วิธีการ รับมือเมื่อลูกโกหก หน้าเป็น
เพราะการโกหก เป็นปัญหาที่พบมากและไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ในปัจจุบันไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นปัญหาหลักปัญหาหนึ่งที่พ่อแม่อย่างเรา ๆ ไม่อยากที่จะต้องเผชิญ … แต่ถ้าหากเราต้องเผชิญหน้ากับมันจริง ๆ ละ เราจะมีวิธีการ รับมือเมื่อลูกโกหก กันอย่างไร
คำแนะนำเล็ก ๆ น้อย ๆ รับมือเมื่อลูกโกหก
1. พยายามหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่จะเปิดโอกาสให้ลูกได้โกหก เช่น เมื่อเด็กเล่นน้ำในแก้ว และคุณเห็นว่า เด็กทำน้ำหกเลอะพื้น แทนที่คุณจะถามว่า “นั่นลูกทำอะไรน่ะ” ลูกอาจจะรู้สึกตกใจกลัว และไม่กล้าที่จะพูดความจริง เพราะกลัวโดนทำโทษ ดังนั้นลองเปลี่ยนวิธีการพูดมาเป็น “แม่เห็นลูกทำน้ำหก ไปหาผ้ามาเช็ดพื้นเลย” น่าจะดีกว่า
2. เมื่อลูกขี้โม้และชอบเล่าเกินความจริง ก่อนอื่นมาดูสาเหตุกันก่อนนะคะว่า ทำไมลูกถึงทำเช่นนั้น เพราะที่ลูกทำไป ลูกอาจจะมีเหตุผล และอยากเรียกร้องความสนใจจากคุณพ่อคุณแม่ หรือคนรอบข้างก็เป็นได้ ดังนั้น เราควรแก้ที่ต้นเหตุก่อนจะดีกว่าค่ะ หันมาให้ความสำคัญกับลูกให้มาก ๆ และหมั่นชื่นชมลูกบ่อย ๆ เพื่อให้ลูกมีนิสัยที่เชื่อมั่น ไม่นานอาการดังกล่าวก็จะหายไปได้เอง
3. เมื่อลูกทำผิดและพูดความจริง การทำผิดและพูดความจริง เป็นสิ่งที่กล้าหาญมากนะคะ เพราะขนาดตัวเราเองเวลาทำผิดยังตั้งหลักเสียตั้งนานกว่าที่จะกล้าพูดความจริงออกไป ดังนั้น เมื่อลูกมีความกล้าหาญ ก็อย่าไปตำหนิเขาเลยค่ะ แต่หันมาชมพร้อมกับให้กำลังใจพวกเขาจะดีกว่า ยกตัวอย่างคำพูดง่าย ๆ เช่น “หนูเก่งมากจ้ะลูก ที่กล้าพูดความจริงให้แม่ฟัง แม่ภูมิใจในตัวลูกมากนะจ้ะ” ซึ่งตรงนี้ เราอาจจะสอดแทรกเหตุผลให้กับลูกทีหลังก็ได้นะคะ
4. กฎอย่างไรก็คือกฎ การยึดมั่นกฎของบ้านเป็นสิ่งที่ดีค่ะ ดังนั้น ทุก ๆ คนรวมถึงตัวของคุณแม่เอง ก็ต้องรักษาคำพูดด้วยเช่นกัน อย่าลืมกันนะคะว่า ลูก ๆ ดูเราเป็นตัวอย่างอยู่
5. ใกล้ชิดกับลูกให้มาก โดยธรรมชาติแล้ว เด็ก ๆ มักชอบเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ที่ตนเองประสบพบเจอให้พ่อแม่ฟัง และโดยมากจะเล่าตามความเป็นจริง แต่ถ้าเด็กที่ไม่ใกล้ชิด ไม่เข้าหาพ่อแม่ ไม่ยอมเล่าเรื่องราวต่าง ๆ หรือพอเล่าก็เป็นเรื่องโกหกนั้น อาจเป็นไปได้ว่า ความสัมพันธ์ของพ่อแม่ลูกกำลังมีปัญหาก็เป็นได้
6. พ่อแม่คือแบบอย่างที่ดีของลูก คุณพ่อคุณแม่คือแบบอย่างที่ใกล้ชิดกับลูกมากที่สุด พวกคุณเป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูกได้ คุณพ่อคุณแม่ต้องอย่าคาดหวังว่าลูกจะพูดความจริง ถ้าลูกเห็นว่าคุณพ่อคุณแม่ก็ไม่พูดความจริง เช่น ตอนที่คุณไม่อยากรับโทรศัพท์ คุณบอกลูกว่า “บอกเขานะว่าพ่อไม่อยู่บ้าน” ทั้ง ๆ ที่คุณอยู่บ้าน หรือบอกว่า “ฉันไปไม่ได้ ฉันไม่สบาย” ทั้ง ๆ ที่คุณสบายดีแต่แค่อยากพักผ่อน ในความเป็นจริง พ่อแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดี ไม่พูดโกหกให้ลูกเห็น เพราะลูกอาจเลียนแบบจนติดเป็นนิสัย เข้าใจผิดว่าการโกหกเป็นเรื่องปรกติที่สามารถทำได้ค่ะ
นพ.กัมปนาท ตันสิถบุตรกุล จิตแพทย์ทั่วไป โรงพยาบาลมนารมย์ ให้ข้อมูลว่า “ถ้าหากมองในแง่ดี การโกหกเป็นธรรมชาติของเด็ก เพราะโดยพื้นฐานทางจิตใจของเด็กนั้น จะไม่โหดร้ายเหมือนกับผู้ใหญ่ และการโกหกส่วนใหญ่อาจจะมีเหตุผลบางประการ เช่น เกรงว่าจะถูกทำโทษเมื่อทำผิด กลัวพ่อแม่จับได้จึงจำเป็นต้องโกหก
ต้องพิจารณาถึงสาเหตุด้วยว่า เพราะอะไรเด็กถึงไม่ไว้ใจพ่อแม่ เวลาทำสิ่งที่ไม่เหมาะสมลงไป ซึ่งพ่อแม่เองก็ไม่ควรมานั่งจับผิด หรือมีทัศนคติที่ไม่ดีใส่เด็ก ซึ่งการสร้างมาตรการลงโทษแบบแก้ไขที่ปลายเหตุ มักใช้ไม่ได้ผล เพราะเด็กจะถูกมองเป็นเด็กไม่ดี และมองตัวเองด้อยคุณค่าลงไปได้ และเมื่อโตขึ้น เด็กจะมีพฤติกรรมร่วมกับการโกหกอีกหลายอย่าง จนกลายเป็นเด็กมีปัญหาในที่สุด” จิตแพทย์กล่าว
บางครั้งที่ลูกอาจจะยังไม่เข้าใจว่า นั่นคือการโกหก เพียงแต่เขากลัวที่จะเอ่ยปากบอกสิ่งที่อยู่ในใจ ด้วยความกลัว หรืออะไรก็แล้วแต่ คุณพ่อคุณแม่ต้องพยายามเข้าใจ และค่อย ๆ สอน เพราะพวกเขายังเป็นเพียงต้นกล้า ต้นใหม่สำหรับโลกกว้างใบนี้อยู่
_________________________________________________________________________________________
ที่มา: manager.co.th
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
นิทานธรรมะ เล่าให้ลูกฟังก่อนนอน : ความสุข สอนลูกให้รู้จักความสุข