วางลูกไม่ได้เลย ตื่นทุกที เพราะอะไรกันนะ
เคยไหมคะ ที่ลูกผลอยหลับไปในอ้อมเเขนของคุณเเม่เเล้ว พอจะวางลงบนเตียงให้นอนสบายๆ กลับ วางลูกไม่ได้เลย ตื่นทุกที เพราะอะไรกันนะ เเล้วกว่าจะหลับไหมก็ต้องมากล่อมกันอีกรอบนึง ทั้งนี้สาเหตุหลักๆ มี 2 สาเหตุด้วยกันค่ะ
ลูกยังหลับไม่ลึก
วงจรการนอนหลับของเด็กๆ ไม่เหมือนผู้ใหญ่ค่ะ เพราะต้องใช้เวลาถึง 20 นาที จึงจะเข้าสู่การนอนหลับลึก นั่นหมายความว่าลูกจะตื่นได้ง่ายมากเลยค่ะ ถ้าคุณเเม่วางลูกลงก่อน 20 นาที เเต่ก็ไม่ได้หมายความว่าหลังจาก 20 นาทีลูกจะนอนหลับสนิททุกครั้งนะคะ
ลูกรู้สึกไม่ปลอดภัย
ร่างกายของเด็กๆ ถูกออกเเบบมาให้รู้สึกถึงอันตรายเมื่อถูกเเยกจากผู้ให้กำเนิด หรือก็คือคุณเเม่นั่นเองค่ะ โดยผ่านการสัมผัสทางไออุ่นจากร่างกายของคุณเเม่ สัมผัสอ่อนนุ่มจากคุณเเม่ กลิ่นน้ำนมของคุณเเม่ การเคลื่อนไหวอันเเผ่วเบาจากคุณเเม่ การขยับตามจังหวะการหายใจของคุณเเม่ เด็กๆ จะโหยหาคุณเเม่เมื่อถูกเเยกจากกันค่ะ
ไม่เหมือนกับสมองของผู้ใหญ่ สมองของเด็กๆ จะยังไม่ได้พัฒนาเต็มที่ พอที่จะรู้ว่าลูกนั้นออกมาจากท้องของคุณเเม่เเล้วนะ ซึ่งสมองส่วนนี้จะพัฒนาเต็มที่เมื่อลูกอายุได้ 6-9 เดือนค่ะ เเละในช่วงนี้นี่เองที่ลูกจะร้องเมื่อมีความต้องการบางอย่าง ที่คุณเเม่ต้องทำตามเสียด้วยสิคะ
อย่าลืมว่าลูกเพิ่งจะอยู่ในโลกใบนี้ได้ไม่เท่าไหร่ เพราะในท้องคุณเเม่นั้น เด็กๆ จะไม่มีความหวาดกลัว หิว หนาว หรือสัมผัสกับลมพัดผ่านร่างกายไป ทั้งคุณพ่อเเละคุณเเม่จึงต้องมั่นใจว่าต้องการของลูกจะได้รับการเติมเต็มพอ ที่จะทำให้ลูกรู้สึกว่าเเม้หนูจะออกมาดูโลกกว้างเเล้ว หนูจะยังรู้สึกปลอดภัยอยู่นะจ๊ะ ซึ่งความวิตกกังวลจากการเเยกจากคุณเเม่นี้เรียกว่า separation anxiety นั่นเองค่ะ
เเม้คุณเเม่จะมีภารกิจ เเต่ลูกไม่ได้มารับรู้ด้วย เเละเหตุผลของเรายังใช้ไม่ได้กับเด็กๆ วัยนี้ค่ะ เขารู้เพียงว่า คุณเเม่หายไป เมื่อไหร่จะมาอยู่ข้างๆ หนูรู้สึกไม่ปลอดภัยเอาเสียเลย ดังนั้นการที่ทั้งคุณพ่อเเละคุณเเม่รู้ว่านี่คือพัฒนาการหนึ่งของลูก จึงต้องเข้าใจลูกมากๆ คอยให้ความรัก ความดูเเล เพื่อให้เขาเติบโตขึ้นเป็นเด็กที่มีความมั่นใจในตัวเองค่ะ
สิ่งที่ต้องทำ
จริงๆ เเล้วก็ทำอะไรได้ไม่มากนักหรอกค่ะ หากวางลูกลงเเล้วลูกร้องหรือตื่น สิ่งที่ทำได้ก็คือกล่อมลูกให้หลับไปอีกน่ะเเหละค่ะ
สิ่งที่ไม่ควร ไม่ควร เเละไม่ควรทำ
คือการปล่อยให้ลูกร้องไห้จนหลับไปเองค่ะ เพราะนั่นเป็นการเพิ่มระดับความวิตกกังวลของลูกให้สูงขึ้นไปอีก ลูกจะรู้สึกว่าเขาอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปลอดภัย เเละรู้สึกว่าโดนทิ้ง การร้องไห้ไม่ช่วยอะไร เพราะไม่มีใครมาช่วยลูกเลย เข้าใจคุณพ่อคุณเเม่เลยค่ะว่าบางทีเหตุการณ์เเบบนี้มันก็เกิดขึ้นบ่อยกลางดึก น่าเบื่อไปบ้าง เเต่ก็ต้องตระหนักไว้ตลอดค่ะว่า ลูกจะสื่อสารถึงความกลัวเเละการไม่ตอบสนองของคุณพ่อคุณเเม่
อดทนไม่กี่เดือน
คุณพ่อคุณเเม่คะ การที่ลูกงอแง ตื่นบ่อย หรือดูเลี้ยงยากไปบ้าง มันเป็นเพียงเเค่เสี้ยวชีวิตค่ะ ดังนั้นสิ่งที่ควรทำที่สุดคือการอดทนค่ะ เเม้ว่าบ้านจะรก เพราะทั้งวันสิ่งที่คุณเเม่เเละคุณลูกทำคือ การกอดรัดฟัดกัน หรือนอนกอดกันทั้งวันไม่ต้องทำอะไร จะทำงานบ้าน จะทำอาการก็ไม่เสร็จเสียที อาจจะทำให้คุณพ่อหรือคนอื่นมองว่าเลี้ยงลูกสบายเนอะ เเต่มันก็เเค่ไม่กี่วัน กี่เดือนเองค่ะ การกล่อมลูกก็เปรียบเสมือนกับการที่คุณเเม่ค่อยๆ เทฐานรากให้มั่นคง เเละเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ลูกจะรู้สึกปลอดภัยเเละรู้สึกได้ว่าคุณเเม่ปกป้องเขาอยู่ ลูกจึงสบายใจสบายกายเเละหลับได้อย่างไม่ผวา (ก็เเนะนำให้นอนด้วยกันไปเลยค่ะ)
ทางออกง่ายๆ
- หาซื้อ Baby Sling หรือผ้าผูกลูกไว้กับตัวค่ะ มีทั้งของที่คนไทยผลิตเองเเละของต่างประเทศ ทางที่ดีคือต้องลองใช้ว่าคุณเเม่ถนัดเเบบไหนมากกว่า เหมือนกับคนสมัยก่อนจะผูกลูกเต้าพร้อมๆ กับการทำงานในสวนในไร่นาไปด้วย
- ให้คนในครอบครัวช่วย การอุ้มเด็กหลับง่ายที่สุดเเล้ว คุณเเม่จะเเปลกใจว่าหลายๆ คนเต็มใจที่จะช่วยอย่างยิ่ง คุณเเม่จะได้มีเวลาไปจัดการงานบ้านเเละจัดการตัวเองด้วยค่ะ
- บางอาทิตย์ลูกอาจจะงอแงมากกว่าปกติก็เป็นได้ค่ะ ซึ่งเป็นเรื่องปกติตามพัฒนาการของเขาน่ะเเหละ
- คอยดูอากาศ ไม่ให้เย็นเกินไปหรือร้อนจนเกินไป
- เอาเสื้อที่ใส่เเล้วยัดไว้ใต้ที่นอน ให้ลูกได้กลิ่นของคุณเเม่ค่ะ
- จำไว้ว่าเดี๋ยวมันก็ผ่านไป สู้ๆ เเละอดทนนะคะคุณเเม่
ที่มา BellyBelly
บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
5 สัญญาณบอกว่า ลูกนอนน้อยไป เสี่ยงพัฒนาการถดถอย
วิธีรับมือ ลูกง่วง/เหนื่อยเกินไปจนไม่ยอมนอน