พูดกันมากี่ปีต่อกี่ปีไม่เคยเปลี่ยนได้ วิกฤตการศึกษาไทย ปัญหาเรื้อรังที่ไม่มีปัญญาแก้
พูดกันมากี่ปีต่อกี่ปีไม่เคยเปลี่ยนได้ วิกฤตการศึกษาไทย ปัญหาเรื้อรังที่ไม่มีปัญญาแก้ วาทกรรมระดับชาติที่พูดกันมาตั้งแต่ก่อนปี 50 จนถึงทุกวัันนี้ การแก้ไขที่ดูเหมือนจะจริงจัง แต่ก็ยังแก้ไขไม่ได้
ต้นเหตุที่รัฐบาล ???
จากข่าวปี 2551 วิกฤตการศึกษา ปฏิวัติปัจเจกชนสู่พลเมือง ที่ให้ความเห็นในเรื่องของนโยบายของทางภาครัฐว่าไม่ประสบความสำเร็จ จนมาปีนี้ “เก่งเต็มเมือง แต่คิดไม่เป็น” วิกฤตเด็กปฐมวัย ความสิ้นหวังการศึกษาไทย! ยุคที่ประเทศไทยเปลี่ยนนายกฯ มาถึง 7 รวมทั้งคณะทำงานอีกหลายสิบคณะ การเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษา แนวคิดใหม่ๆ หลักสูตรใหม่ๆ โครงการใหม่ๆ แต่ก็ไม่ได้ทำให้วิกฤตการศึกษาไทย ห่างจากคำว่าวิกฤตไปได้เลย
ใครได้ประโยชน์
คงไม่พ้นโรงเรียนเอกชนหลายๆ แห่งที่ยังชูโรงความภาคภูมิใจ เด็กๆ ที่สอบได้คะแนนดี ชนะการแข่งขัน หรือสอบติดตามสถาบันชั้นนำต่างๆ พ่วงด้วยโรงเรียนสอนพิเศษอีกหลายๆ สถาบัน ที่นับว่าโตแซงหน้าโรงเรียนไปแบบไม่ทิ้งฝุ่นมานานหลายสิบปีแล้ว และทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ด้วยการสอนพิเศษเด็กปฐมวัยในการสอบเข้าประถมเข้าไปอีก จากเดิมวิกฤตที่ว่าแย่มากแล้ว ก็แย่ขึ้นไปอีก แต่จะโทษสถาบันทั้งหลายได้หรือ ในเมื่อความต้องการของผู้ปกครองทุกวันนี้มันหนักหน่วงและเข้มข้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
เหยื่อคือเด็ก
เพราะเด็กๆ เลือกไม่ได้ การไปโรงเรียนที่มีชื่อเสียง เพื่ออนาคตของตัวเด็กเอง แน่นอนว่าพ่อแม่เป็นผู้เลือกสรร การเรียนเสริมทักษะต่างๆ ก็เพื่อให้แข่งขันกับโลกอนาคตได้ โดยที่คำโฆษณาสวยหรูที่เห็นได้ตามทีวีและเว็บไซต์ เด็กคือคนที่แบกรับความหวังดีของพ่อแม่ แน่นอนเพื่ออนาคตของเด็กๆ เอง ความหวังดีและความห่วงใยของพ่อแม่ไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่มันคือความกดดันที่เด็กๆ ต้องรับไปอย่างปฏิเสธไม่ได้เลย
ทัศนคติคือปัญหาที่แท้จริง ???
หากกลับมามองกันว่า ต้นตอของปัญหาที่ทำให้กลายเป็นวิกฤตนี้มันคืออะไร ในสถานการณ์ที่พ่อแม่และเด็กๆ ต้องตกอยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและทางสังคม การดิ้นรนสำหรับตัวพ่อแม่เองและตัวลูก ให้สามารถอยู่รอดได้ แข่งขันได้อย่างเท่าเทียม คือเรื่องที่พ่อแม่ทุกคนย่อมเป็นห่วงลูกเสมอ และทัศนคติแบบนั้นก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กในยุคสมัยนี้ ต้องเรียนให้เก่ง ในโรงเรียนไม่พอต้องเรียนเสริมด้วย ต้องเก่งทั้งวิชาการ กีฬา ดนตรี และทักษะอื่นๆ อีกสารพัด ก็เพื่ออนาคตของตัวเขาเอง
เด็กไทย(แทบจะ)ไม่เคยค้นพบตัวเองเลย
เด็กๆ ที่ค้นพบว่าตัวเองชอบอะไร อยากเป็นอะไร และใช้ชีวิตยังไงต่อไปในโลกนี้ นับว่าเป็นเด็กที่โชคดีที่สุดคนหนึ่งค่ะ แต่นั่นแทบจะเป็นไปไม่ได้สำหรับเด็กๆ สมัยนี้ ที่มีตารางอัดแน่นทุกวันตลอด 365 วัน วันหยุดเสาร์อาทิตย์หรือปิดเทอม เด็กแทบทุกคนอยากจะคลายเครียดและเที่ยวเล่น เพราะเหน็ดเหนื่อยกับการเรียนที่ต้องทั้งจำ ทั้งทำความเข้าใจ และการจดจนมือหยิกอีกเล่า ซึ่งได้ใช้ทำงานหรือเปล่าก็ยังไม่รู้
อาชีพในเมืองไทยเด็กน้อยคนนักที่จะรู้ว่าเขาทำอะไรกัน ไม่ต้องพูดถึงอาชีพที่หลากหลายกว่าในต่างประเทศ หรือเป็นอาชีพใหม่ๆ ที่มีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต และแน่นอนว่าเมื่ออาชีพยังไม่รู้ การทำงานของแต่ละอาชีพเด็กๆ ก็ไม่มีทางจะเดาออก มันจึงทำให้เด็กหลายต่อหลายคน เมื่อถึงวันที่ต้องเลือกคณะหรือทางเดินของชีวิต เลือกอะไรก็ได้ เลือกตามเพื่อน ตามกระแส หรือตามใจพ่อแม่ จนมารู้ตัวอีกที ก็เสียดายทั้งเงินทั้งเวลา บางคนกลับลำไม่ทันเพราะอาชีพที่อยากเป็นนั้นอายุเกินไปแล้วก็มี
การเรียนกับการเรียนรู้ ความเหมือนที่แตกต่าง
เวลาที่เขาจะคิดทบทวนเรื่องราวว่าเขาอยากจะทำอะไร อยากจะเรียนรู้อะไร มีบ้างไหมกับเวลาที่ให้เด็กๆ อยู่กับตัวเอง และดึงความชอบออกมา ตั้งแต่หลักสูตรหรือ 8 กลุ่มสาระที่เด็กถูกบังคับให้เรียน โดยไม่ถามความสมัครใจ เด็กๆ อยากเรียนรู้มันไหม หรือมันเป็นแค่การเรียนสำเร็จรูป มีผู้นั่งเทียนคิดมาให้เสร็จว่า เด็กจะเก่งได้ จะถือว่ามีการศึกษา ต้องผ่านกลุ่มวิชาเหล่านี้ แน่นอนเด็กบางคนสอบเสร็จก็ทิ้งองค์ความรู้นั้นไป เพราะไม่ได้อยากรู้เอง และเหนื่อยกับการจำ
เด็กไทยที่ต้องโดนบังคับเรียนเรื่องต่างๆ หรือเพราะผู้ใหญ่มองว่าเด็กไม่ใช่มนุษย์ที่จะเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ เข้าใจอะไรได้ด้วยตัวเอง ไม่จำเป็นต้องหาคำตอบด้วยตัวเอง เพียงแค่ผู้ออกหลักสูตรปรุงมาให้ ครูเคี้ยวให้ เด็กๆ มีหน้าที่กลืนลงคอ หรือจำๆ ไปตอบข้อสอบอย่างเดียวก็พอ หรือเพราะผู้ใหญ่คิดมากเกินไป และดูถูกเด็กเกินไป สมองของเด็กทุกวันนี้จึงใช้งานแค่ความจำก็พอ ไม่ต้องต่อยอด ไม่ต้องสร้างสรรค์ ไม่ต้องเห็นต่างจากตำรา เพราะมันเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้กันในสังคมไทยทุกวันนี้
หรือสังคมไทย จะไม่เหมาะกับการมีลูก
การเลี้ยงเด็กสักคน คุณหมอและนักจิตวิทยามักจะพูดเหมือนๆ กันว่า สิ่งสำคัญคือเด็กๆ ต้องการเวลาจากพ่อแม่ และนั่นก็เป็นเพียงสิ่งเดียวที่พ่อแม่ส่วนใหญ่ให้เด็กๆ ไม่ได้ เพราะเอาเข้าจริงๆ เวลาของพ่อแม่และเด็กๆ ไม่ได้สอดคล้องกันเลยค่ะ ในเด็กเล็กระดับอนุบาลส่วนใหญ่เลิกเรียนเวลาบ่ายสองครึ่ง สำหรับเด็กประถมจะประมาณบ่ายสามโมงครึ่ง และเด็กมัธยมอยู่ที่สามโมงครึ่งถึงสี่หรือห้าโมงแล้วแต่สาย แต่ผู้ปกครองส่วนใหญ่เลิกงานห้าถึงหกโมง เวลาที่เหลือเด็กๆ ส่วนใหญ่ก็หมดไปกับการเรียนพิเศษ อยู่กับพี่เลี้ยง หรือรอผู้ปกครองมารับ เวลาส่วนใหญ่เด็กๆ จะหมดไปกับการเรียนที่โรงเรียนและการเดินทาง
ถ้าไม่ใช่ครอบครัวที่มีฐานะจริงๆ การเลือกโรงเรียนที่ไม่เน้นอ่านเขียนไม่เน้นท่องจำ ก็ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะอย่างแรกคือค่าใช้จ่ายที่สูงรองจากโรงเรียนนานาชาติ หรือไม่ก็มีจำนวนน้อยและไกลบ้านมากโขอยู่ สังคมไทยยังไม่ใช่ว่าโรงเรียนมีมาตรฐานเดียวกันหมด เข้าที่ไหนก็ได้เหมือนประเทศที่พัฒนาแล้ว
นอกจากเรื่องเวลา เรื่องเงิน เรื่องความเข้าใจเด็กๆ ที่จำเป็นต่อการเลี้ยงเด็กคนนึงให้มีชีวิตอยู่ในโลกนี้ได้แล้ว จึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมคนสมัยใหม่ จึงไม่นิยมมีลูก อาจไม่ใช่เพราะเรื่องอื่น แต่ไม่อยากให้ประวัติศาสตร์มันซ้ำรอยกับสิ่งที่ตัวเองเจอมาก็เป็นได้
บทความที่น่าสนใจ
20 ประเทศ ที่มีระบบการศึกษาดีที่สุดในโลกปี 2015-2016
กระเเส “อวดความเป็นเเม่วัยใส” วิกฤตของสังคมไทย หรือ ระเบิดเวลาจากความกดดันที่สังคมสร้างขึ้นมาเอง ???