สารอาหารในนมแม่นั้นมีคุณสมบัติพิเศษต่อการเติบโตของจุลินทรีย์ Bifidus
คุณแม่ทราบหรือไม่ ลำไส้ของลูกน้อยในครรภ์ จะอยู่ในสภาพเกือบปลอดเชื้อ และจะเริ่มมีการเข้ามาของกลุ่มแบคทีเรีย (Bacterial colonization) หรือจุลินทรีย์ประจำถิ่นถ่ายทอดมายังลูก ทารกที่เกิดโดยการผ่าท้องคลอด จะขาดโอกาสที่ได้รับเชื้อดีๆ จากเมือกที่ช่องคลอดของแม่ แต่จะเสี่ยงได้รับเชื้อภายในห้องผ่าตัด โดยผ่านจากอุปกรณ์ อากาศ หรือจากทารกคนอื่นๆ และเจ้าหน้าที่พยาบาลที่ดูแล เชื้อเหล่านี้มักเป็นเชื้อดื้อยา เมื่อเข้าไปยึดพื้นที่ในลำไส้จะกระตุ้นเนื้อเยื่อน้ำเหลืองให้สร้างภูมิต้านทานหนักไปทางด้านก่อการอักเสบและภูมิแพ้ และมีข้อมูลสนับสนุนว่าทารกที่เกิดโดยการผ่าคลอดเสี่ยงต่อการเกิดโรคภูมิแพ้สูงกว่าการคลอดแบบธรรมชาติ
ในร่างกายจึงประกอบไปด้วยเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นมิตรและศัตรู การที่เชื้อจุลินทรีย์ต่างๆ จะมีการเจริญเติบโตต่อไปได้ดีหรือไม่ ปัจจัยด้านโภชนาการก็เป็นส่วนสำคัญ หากลูกได้กินนมแม่ตั้งแต่แรกเกิด จะทำให้ Bifidobacteria ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่เป็นมิตรต่อลำไส้ของลูกเจริญเติบโต ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและลดความเสี่ยงของการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารและทางเดินหายใจ (หรือโรคภูมิแพ้) ได้
คุณค่าดีๆจากนมแม่ ที่อุดมไปด้วยจุลินทรีย์ Bifidus
ในนมแม่อุดมไปด้วยสารอาหารต่างๆ มากมายที่ครบถ้วนและเพียงพอต่อความต้องการของลูกมากที่สุด ทารกจึงควรได้รับนมแม่อย่างน้อย 2 ปี สารอาหารและประโยชน์ที่ในนมแม่จะช่วยให้
- ในนมแม่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 ช่วยสร้างสารบำรุงประสาทและสมอง ช่วยเสริมสร้างความฉลาดสมวัย
- ในนมแม่มี lutein ช่วยบำรุงสายตา taurine ส่งเสริมพัฒนาการของระบบประสาททำให้สายตาดี ช่วยให้ทารกแรกเกิดสามารถมองเห็นได้เร็วขึ้น จะส่งผลให้ทารกเกิดการเรียนรู้ได้เร็วขึ้น
- ในนมแม่มี nucleotide ช่วยเพิ่มความต้านทานและเป็นอาหารของ Bifidus ด้วย เมื่อ จุลินทรีย์ Bifidus เจริญเติบโตอยู่ในลำไส้ จะช่วยส่งผลให้ลูกน้อยมีภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้น
- ในนมแม่ยังมีโปรตีนต่ำประมาณ 1 กรัมต่อน้ำนมแม่ 100 ซีซี มีการศึกษาพบว่า ทารกที่กินนมแม่แม้ว่าจะอ้วนในวัยเด็กเนื่องจากนมแม่มีรสหวานกว่านมวัวผสม แต่เมื่อติดตามในระยะยาวจะพบว่ามีภาวะอ้วนไม่ชุกเท่ากับเด็กที่เคยกินนมวัวผสมในวัยทารก เพราะในนมแม่มีไขมันพอเหมาะ แต่มีน้ำตาล lactose และ oligosaccharide สูง lactose จะถูกย่อยและหมักโดย lactobacilli ที่ลำไส้เล็ก และให้ผลผลิตเป็น lactate ซึ่งเป็น growth factor กระตุ้นเยื่อบุลำไส้ที่ลำไส้เล็กให้เพิ่มขนาดและแบ่งตัวเพิ่มจำนวนจึงทำหน้าที่ย่อยและดูดซึมสารอาหารได้ดี
- ในนมแม่มีธาตุเหล็กมีธาตุเหล็กต่ำ แต่ทว่าดูดซึมได้ง่าย ธาตุเหล็กมีบทบาทสำคัญสำหรับพัฒนาการของสมองและอวัยวะต่างๆ
แค่ให้ลูกกิน “นมแม่” ก็ช่วยสร้างจุลินทรีย์ Bifidus
ในลำไส้ของลูกน้อยมีจุลินทรีย์เป็นมิตรที่เราเรียกว่า Bifidus ซึ่งทำหน้าที่ช่วยสร้างสารปกป้องผิวเยื่อบุลำไส้ให้แข็งแรงและช่วยลดอัตราการป่วยด้วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจลงได้ อาหารที่ช่วยในการเจริญเติบโตของBifidus ได้แก่ oligosaccharide ที่มีอยู่ในนมแม่ ซึ่งกระบวนการย่อยเกิดขึ้นตั้งแต่ในปากเมื่อลูกน้อยกินนมแม่เข้าไป จะถูกย่อยออกมาในรูปของ oligogalactose และ oligofructose เรียกว่าพรีไบโอติก ซึ่งไม่ถูกดูดซึม จะผ่านมาที่ลำไส้ใหญ่ พรีไบโอติคทั้งสองตัวนี้จึงเป็นอาหารให้ Bifidusที่เกาะอยู่ตามผนังลำไส้จึงมีจำนวนเพิ่มขึ้น และให้ผลผลิตเป็นกรดไขมัน 3 ตัว ได้แก่ acetate, proprionate และ butyrate สองชนิดแรก ถูกดูดซึมเข้าร่างกายและถูกนำมาใช้เป็นพลังงาน ส่วน butyrate มีหน้าที่ในการดูดซึมเกลือและน้ำจากลำไส้ใหญ่ และมีส่วนในการกระตุ้นให้เซลล์เยื่อบุลำไส้ใหญ่ลอกหลุด ด้วยความรู้นี้เองการกินนมที่มี Bifidus อาจมีส่วนช่วยป้องกันเนื้องอกในลำไส้ใหญ่ด้วย
ดังนั้นในน้ำนมแม่… จุลินทรีย์ Bifidus หรือ Bifidobateria และLactobacilli ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ จึงช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในลำไส้ของลูกน้อย และเป็นส่วนสำคัญให้ร่างกายเจริญเติบโตแข็งแรงได้เป็นอย่างดี
เรียบเรียงโดย ศ. เกียรติคุณ พญ. วันดี วราวิทย์