ลูกแพ้อากาศ บ่อย ๆ พ่อแม่ช่วยลูกได้ด้วยวิธีเหล่านี้
ช่วงนี้อากาศเดี๋ยวร้อนเดี๋ยวหนาวบางวันฝนก็ตกอีกเอาแน่เอานอนไม่ได้ ! ทำให้ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ก็พากันป่วยกันเป็นแถวสำหรับคนที่เป็นภูมิแพ้ก็จะลำบากหน่อย เพราะอากาศเปลี่ยนนิด ๆ หน่อย ๆ ก็ป่วยแล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กเล็ก แล้วถ้าลูกเป็นภูมิแพ้อยู่แล้วยิ่งหนักเลยค่ะ ซึ่งอาการภูมิแพ้ของลูกพ่อแม่สามารถช่วยได้ ลูกแพ้อากาศ บ่อย ๆ พ่อแม่ช่วยลูกได้ด้วยวิธีเหล่านี้ !
ลูกแพ้อากาศ ลองใช้วิธีเหล่านี้
1. ปิดหน้าต่างสร้างความอบอุ่น
เมื่ออากาศหนาวมาเยือนต้องพยายามทำให้ภายในบ้านอบอุ่นก่อน เพราะว่าเมื่อลูกน้อยตื่นออกจากที่นอนแล้วต้องมาสัมผัสกับอากาศที่หนาวเย็นทันทีอาจทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทัน เมื่อลูกโดนอากาศเย็นมาก ๆ ก็อาจจะเกิดอาการภูมิแพ้ทันที เช่น จามทันทีเมื่อโดนอากาศเย็น และ น้ำมูกไหล เป็นต้น ทางที่ดีควรรอให้ลูกอาบน้ำแต่งตัวให้เรียบร้อยก่อนจะดีกว่าถึงจะเปิดหน้าต่างเพื่อให้อากาศถ่ายเทสะดวก
2. ล้างมือและเปลี่ยนเสื้อผ้าเมื่อลูกกลับบ้าน
เด็กบางคนไม่ได้เป็นภูมิแพ้เฉพาะอากาศเท่านั้น บางคนแพ้เกสร หรือตัวกระตุ้นอื่น ๆ ที่ไม่ได้ตั้งใจอยากจะสัมผัสแต่ลมมันพัดเอาสิ่งเหล่านั้นมาเอง ซึ่งวิธีป้องกันไม่ให้ลูกต้องเป็นภูมิแพ้ได้ในระดับหนึ่ง คือการล้างมือทำความสะอาด และเปลี่ยนเสื้อผ้าออก และอย่าให้ลูกเข้าไปในห้องนอนหลังจากไปข้างนอกหรือโรงเรียน เพราะฝุ่นละอองพวกนั้นมันจะไปกระจายตัวอยู่ในห้องนอนทำให้ลูกน้อยเกิดอาการแพ้ได้
3. เลือกช่วงเวลาที่ให้ลูกออกไปนอกบ้าน
กุมารแพทย์ได้แนะนำให้คุณแม่พาลูกน้อยออกไปรับแสงแดดอ่อน ๆ ในช่วงเช้าของวันเพื่อให้ร่างกายได้สร้างวิตามินดี อาจพาไปวิ่งเล่นหน้าบ้านหรือสนามเด็กเล่นในหมู่บ้านก็ได้ที่สำคัญ คือก่อนออกจากบ้านควรเช็คสภาพอากาศก่อนว่าวันนั้นแดดแรงไปไหม อากาศเป็นเย็นมากไปหรือเปล่าต้องแต่งตัวยังให้ลูกอบอุ่น และดูว่าฝนจะตกในเร็ว ๆ นี้หรือเปล่า เพราะเด็กที่เป็นภูมิแพ้มักจะป่วยง่ายกว่าปกติ
4. เลือกใช้ยาสำหรับลูกน้อยให้ถูกต้อง
แน่นอนว่าคนเป็นภูมิแพ้มักจะเกิดอาการคันตามเนื้อตัวหรือน้ำมูกไหลเป็นหวัดอยู่ตลอดเวลา สิ่งหนึ่งที่ช่วยบรรเทาอาการเหล่านี้ได้ก็คือ ยา ซึ่งถ้าอยากให้ยาใช้ได้ผลคุณพ่อคุณแม่ต้องให้ลูกทานยาอย่างสม่ำเสมอ โดยยาที่ใช้ก็จะมีหลายประเภท ได้แก่ ยาทา สเปรย์พ่นทางปากหรือจมูก ยาหยอดตา ฉีดวัคซีน รวมถึงยาเม็ดและยาน้ำ พ่อแม่ที่มีลูกเป็นภูมิแพ้อยู่บ่อย ๆ คงรู้ว่าลูกกินยาแบบไหนจะหาย ใช้ระยะเวลาเท่าไหร่ หากพ่อแม่ให้ลูกทานยาจนหมดหรือใช้ระยะเวลานานแต่ลูกไม่ดีขึ้นสักทีมีแต่อาการแย่ลงก็ควรพาลูกไปหาคุณหมอดีกว่าที่จะซื้อยาให้ลูกทานเอง เพื่อจะได้รักษาให้ตรงจุด
ปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์ก้าวหน้าไปมากเวลาคุณแม่พาลูกไปหาคุณหมออาจจะขอปรึกษาเรื่องการทดสอบโรคภูมิแพ้ของลูกได้ เพราะเด็กบางคนแพ้บ่อยอย่างไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งคุณหมอจะมีการทดสอบเพื่อเช็คว่าลูกของคุณแพ้อะไรบ้าง เมื่อคุณพ่อคุณแม่รู้ว่าลูกแพ้อะไรแล้วก็ควรหลีกเลี่ยงไม่ให้ลูกสัมผัสกับสิ่งเหล่านั้น ซึ่งการทดสอบอาจมีราคาสูงหน่อย พ่อแม่อาจเลือกทดสอบในกรณีที่ลูกแพ้บ่อยมากโดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดได้
บทความที่เกี่ยวข้อง : 12 ยาอันตรายต่อลูก ที่พ่อแม่ต้องรู้ ก่อนหยิบให้ลูกน้อยกิน
ยาแก้แพ้สำหรับเด็ก
ยาที่ใช้ในการรักษาโรคภูมิแพ้มักเป็นยากลุ่มแก้แพ้ หรือยาต้านฮิสตามีน (Antihistamines) ซึ่งมีสรรพคุณในการบรรเทาอาการน้ำมูกไหล อาการจามเนื่องจากหวัด บรรเทาอาการคันจากสาเหตุต่าง ๆ ลดสารคัดหลั่ง ยากลุ่มนี้จะออกฤทธิ์ในการยับยั้งผลของ ฮิสตามีน (Histamine) จึงมีผลทำให้ลดการหลั่งน้ำมูก มีอาการแพ้และอาการคันลดลง หลักการใช้ยาในเด็กมีความสำคัญอย่างมาก เพราะเด็กไม่ใช่ผู้ใหญ่ตัวเล็กการตอบสนองของยาในเด็ก และผู้ใหญ่ในบางด้านมีความแตกต่างกัน การใช้ยาในเด็กจึงควรคำนึงถึงขนาดที่เหมาะสม มีผลข้างเคียงต่ำ มีความปลอดภัยสูง ที่ใช้ในปัจจุบัน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
1. ยาต้านฮิสตามีนกลุ่มดั้งเดิม หรือยาต้านฮิสตามีนกลุ่มที่ทำให้ง่วงซึม
(First Generation Antihistamines)
เช่น คลอเฟนิรามีน (Chlopheniramine), ไดเมนไฮดริเนต (Dimenhydrinate), ไฮดรอไซซีน (Hydroxyzine), ทริโปรลิดีน (Tripolidine), บรอมเฟนิรามีน (Brompheniramine), คีโตติเฟน (Ketotofen) ยากลุ่มนี้สามารถใช้รักษาอาการเยื่อจมูกอักเสบเนื่องจากภูมิแพ้ที่มีอาการคัน จาม น้ำมูกไหล และมักให้ร่วมกับยาชนิดอื่นตามอาการที่แสดง ซึ่งยากลุ่มนี้มีความสามารถที่จะผ่านเข้าสู่สมองทำให้มีฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลางจึงทำให้ผู้ที่ใช้ยาเกิดอาการข้างเคียงที่พบได้บ่อย คือ อาการง่วงซึมและควรระมัดระวังการใช้ในเด็กที่อายุน้อยกว่า 2 ปี เพราะอาจทำให้เกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ แต่ในบางครั้ง กลุ่มผู้ได้รับยา โดยเฉพาะเด็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่ได้รับยาขนาดสูง อาจพบอาการตรงกันข้าม คือ
- กระวนกระวาย
- นอนไม่หลับ
- อยู่ไม่นิ่ง
ส่วนอาการข้างเคียงอื่น ๆ ที่ได้พบได้ เช่น ตาพร่ามัว จมูกแห้ง ปากแห้ง คอแห้ง เป็นต้น ผลข้างเคียงของยากลุ่มนี้ อาจมีผลทำให้เกิดอาการเสมหะเหนียวจึงไม่นิยมใช้ในเด็กที่อายุน้อย เพราะจะทำให้เสมหะขับออกยากขึ้น และยากลุ่มนี้มักมีช่วงเวลาในการออกฤทธิ์ที่สั้น เพียงประมาณ 4 – 6 ชั่วโมง จึงทำให้ต้องรับประทานยาหลายครั้งต่อวัน
2. ยาต้านฮิสตามีนกลุ่มที่สอง หรือ กลุ่มที่ไม่ทำให้ง่วงนอน
(Second Generation Antihistamines)
เป็นกลุ่มยาที่พัฒนามาจากยาต้านฮิสตามินกลุ่มดั้งเดิม เพื่อลดผลข้างเคียง ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่น ลอราทาดีน (Loratadine), เซทิริซีน (Cetirizine), เฟโซเฟนาดีน (Fexofenadine), เลโวเซทีริซีน (Levocetirizine), เดสลอราทาดีน (Desloratadine) เป็นต้น ยาในกลุ่มนี้สามารถรักษาอาการต่าง ๆ ได้คล้ายกับยากลุ่มดั้งเดิม คือเยื่อบุจมูกอักเสบเนื่องจากภูมิแพ้ เยื่อตาขาวอักเสบเนื่องจากภูมิแพ้ที่เป็นตามฤดูกาล ผื่นลมพิษ แต่มีฤทธิ์ในการผ่านเข้าสู่ระบบประสาทส่วนกลางน้อย ทำให้มีผลข้างเคียงในเรื่องการง่วงซึมที่น้อยกว่ากลุ่มดั้งเดิม จึงเหมาะกับวัยเด็กที่ต้องไปโรงเรียนรวมถึงลดผลข้างเคียงในเรื่อง จมูกแห้ง ปากแห้ง คอแห้ง ตาพร่ามัว และ มีระยะเวลาในการออกฤทธิ์ที่ยาวนานขึ้น ส่งผลให้สามารถรับประทานเพียง 1-2 ครั้งต่อวันขึ้นอยู่กับขนาด และชนิดของยา ฉะนั้นการเลือกซื้อยาแก้แพ้ ควรอ่านสรรพคุณให้ดีถี่ถ้วน เพื่อที่จะลดผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น และปลอดภัยต่อชีวิตลูกของคุณ
ลูกแพ้อากาศมีอาการแบบไหนและมีวิธีสังเกตอย่างไร ?
เมื่อลูกน้อยมีอาการป่วยมักจะสร้างความกังวลและความหนักใจให้กับคุณพ่อ-คุณแม่เป็นอย่างมาก ด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่างทั้งสงสารลูก ไม่เข้าใจสิ่งที่ลูกจะสื่อสาร เพราะลูกน้อยยังพูดไม่ได้ ดังนั้นวันนี้ TAP จึงอยากมาแนะนำวิธีสังเกตอาการภูมิแพ้ในเด็กมีสัญญาบ่งบอกอย่างไร มีอาการแบบไหน เพื่อให้คุณพ่อ-คุณแม่นำไปสังเกตอาการของลูกน้อยเมื่อมีอาการป่วย
อาการภูมิแพ้ในเด็กสามารถเกิดได้หลายระบบ
‘โรคภูมิแพ้ในเด็ก’ เป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้ในหลายระบบของร่างกายลูกน้อย อาทิ เช่น ผิวหนัง ทางเดินอาหาร และทางเดินหายใจ ซึ่งคุณพ่อ-คุณแม่สามารถสังเกตอาการภูมิแพ้ในเด็กได้ดังนี้
1. ระบบผิวหนัง
ถ้าหากลูกน้อยมีอาการผื่น แดง คัน หรือมีสภาพผิวที่แห้งมาก ๆ บริเวณใบหน้า ข้อพับ หรือตามร่างกาย ซึ่งจะเป็น ๆ หาย ๆ รวมถึงมีอาการผื่นลมพิษจนทำให้ลูกน้อยรู้สึกไม่สบายตัว อาการเหล่านี้ คือจุดเริ่มต้นของอาการภูมิแพ้ผิวหนังในเด็กนั่นเองค่ะ
2. ระบบทางเดินอาหาร
ภูมิแพ้ระบบทางเดินอาหารลูกน้อยจะมีอาการริมฝีปากบวม มีผื่นคันบริเวณรอบริมฝีปาก รวมถึงมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน แหวะนมบ่อย อีกทั้งยังมีปัญหาท้องอืด ถ่ายเหลว มีมูกเลือดปนในอุจจาระ ซึ่งเป็นสัญญาณที่คุณพ่อ-คุณแม่สามารถสังเกตเห็นอาการของลูกได้ทันที
3. ระบบทางเดินหายใจ
ภูมิแพ้อากาศหรือภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจเป็นประเภทของโรคภูมิแพ้ที่พบได้บ่อยในทารก เพราะทารกยังมีภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง โดยอาการจะมีในช่วงที่อากาศมีความเปลี่ยนแปลงจะเริ่มมีอาการคัดจมูก คันจมูก คันตา จามบ่อย น้ำมูกไหล ไอเรื้อรัง หรือมีอาการเหล่านี้ในบางช่วงเวลา เช่น จามน้ำมูกไหลในตอนเช้าแต่ไม่มีอาการในเวลาอื่น ๆ หรือมีอาการไอตอนกลางคืนและหายใจมีเสียงวี๊ด
โรคภูมิแพ้ในเด็กมีความอันตรายหรือไม่ !?
ปัญหาโรคภูมิแพ้ในเด็กทารกสามารถเป็นแล้วหายได้ถ้าเริ่มรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ หรือเมื่อเริ่มมีอาการ เพราะในปัจจุบันมีข้อมูลทำให้รู้จักโรคนี้เพื่อให้รับมือได้ดีมากขึ้น อีกทั้งยังมีการรักษาและมียาที่ดีทำให้โรคภูมิแพ้ในเด็กไม่ได้อันตรายอย่างที่คิด แต่.. ถ้าหากลูกน้อยมีอาการภูมิแพ้แต่ถูกปล่อยปละละเลยโดยที่ไม่ได้รับการรักษาอาจจะทำให้ลูกน้อยเป็นโรคภูมิแพ้เรื้อรังไปตลอดชีวิต ดังนั้นถ้าหากพบว่าลูกมีอาการภูมิแพ้ควรรีบพามาพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษา เพราะจะทำให้มีโอกาสหายขาดได้มากขึ้น
ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสัญญาณเบื้องต้นที่บ่งบอกถึงอาการโรคภูมิแพ้ในเด็กที่คุณพ่อ-คุณแม่สามารถสังเกตได้ เพื่อให้รู้เท่าทันอาการป่วยของลูกน้อยจะได้ดูแลและรักษาได้อย่างทันท่วงที !
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
แนะนำ 10 เครื่องฟอกอากาศสำหรับเด็ก ที่ดีที่สุดสำหรับลูกน้อย ซื้อติดบ้านได้เลย
ภูมิแพ้อากาศ โรคภูมิแพ้อากาศเป็นอย่างไร ภูมิแพ้อากาศเกิดขึ้นจากสาเหตุอะไร
ลูกแพ้อากาศ บ่อย ๆ พ่อแม่ช่วยลูกได้ด้วยวิธีเหล่านี้
ที่มา : harvard, gedgoodlife