อาการผื่นลมพิษเกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง?
อาการของน้องนัตตี้ จัดว่าเป็น “ผื่นลมพิษเฉียบพลัน” คือ มีอาการลมพิษไม่เกิน 6 สัปดาห์ สาเหตุที่พบบ่อยของผื่นลมพิษเฉียบพลันในเด็กคือการติดเชื้อ โดยเฉพาะเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย โดยไวรัสของระบบทางเดินหายใจพบ สาเหตุที่พบได้รองลงมาได้แก่ ยา เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาลดไข้สูง, อาหาร เช่น นมวัว ไข่ ถั่งลิสง แป้งสาลี และอาหารทะเล, แมลงสัตว์กัดต่อย เช่น ผึ้ง ต่อ แตน มด, สารก่อภูมิแพ้ เช่น ไรฝุ่น ละอองเกสรหญ้า ที่สูดดมหรือสัมผัส ก็เป็นสาเหตุของผื่นลมพิษเฉียบพลันได้เช่นกัน
ดังนั้น อาการที่เกิดขึ้น หากไม่มีประวัติที่สัมผัสสารก่อภูมิแพ้อื่นๆเลย ก็น่าจะคิดถึงสาเหตุจาก การติดเชื้อมากที่สุด รองลงมาก็คือ ยา โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะ
หากมีอาการผื่นลมพิษเช่นนี้ควรทำอย่างไร?
โดยปกติ ถ้าลูกมีอาการผื่นลมพิษเฉียบพลันเพียงไม่กี่ตำแหน่ง โดยไม่มีไข้ ไม่มีอาการผิดปกติอื่นๆ และไม่ได้ทานยาอะไรมาก่อน คุณพ่อคุณแม่สามารถให้รับประทานยาต้านฮิสตามีน และสังเกตอาการที่บ้านได้ หากอาการไม่หายไปภายใน 24 ชั่วโมงหรือมีอาการผิดปกติอื่นๆ ควรปรึกษาคุณหมอ
แต่สำหรับในกรณีนี้ น้องนัตตี้มีผื่นลมพิษ มีไข้สูงร่วมกับเจ็บคอ และยังมีประวัติทานยาปฏิชีวนะร่วมด้วย ก็ควรไปพบคุณหมอเพื่อให้คุณหมอสอบถามประวัติโดยละเอียด ตรวจร่างกาย รวมถึงส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมตามความจำเป็น เพื่อการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง คุณหมอก็จะจัดการรักษาผื่นลมพิษพร้อมกับรักษาหรือแก้ไขที่สาเหตุนั้นๆ เช่น ให้รับประทานยาต้านฮิสตามีนหรือยากดภูมิคุ้มกันตามความเหมาะสม หากคิดว่าสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อไวรัสก็จะรักษาตามอาการที่มี และงดยาปฏิชีวนะทันที หากคิดว่าสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียก็จะเปลี่ยนยาปฏิชีวนะเป็นชนิดอื่น ที่มีโอกาสแพ้น้อย หากคิดว่าสาเหตุเกิดจากยา หรือสิ่งกระตุ้นอื่นๆ ก็กำจัดสิ่งนั้นออกไปค่ะ
หากไม่เคยแพ้ยาปฏิชีวนะชนิดใดจากมาก่อน ก็ไม่น่าจะแพ้ยาในการใช้ครั้งต่อๆมา ใช่หรือไม่?
หากเราไม่เคยมีประวัติการแพ้ยามาก่อน คุณหมอจะไม่สามารถคาดการณ์ได้เลยว่าจะเกิดการแพ้ยาหรือไม่ หากแพ้จะมีอาการอย่างไร อาการจะเกิดขึ้นเมื่อใด
แม้ว่าจะไม่เคยมีประวัติแพ้ยาชนิดที่เคยใช้อยู่ หากมีการใช้ยาในครั้งต่อๆไปก็อาจเกิดการแพ้ยาได้ เราทุกคนจึงมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดการแพ้ยาได้ทุกชนิดค่ะ โดยเฉพาะยาที่เคยมีรายงานการแพ้บ่อยๆ แต่โดยรวมแล้วการแพ้ยาก็เกิดขึ้นไม่บ่อยนักนะคะ สำหรับการวินิจฉัยแพ้ยา จะใช้การสอบถามประวัติการใช้ยาที่เกี่ยวข้องทั้งหมด การตรวจร่างกายว่ามีอาการแสดงต่างๆของการแพ้จริง และการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม ซึ่งยาปฏิชีวนะหลายชนิดสามารถทดสอบการแพ้ได้ด้วยการทดสอบทางผิวหนัง (skin test) การเจาะเลือด และการทดสอบโดยให้ทานยาชนิดนั้นทีละนิดแล้วเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดโดยแพทย์ (oral challenge test)
สำหรับในกรณีของน้องนัตตี้ คุณหมอภูมิแพ้อาจจะนัดมาทำการทดสอบแพ้ยา amoxicillin ในภายหลัง เมื่ออาการป่วยทั้งหมดดีขึ้นแล้วค่ะ
บทความที่น่าสนใจอื่นๆ
อันตราย!! เด็กเล็กใช้ยาเพนนิซิลลินเสี่ยงแพ้ยาได้
แชร์ประสบการณ์ลูกแพ้ยาลดไข้จนปากบวม