เด็กในช่วงวัย 3 ขวบขึ้นไป เริ่มมีพัฒนาการทางร่างกาย ความเคลื่อนไหว การพูดและมีความคิดเป็นของตัวเองมากขึ้น เมื่อเริ่มเข้าอนุบาลลูกจะเริ่มมีสังคม มีกลุ่มเพื่อน ร่างกายที่เริ่มแข็งแรงและสมบูรณ์สำหรับเด็กวัยนี้มีแขนขาที่คล่องแคล่ว เล่นอะไรก็สนุกไปทุกอย่าง แต่นิสัยของเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน เมื่อคุณพ่อคุณแม่สังเกตว่า ทำไม ลูกชอบเล่นแรงๆ โดยไม่รู้ตัวสิ่งที่เขาทำนั้นทำให้เพื่อนเจ็บ จนไม่มีใครอยากเล่นด้วย
ทำไม ลูกชอบเล่นแรงๆ
พัฒนาการทางร่างกายของเด็กในวัย 3 ขวบขึ้นไป เริ่มใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กมัดใหญ่ของตัวเองได้อย่างเต็มที่แล้ว อย่างที่เรียกว่าแรงมีเท่าไหร่ก็ใส่เข้าไปเท่านั้น เป็นการแสดงออกถึงความพอใจต่อพละกำลังของร่างกายที่ลูกค้นพบ จนมองว่าลูกมีนิสัยเป็นเด็กก้าวร้าวหรือเปล่านะ
ในวัยนี้ถึงแม้ลูกจะเริ่มมีความคิดเป็นตัวของตัวเอง แต่ในระหว่างที่เล่นแบบใช้กำลังนั้น เด็กก็ยังไม่สามารถใช้ความคิดอย่างมีเหตุผลแบบผู้ใหญ่ได้ วิธีที่จะช่วยหาทางออกให้ลูกที่ชอบเล่นแรง ลดความก้าวร้าว และทำให้ลูกดูซอฟท์ขึ้นนั้น พ่อแม่ช่วยได้ค่ะ
ลูกชอบเล่นแรงๆ หาทางออกอย่างไรให้นุ่มนวลขึ้น
- สังเกตลูกอย่างใกล้ชิด
ใช้เวลาร่วมกับลูกในขณะที่พาลูกออกไปเล่นนอกบ้านร่วมกับเด็กคนอื่นนั้น หากลูกเล่นแรง ๆ กับเพื่อน ควรแยกตัวลูกออกมาเพื่ออธิบายถึงสิ่งที่ไม่ควร ด้วยวาจาที่นุ่มนวล และสอนให้ลูกรู้จักขอโทษคนอื่นเมื่อทำผิด
- สอนให้ลูกรู้จักหน้าที่ของมือแขนขาที่ควรทำ
หากพบปัญหาว่าลูกใช้ความรุนแรงกับการเล่นที่จริงจัง หรือทำอะไรที่ดูเหมือนจะเป็นอันตรายกับตัวเอง ผู้อื่น หรือสิ่งของต่าง ๆ คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกเห็นถึงการใช้มือแขนขาทำในสิ่งที่ถูกต้อง เป็นตัวอย่างให้ลูกเห็น มากกว่าการจะกล่าวดุด่าหรือลงโทษ เพราะจะยิ่งทำให้ลูกมีอาการดื้อต่อต้านและก้าวร้าวเข้าไปอีก
- ใช้ดนตรี นิทาน การเล่น ฯลฯ ปรับพฤติกรรมลูกอย่างเนียน ๆ
เมื่อพบพฤติกรรมที่ลูกชอบเล่นแรง ควรแยกลูกออกมาจากกลุ่ม เบี่ยงเบนความสนใจด้วยการเล่านิทานแฝงคติสอน หรือชวนลูกร้องเพลงด้วยท่าทางประกอบสนุก ๆ เล่นกับลูกด้วยการสัมผัสลูบตัวด้วยเกมปูไต่ เล่นจ๊ะเอ๋ ซ่อนแอบ ทำให้ลูกอารมณ์ดีและมีความสุขเพื่อลดพฤติกรรมรุนแรง
- ทำจังหวะชีวิตให้เป็นปกติ
พฤติกรรมที่ลูกชอบเล่นแรงๆ มีความก้าวร้าว อาจมีสาเหตุจากปัจจัยรอบข้างหรือพฤติกรรมจากพ่อแม่ที่ใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบ รีบกิน รีบทำ รีบนอน ฯลฯ ทำให้ใช้เวลากับลูกไม่เต็มที่ อาจส่งผลให้ลูกแสดงออกมาเพื่อเรียกร้องความสนใจจากพ่อแม่ได้ ดังนั้นพ่อแม่ควรปรับพฤติกรรมตัวเองเพื่อเป็นกระจกสะท้อนให้ลูกดูนะคะ
หากคุณพ่อคุณแม่คิดว่าบทความนี้มีประโยชน์ อย่าลืมแชร์เพื่อเป็นประโยชน์แก่พ่อแม่ท่านอื่นที่มีลูกอยู่ในวัยเดียวกันด้วยนะคะ
ที่มา : www.familyweekend.co.th
บทความอื่นที่น่าสนใจ :
ทำไมลูกชอบกัดเล็บ ดูดนิ้ว ดึงผม นิสัยแบบนี้แก้หายไหม