วิธีป้องกันทารกจากยุงร้าย หนียุงยังไงให้ลูกรอด!

เมืองไทยเต็มไปด้วย ยุง ยุง ยุง เยอะไปหมด! ซึ่งเจ้ายุงตัวดียังทำให้ลูกรักติดโรคต่างๆ เช่น โรคไข้เลือดออก ได้ด้วย วิธีที่ง่ายที่สุดคือ ป้องกันทารกจากยุงร้าย เพื่อไม่ให้ลูกเป็นอันตราย ทั้งจากการระคายเคืองผิวหนัง รวมไปถึงโรคร้ายที่ยุงนำมาแพร่

วิธีป้องกันทารกจากยุงร้าย หนียุงยังไงให้ลูกรอด!

วิธีป้องกันทารกจากยุงร้าย ให้ลูกรักปลอดภัย ไม่ต้องใช้สารเคมี

 

ใช้มุ้งคลุมเปลของลูก

จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับเด็กในวัย 4 ถึง 12 เดือน การใช้มุ้งคลุมเปลของลูก จะช่วยป้องกันแมลงร้ายโดยเฉพาะเจ้ายุงตัวดี ไม่ให้มากัดลูกรัก แล้วอย่าลืมติดมุ้งลวดบริเวณหน้าต่างด้วยนะ

 

แต่งตัวลูกให้มิดชิด

ทารกแรกเกิด หรือเด็กอ่อน พ่อแม่ต้องใส่ใจในการแต่งตัว ควรห่อด้วยผ้าที่ปกปิดมือ ขา ได้อย่างมิดชิด ส่วนเด็กเล็กๆ ควรใส่เสื้อผ้าที่ปกปิดส่วนมือและขา โดยเลือกที่มีสีอ่อนๆ ไม่ใช่สีเข้มหรือสีดำที่จะดึงดูดให้ยุงมาทำร้ายลูก แล้วอย่าลืมให้ลูกสวมใส่หมวกเพื่อป้องกันบริเวณศีรษะลูกด้วย

 

ป้องกันลูกเมื่ออยู่นอกบ้าน

หากมีเหตุจำเป็นที่ต้องพาลูกไปนอกบ้าน ควรเลือกใช้รถยนต์ หรือใช้ตาข่ายคลุมรถเข็น โดยเฉพาะในช่วงเย็น และจำเป็นอย่างยิ่งในเวลากลางคืน หลีกเลี่ยงการพาลูกไปอยู่ใกล้กับสถานที่สกปรก หรือแหล่งน้ำ อันเป็นที่รวมตัวของยุงร้าย

 

ทำความสะอาดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง

เปลี่ยนน้ำในกระถางต้นไม้ หมั่นทำความสะอาดท่อน้ำในครัวและห้องน้ำเพื่อให้ไม่มีน้ำขัง คว่ำกระถาง ถัง แจกัน หรือใช้พวกน้ำมันตะไคร้หอมสองสามหยดผสมกับน้ำ นำไปทำความสะอาดเครื่องเรือนและเปลลูกเพื่อสุขอนามัยที่ดี

 

ใช้ยากันยุงได้ไหม

ลูกในวัย 6 เดือนแรก ไม่ควรอยู่ใกล้กับสารเคมี! โดยเฉพาะยากันยุงที่อาจเป็นอันตรายต่อทารก เพราะการใช้ยากันยุง เสี่ยงต่ออันตรายจากสารพิษตกค้าง พอลูกเริ่มโต ค่อยเลือกใช้ยากันยุงแบบสมุนไพร หรือวิธีง่ายๆ ด้วยสมุนไพรไล่ยุง

  • มะกรูด นำน้ำมันออกมาด้วยการนวดผิวมะกรูด หรือซอยผิวมะกรูด แล้วนำไปวางตามจุดต่างๆ ในบ้าน
  • กระเทียม เพียงวางใกล้ๆ ยุงได้กลิ่นก็ไม่ค่อยบินมาหา
  • ใบแมงลัก นำมาบดหรือขยี้ วางไว้ในบริเวณต่างๆ
  • ใบกะเพรา ขยี้ใบกะเพราสด วางไว้ใกล้ตัว
  • ใบสะระแหน่ ขยี้เอาน้ำมันระเหยออกมาขับไล่ยุง แล้ววางไว้ในบ้าน

 

นอกจากนี้ ยังมีตะไคร้หอมที่เหมาะจะปลูกไว้ในบริเวณบ้าน ก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยไล่ยุงได้อย่างปลอดภัย ไร้สารเคมี

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

โรคไข้ดำแดง ไข้เลือดออก อีสุกอีใส 3 โรคต้องระวังช่วงนี้

สิ้นสุดการรอคอย วัคซีนไข้เลือดออก ถึงเมืองไทยแล้ว!

 

บทความโดย

Tulya