรบ้าง และมีส่วนประกอบของอาหารที่แพ้หรือไม่ อ่านฉลากอาหารก่อนให้ลูกทานทุกครั้ง และแจ้งให้ที่โรงเรียนทราบ โดยอาจใส่สายรัดข้อมือ สร้อยคอ หรือปักเสื้อ ระบุรายการอาหารที่ลูกแพ้ทั้งหมดให้คุณครูทราบ
นอกจากนี้ ในผู้ป่วยที่แพ้อาหารอย่างรุนแรงคุณหมอจะให้ยา adrenaline ติดตัวไว้ เพราะบางครั้งผู้ป่วยอาจไปทานอาหารที่แพ้และเกิดอาการโดยไม่รู้ตัว คุณพ่อคุณแม่รวมถึงเด็กโตที่มีอาการแพ้อาหารอย่างรุนแรงควรฝึกฉีดให้ถูกต้องเพื่อช่วยชีวิตในกรณีเกิดอาการฉุกเฉิน สำคัญมากๆค่ะ
ปัจจุบันในต่างประเทศ มีการรักษาอาการแพ้อาหารอย่างรุนแรงบางชนิด เช่น นมวัว ด้วยการให้วัคซีนภูมิแพ้ แต่ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาวิจัย ต้องติดตามกันต่อไปนะคะ
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง โดยผศ.พญ.รวีรัตน์ สิชฌรังษี
โรคแพ้นมวัวในเด็กมีอาการอย่างไร? โดยผศ.พญ. รวีรัตน์ สิชฌรังษี