วิธีล้างจมูก เป็นวิธีการทำความสะอาดโพรงจมูก และชะล้างเอาน้ำมูก หนอง และสิ่งสกปรกที่อยู่ในโพรงจมูก หรือโพรงหลังจมูกและไซนัส ซึ่งเกิดการอักเสบออกมา สามารถล้างจมูกได้โดยการใช้น้ำเกลืออุ่น ๆ เพื่อให้โพรงจมูกและบริเวณรูเปิดของไซนัสโล่ง บรรเทาอาการคัดจมูก จาม น้ำมูกไหล แสบจมูก ปวดจมูก หรือปวดบริเวณไซนัส การล้างจมูกนั้นเป็นวิธีที่ปลอดภัย และได้ผลดีในการรักษาโรคทางจมูก และไซนัสทั้งในเด็กและผู้ใหญ่
วิธีล้างจมูก แบบง่าย ๆ ล้างจมูก ดีอย่างไร
การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือเป็นสิ่งที่ดีมากเวลาที่ลูกเป็นหวัด เพราะจะทำให้น้ำมูกเหนียวข้นที่ไม่สามารถระบายออกได้เองถูกล้างออกมา ป้องกันการลุกลามของเชื้อโรคจากจมูกและไซนัสไปสู่ปอด ทำให้เยื่อบุจมูกมีความชุ่มชื้น บรรเทาอาการระคายเคืองในจมูก ทำให้อาการหวัดของลูกดีขึ้นเร็วกว่าการให้กินแต่ยาเพียงอย่างเดียว นอกจากนั้นยังทำให้โพรงจมูกสะอาด ลูกหายใจโล่งขึ้นอีกด้วย
ล้างจมูก วิธีการล้างจมูก ควรทำบ่อยแค่ไหน
การล้างจมูก ควรทำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ในช่วงตื่นนอนตอนเช้าและก่อนเข้านอน หรือเมื่อรู้สึกว่าลูกมีน้ำมูกมาก แน่นจมูก แนะนำให้ล้างจมูกก่อนเวลารับประทานอาหาร (ขณะท้องว่าง) หรือหลังรับประทานอาหารแล้วอย่างน้อย 2 ชั่วโมงขึ้นไป เพื่อป้องกันการอาเจียนหรือสำลัก
อุปกรณ์ล้างจมูกลูก มีอะไรบ้าง
- น้ำเกลือความเข้มข้น 0.9% (0.9% normal saline solution) หาซื้อได้จากโรงพยาบาลหรือร้านขายยา แนะนำให้ใช้น้ำเกลือขวดละ 100 ซีซี น้ำเกลือที่ใช้แล้วเหลือ ควรเททิ้ง ไม่ควรนำกลับมาใช้ใหม่หรือเทกลับเข้าขวดเดิมนะครับ
- ถ้วย หรือภาชนะสะอาดสำหรับใส่น้ำเกลือ
- ภาชนะใส่น้ำล้างจมูก และกระดาษทิชชู่
- สำหรับเด็กขวบปีแรก ควรใช้กระบอกฉีดยาพลาสติกขนาด 1 ซีซี (ไม่ใส่เข็ม) หรือขวดยาหยอดตา สำหรับเด็กอายุ 1 – 5 ปี ควรใช้กระบอกฉีดยาพลาสติกขนาด 2 – 5 ซีซี (ไม่ใส่เข็ม)
- ลูกยางแดงสำหรับดูดน้ำมูกและเสมหะสำหรับเด็กที่ยังสั่งน้ำมูกและบ้วนเสมหะเองไม่ได้ โดยใช้ลูกยางแดงเบอร์ 0 – 2 สำหรับเด็กขวบปีแรก และลูกยางแดงเบอร์ 2 – 4 สำหรับเด็กอายุมากกว่า 1 ปี
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ทำไมคุณแม่ถึงไม่ควรใช้น้ำเปล่า ล้างจมูก ให้ลูก?
วิธีล้างจมูก
ก่อนอื่นเลย ต้องล้างมือให้สะอาด และควรอุ่นน้ำเกลือก่อนการล้างจมูกทุกครั้ง เพราะหากใช้น้ำเกลือที่ไม่ได้อุ่นล้างจมูก อาจทำให้เกิดการคัดจมูกหลังการล้างได้ และก่อนที่จะนำน้ำเกลือที่อุ่นแล้วนั้นมาล้างจมูก ให้ทดสอบอุณภูมิกับหลังมือก่อน โดยน้ำเกลือที่จะนำมาใช้ควรอุ่นในขนาดที่หลังมือทนได้
วิธีล้างจมูก สำหรับเด็กเล็กที่ยังสั่งน้ำมูกและบ้วนเสมหะเองไม่ได้
- เทน้ำเกลือใส่ขวดยาหยอดตา หรือใช้กระบอกฉีดยา (ไม่ใส่เข็ม) ดูดน้ำเกลือจนเต็ม
- หากลูกไม่ยอมร่วมมือและดิ้นมาก ให้ใช้ผ้าห่อตัวของลูกเอาไว้ก่อน
- ให้ลูกนอนในท่าที่ศีรษะยกสูงเพื่อป้องกันการสำลัก
- จับหน้าให้นิ่ง ค่อยๆหยดน้ำเกลือครั้งละ 2 –3 หยด หรือค่อยๆสอดปลายกระบอกฉีดยาเข้าไปในรูจมูกข้างที่จะล้างโดยให้วางปลายกระบอกฉีดยาชิดด้านบนของรูจมูก ค่อย ๆ ฉีดน้ำเกลือครั้งละประมาณ ครึ่ง (0.5) ซีซี หรืออาจใช้น้ำเกลือในรูปสเปรย์พ่นจมูกซึ่งมีจำหน่าย พ่นเข้าไปในจมูกเด็ก แทนการหยด หรือฉีดน้ำเกลือได้
- ใช้ลูกยางแดงดูดน้ำมูกในจมูกออก โดยให้บีบลูกยางแดงจนสุดเพื่อไล่ลมออก แล้วค่อย ๆ สอดเข้าไปในรูจมูกลึกประมาณ 1 – 1.5 ซม. ค่อย ๆ ปล่อยมือที่บีบออกช้า ๆ เพื่อดูดน้ำมูกเข้ามาในลูกยางแดง บีบน้ำมูกในลูกยางแดงทิ้งในกระดาษทิชชู่
- ทำซ้ำหลาย ๆ ครั้งได้ ในรูจมูกแต่ละข้างจนไม่มีน้ำมูก
วิธีล้างจมูก สำหรับเด็กเล็กที่ให้ความร่วมมือและสั่งน้ำมูกได้
- ให้ลูกนั่ง หรือยืนแหงนหน้าขึ้นเล็กน้อย
- ค่อย ๆ สอดปลายกระบอกฉีดยาเหมือนที่กล่าวมาข้างต้น และค่อย ๆ ฉีดน้ำเกลือครั้งละประมาณ 0.5 – 1 ซีซีหรือเท่าที่ลูกทนได้ หรืออาจใช้น้ำเกลือในรูปสเปรย์พ่นจมูกซึ่งมีจำหน่ายทั่วไป พ่นเข้าไปในจมูกของลูกแทนการฉีดน้ำเกลือ และให้ลูกกลืนน้ำเกลือที่ไหลลงคอเป็นระยะ ๆ ระหว่างฉีดน้ำเกลือ หรือให้บ้วนทิ้ง
- จากนั้น ให้ลูกค่อย ๆ สั่งน้ำมูกพร้อม ๆ กันทั้งสองข้าง ไม่ควรอุดรูจมูกอีกข้าง เพราะอาจทำให้แก้วหูทะลุได้
- ทำซ้ำหลาย ๆ ครั้งได้ ในรูจมูกแต่ละข้างจนไม่มีน้ำมูก
หลังจากที่ล้างจมูกเสร็จแล้ว ให้ล้างอุปกรณ์ที่ใช้ล้างจมูกให้สะอาดทุกครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเติบโต และเพิ่มปริมาณได้ การล้างจมูกลูกนั้น แรก ๆ อาจจะยาก และอาจจะดูลำบากสักหน่อย แต่เมื่อล้างจมูกลูกบ่อย ๆ ลูกกะจะเริ่มชิน และทำให้การล้างจมูกทำได้ง่ายขึ้นครับ
ที่มา rcot.org
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
เช็คด่วน! รูเล็กๆข้างหูของลูก สัญญาณร้ายที่ไม่ควรมองข้าม
พ่อแม่อย่าเมิน 17 วิธี เลี้ยงลูกให้เก่งกว่าคนอื่น
ลูกเหงื่อออกตอนนอน สัญญาณโรคร้ายที่พ่อแม่ต้องระวัง