(15 ม.ค. 62) นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในการแถลงข่าว การให้บริการ วัคซีนไวรัสโรต้า ในศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัย ณ ศูนย์บริการสาธารณสุข 56 ทับเจริญ
ซึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง) ในการพัฒนาให้กรุงเทพมหานครเป็นมหานครแห่งความปลอดภัย ปลอดโรคคนเมือง โดยเปิดเผยว่า กรุงเทพมหานครตระหนักและให้ความสำคัญในการดูแลสุขภาพ รวมทั้งพัฒนาและขับเคลื่อนงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขให้ครอบคลุมทุกมิติทุกกลุ่มวัย โดยเฉพาะในมิติของการส่งเสริมสุขภาพและการควบคุมป้องกันโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนที่มักพบบ่อยในเด็กแรกเกิดถึง 5 ปี เช่น โรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้าซึ่งสามารถป้องกันได้ด้วยการหยอด วัคซีนไวรัสโรต้า
สถานการณ์โรคอุจจาระร่วงในกรุงเทพมหานคร ปี 2561 พบว่า มีผู้ป่วยเด็กแรกเกิดถึงอายุ 4 ปี จำนวนประมาณ 17,000 คน ข้อมูลจากการศึกษาพบว่าเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีที่นอนรักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยโรคอุจจาระร่วงมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสโรต้าถึงร้อยละ 43 การศึกษาของคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ พบว่าในผู้ป่วย 1 ราย มีต้นทุนค่ารักษาพยาบาลสูงถึง 4,300 บาท ซึ่งหากมีการให้บริการวัคซีนไวรัสโรต้าเป็นระยะเวลา 5 ปีในแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ต้นทุนรวมทั้งหมดของการเจ็บป่วยของกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีนมีมูลค่า 727 ล้านบาท ในขณะที่กลุ่มได้รับวัคซีนจะมีมูลค่าลดลงเหลือ 228 ล้านบาท และจำนวนการตายที่ปรับลดลง ของกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีน มีจำนวน 20.52 ราย และกลุ่มที่ได้รับวัคซีนมีจำนวน 7.02 รายและทำให้หลีกเลี่ยงการตายได้ 13.5ราย ทั้งนี้ วิธีการป้องกันเด็กจากเชื้อไวรัสโรต้าที่สำคัญคือการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การสร้างสุขอนามัยที่ดี การรักษาความสะอาด การล้างมือ เป็นต้น อย่างไรก็ตามวิธีการเหล่านี้ไม่สามารถป้องกันได้อย่างครบถ้วน การรับวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าจึงเป็นการป้องกันที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ปัจจุบันมีวัคซีนที่สามารถป้องกันอันตรายจากเชื้อไวรัสโรต้าที่ทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วงในเด็ก โดยหลายประเทศได้บรรจุวัคซีนชนิดนี้ไว้ในแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคเรียบร้อยแล้วสำหรับประเทศไทย อยู่ระหว่างดำเนินการผลักดันให้บรรจุวัคซีนไวรัสโรต้าในแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคพื้นฐาน
กรุงเทพมหานคร ตระหนักและเล็งเห็นความสำคัญต่อการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในเด็กไทยให้สามารถเข้าถึงวัคซีนที่เป็นประโยชน์ ได้รับการป้องกันโรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้า จึงมอบให้สำนักอนามัยดำเนินโครงการดังกล่าว นำร่อง โดยใช้งบประมาณของกรุงเทพมหานครในการให้บริการหยอดวัคซีนไวรัสโรต้าแก่เด็กไทยอายุ 2 เดือนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร
ผู้ปกครองสามารถนำบุตรหลาน มารับบริการหยอดวัคซีนไวรัสโรต้าได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข ทั้ง 68 แห่ง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2562 เป็นต้นไป สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กองควบคุมโรคติดต่อ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร โทร 0 2203 2887 – 9 ในวันและเวลาราชการ
แม่เสียใจ จำเดือนผิด! ไม่ได้ไปหยอดวัคซีน ลูกเลยติดเชื้อไวรัสโรต้า ต้องแอดมิท
โรต้าไวรัส สาเหตุโรคอุจจาระร่วง วิจัยเผยส่งผลต่อพัฒนาการทารก เสี่ยงไอคิวต่ำ