มือเท้าบวมระหว่างตั้งครรภ์ รับมืออย่างไร?
อาการ มือเท้าบวมระหว่างตั้งครรภ์ นั้นเป็นอาการปกติที่แม่ท้องส่วนใหญ่มักจะเป็นกันบ่อย โดยแม่ท้องส่วนใหญ่จะรู้สึกบวมบริเวณเท้าหากต้องนั่งหรือยืนนานๆ บางคนอาจจะรู้สึกว่าแหวนที่สวมอยู่นั้นคับลงกว่าปกติ หรือบางคนอาจมีอาการบวมอื่นๆร่วมอยู่ด้วย ยิ่งอากาศที่ร้อนอบอ้าว ยิ่งจะทำให้แม่ท้องมีอาการบวมได้มากขึ้น บางคนอาจเริ่มมีอาการเท้าบวมก่อน จากนั้นอาการมือบวมก็จะตามมา และอาจมีอาการหน้าบวมหลังจากตื่นนอนได้อีกด้วย
อาการ มือเท้าบวมระหว่างตั้งครรภ์ ส่วนมากจะเกิดในช่วงไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ จากการที่ปริมาณของเหลวในร่างกายที่เพิ่มขึ้นตามการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ อีกทั้งฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงทำให้เกิดอาการบวม นอกจากนี้การที่มดลูกมีขนาดใหญ่ขึ้นส่งผลให้กระดูกเชิงกรานกดทับเส้นเลือดดำใหญ่ ซึ่งอยู่ทางด้านขวาของร่างกาย ทำให้ไม่สามารถส่งเลือดกลับไปเลี้ยงหัวใจได้สะดวก จนเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการมือเท้าบวมระหว่างตั้งครรภ์ได้ครับ
หลังจากคลอดลูกแล้ว อาการบวมเหล่านี้ก็จะค่อยๆหายไปจากการที่ร่างกายขับของเหลวส่วนเกินออกไปจากร่างกาย โดยในช่วงวันแรกๆหลังจากทำการคลอด คุณแม่อาจจะมีอาการปัสสาวะหรือมีเหงื่อออกมากกว่าปกติ
ติดตามวิธีรับมืออาการมือเท้าบวมตอนท้องได้ในหน้าถัดไปครับ
วิธีรับมือกับอาการ มือเท้าบวมระหว่างตั้งครรภ์
- ไม่ควรกินอาหารที่มีรสชาติเค็มจัด เพราะเกลือหรือโซเดียมนั้นเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการบวม
- ไม่ควรนั่งไขว่ห้าง
- หลีกเลี่ยงการยืนนานๆ การเดินออกกำลังกายเบาๆ ในช่วงเวลาสั้นๆ จะช่วยให้ระบบการไหลเวียนของเลือดดีขึ้น อีกทั้งยังสามารถช่วยลดอาการเส้นเลือดอุดตันได้อีกด้วย
- นอนยกเท้าให้สูงกว่าระดับหัวใจโดยใช้หมอนสัก 2 – 3 ใบ รองใต้ขา จะช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดี และช่วยลดน้ำหนักที่กดทับมาจากมดลูกได้
- เลือกรองเท้าที่สวมใส่สบายและรองรับการขยายตัวของเท้าที่ใหญ่ขึ้นของคุณแม่ และไม่ควรใส่ถุงเท้าที่รัดแน่นเกินไป
- ดื่มน้ำเยอะๆ โดยเฉพาะน้ำเปล่า เพราะหากคุณดื่มน้ำน้อย ร่างกายจะพยายามเก็บกักน้ำไว้ในร่างกายมากขึ้น ซึ่งจะทำให้คุณแม่บวมเพิ่มขึ้น
- ออกกำลังกายเบาๆด้วยการเดินหรือการว่ายน้ำตามที่คุณหมอแนะนำก็สามารถช่วยลดอาการบวมได้
- กินอาหารที่มีประโยชน์ ไม่ควรกินอาหารจานด่วน
อาการ มือเท้าบวมระหว่างตั้งครรภ์ อาจทำให้คุณแม่ส่วนใหญ่มีความรู้สึกกังวลใจ แต่หากไม่มีภาวะแทรกซ้อนอะไร ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าเป็นห่วงเพราะไม่มีอันตรายต่อคุณแม่และลูกน้อย แต่หากมีอาการบวมมากเกินไปจนคุณรู้สึกว่าอาการบวมนั้นผิดปกติ คุณควรไปพบคุณหมอเพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยอาการอย่างถูกต้องต่อไปครับ
ที่มา babycenter