คุณแม่ ๆ ที่กำลังตั้งครรภ์อยู่เคยสงสัยกันหรือไม่คะว่า เพราะอะไร ทำไมทารกในครรภ์ถึงต้องดิ้น เพราะหิวหรือว่าเพราะต้องการทักทายเรากันแน่ แล้วเมื่อไหร่ละที่เราจะรู้สึกได้ถึงสัมผัสนั้น ถ้าอยากรู้แล้ว เชิญไปหาคำตอบได้พร้อม ๆ กันเลยค่ะ
หลาย ๆ ครั้งที่เรามักจะได้พบเห็นคลิปของทารกในครรภ์ดิ้นอยู่ในท้องคุณแม่ จนทำให้ท้องกลายเป็นรูปทรงบูด ๆ เบี้ยว ๆ บ้าง และนี่คือสาเหตุทั้งหมดว่าทำไมลูกถึงต้องดิ้น
1. คุณแม่ส่วนใหญ่มักจะรู้สึกและสัมผัสได้ว่าลูกดิ้น ตอนมีอายุครรภ์ได้ 24 สัปดาห์ แต่หารู้ไม่ว่า จริง ๆ แล้วพวกเขาดิ้นเก่งกันมาก่อนหน้านี้ตั้งแต่ตอนมีอายุครรภ์ได้ที่ 6-7 สัปดาห์แล้วละค่ะ เพียงแต่พวกเขายังตัวเล็กเกินไป ทำให้คุณแม่อาจจะยังไม่สามารถรับรู้ถึงความรู้สึกนั้นได้
2. เพราะทารกในครรภ์มีพัฒนาการที่สมบูรณ์และตัวใหญ่ขึ้น จึงไม่แปลกที่พื้นที่ในครรภ์ของมารดาจะมีขนาดเล็กและคับแคบลง ส่งผลให้ทารกในครรภ์รู้สึกเมื่อย และการดิ้นนี่แหละค่ะ เป็นการออกกำลังกายและการยืดเส้นยืดสายได้ดีที่สุด จึงไม่แปลกหากคุณแม่จะสัมผัสได้ถึงความรู้สึกนั้น เพราะนั่นแสดงว่าพวกเขากำลังหกคะเมนตีลังการอยู่ในท้องของคุณแม่นั่นเองค่ะ
3. โดยปกติแล้วทารกในครรภ์จะดิ้นประมาณ 200 ครั้งต่อวัน ขณะที่คุณแม่มีอายุครรภ์ประมาณ 20 สัปดาห์ และจะดิ้นมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะมีการพัฒนาระบบประสาทและกล้ามเนื้ออย่างต่อเนื่อง จนสามารถดิ้นได้สูงสุดขณะที่คุณแม่มีอายุครรภ์ประมาณ 30-32 สัปดาห์ ซึ่งอัตราการดิ้นอาจสูงถึง 375-700 ครั้งต่อวัน แต่หลังจากนั้นลูกจะดิ้นน้อยลง เนื่องจากลูกตัวโตขึ้นจนเต็มโพรงมดลูก ทำให้มีพื้นที่ในการดิ้นน้อยลง
4. วิธีการนับลูกดิ้นนั้น มีหลากหลายวิธีค่ะ ซึ่งวิธีที่เป็นที่นิยมแพร่หลายก็ได้แก่
- Sadovsky วิธีการนี้ให้นับวันละ 3 ครั้งหลังอาหารทุกวัน ถ้าน้อยกว่า 3 ครั้งต่อชั่วโมง ให้นับต่ออีก 6 – 12 ชั่วโมงต่อวัน รวมจำนวนครั้งที่ดิ้นทั้งหมดคิดเป็น 12 ชั่วโมงถ้าน้อยกว่าเท่ากับ 10 ครั้ง ถือว่าทากรดิ้นน้อยลง
- The Cardiff “ Count – to – ten charf ” คือ การนับจำนวนทารกเคลื่อนไหวตั้งแต่ 9.00 น. จนครบ 10 ครั้ง ซึ่งไม่ควรใช้เวลาเกิน 12 ชั่วโมง (ถึง 21.00 น.)
5. การที่ลูกดิ้นน้อยลงสามารถบอกได้ว่า ทารกในครรภ์อาจมีภาวะเครียด เช่น ขาดออกซิเจนการไหลเวียนของเลือดที่รกลดลง ทารกจะเคลื่อนไหวน้อยลงก่อนหรือหยุดไป เชื่อว่า เกิดจากการกดระบบประสาท หรืออาจเป็นเพราะร่างกายต้องการลดพลังงานและออกซิเจน เพื่อสงวนไว้ให้อวัยวะที่สำคัญ ๆ เช่น สมองและหัวใจ เป็นต้น ถ้าหากพบว่าทารกในครรภ์ดิ้นน้อยลงจริง ควรรีบไปพบคุณหมอโดยด่วน เพื่อประเมินสุขภาพของทารกในครรภ์ด้วยวิธีการอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น การตรวจอัตราการเต้นของหัวใจทารกโดยใช้คลื่นไฟฟ้า เป็นต้น
ทั้งนี้ทั้งนั้น อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ลูกดิ้นน้อยลงก็คือ ภายหลังจากที่คุณแม่มีอายุครรภ์ที่ 36 สัปดาห์ขึ้นไป พื้นที่ในครรภ์ของคุณแม่มีขนาดเล็กลง แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะไม่มีการขยับตัวนะคะ ทารกในครรภ์ยังคงมีการขยับตัว ขยับฝ่ามือแขนขาเหมือนเดิม เพียงแต่จะให้ขยับเหมือนเมื่อก่อน ก็คงจะทำไม่ได้แล้วละค่ะ
ที่มา: Belly Belly