ลงทะเบียนเงินอุดหนุนบุตร ปี61
ลงทะเบียนเงินอุดหนุนบุตร ปี61 ลงทะเบียนกันยังแม่ แถมข่าวดี! พ่อแม่ประกันสังคม มีสิทธิ์ได้เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดด้วยนะ
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข ดำเนินโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด โดยจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดในครอบครัวยากจน รายได้น้อยตั้งแต่แรกเกิด – 1 ปี รายละ 400 บาท ต่อเนื่องในปีงบประมาณ 2559 และเพิ่มเงินอุดหนุนเป็นรายละ 600 บาท ต่อเนื่องในปีงบประมาณ 2560
ตั้งแต่เด็กแรกเกิด – 3 ปี โดยกลุ่มเป้าหมายที่รับลงทะเบียน ดังนี้ 1.เด็กที่เกิดในปีงบประมาณ 2559 และปีงบประมาณ 2560 (ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 – วันที่ 30 กันยายน 2560) จะได้รับเงินรายละ 600 บาทต่อเดือน ตั้งแต่เดือนที่มาลงทะเบียนจนเด็กอายุครบ 3 ปี 2.หญิงตั้งครรภ์ และเด็กที่เกิดในปีงบประมาณ 2561 (ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 – 30 กันยายน 2561) จะได้รับเงินรายละ 600 บาท ต่อเดือน ตั้งแต่เดือนที่เกิดจนอายุครบ 3 ปี
เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด 2561
*เด็กที่เกิดในปีงบประมาณ 2561 (ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 ถึง 30 กันยายน 2561) และมารดา บิดา หรือผู้ปกครอง ยื่นลงทะเบียนขอรับสิทธิ์เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ภายในวันที่ 30 กันยายน 2561 จะได้รับเงินรายละ 600 บาท ตั้งแต่เดือนที่เด็กเกิดจนเด็กอายุครบ 3 ปี*
เอกสารหลักฐานประกอบการลงทะเบียน
- แบบลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิฯ (แบบ ดร.01)
- แบบรับรองสถานะของครัวเรือน (แบบ ดร.02)
- สำเนาบัตรประชาชนของบิดา มารดาของเด็ก
- สำเนาทะเบียนบ้านของบิดามารดาของเด็ก
- สำเนาเอกสารแสดงการฝากครรภ์ หรือสำเนาสมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก หน้าที่ 1
- สำเนาสูจิบัตรเด็กแรกเกิด (ยื่นหลังคลอดบุตร) ที่ได้รับการรับรองแล้ว
- สำเนาหน้าบัญชีธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ลงทะเบียนเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดได้ตามสถานที่ ดังต่อไปนี้
- ในกรุงเทพมหานคร ให้ไปลงทะเบียนได้ที่สำนักงานเขตต่าง ๆ
- ในต่างจังหวัดให้ไปลงทะเบียนที่สำนักงานเทศบาล หรือที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบล
- ในพัทยา ให้ไปลงทะเบียนได้ที่ศาลาว่าการเมืองพัทยา
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่
- สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.)
- กรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) โทร. 0-2651-6532
- ศูนย์ช่วยเหลือสังคม (OSCC) โทร. 1300 ตลอด 24 ชั่วโมง
อ่าน พ่อแม่ประกันสังคม มีสิทธิ์ได้เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด หน้าถัดไป
พ่อแม่ประกันสังคม มีสิทธิ์ได้เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้ยกเลิกเงื่อนไขผู้มีสิทธิ์ได้รับเงินอุดหนุน เพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดต้องไม่เป็นผู้อยู่ในระบบประกันสังคม (นอกระบบประกันสังคม) โดยให้เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดจนครบอายุ 3 ปี หรือ 36 เดือน ที่อยู่ในครอบครัวยากจนหรือเสี่ยงต่อความยากจนเป็นเงินรายละ 600 บาทต่อเดือน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำให้ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมได้รับสวัสดิการพื้นฐานแห่งรัฐและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่เด็ก ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ เริ่มดำเนินการปีงบประมาณ 2561 หากไม่เพียงพอให้จัดทำรายละเอียดแผนปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายขอรับจัดสรรงบตามความจำเป็นต่อไป
เนื่องจากผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมจะมีสิทธิ์ได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีต่าง ๆ ต่อเมื่อมีการจ่ายเงินสมทบครบตามเงื่อนไขการเกิดสิทธิ์ ดังนั้น สิทธิประโยชน์กรณีสงเคราะห์บุตรจึงเป็นสิทธิ์ของผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบครบตามเงื่อนไขการเกิดสิทธิ์ จึงเห็นว่าผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมควรมีสิทธิ์ได้รับสวัสดิการพื้นฐานแห่งรัฐเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไปด้วย เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของผู้อยู่ในระบบประกันสังคมในการดูแลบุตรและบุตรของผู้อยู่ในระบบประกันสังคมได้รับการดูแลอย่างมีคุณภาพ
จากที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการยกเลิกเงื่อนไขที่กำหนดว่า ผู้มีสิทธิ์ได้รับเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดต้องไม่เป็นผู้อยู่ในระบบประกันสังคม
*และให้เชื่อมโยงข้อมูลจากฐานข้อมูลผู้มีรายได้น้อยตามโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ*
เพื่อนำมาใช้เป็นเกณฑ์กำหนดคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด รวมทั้งปรับปรุงกระบวนการตรวจสอบและรับรองสิทธิ์ผู้เข้าร่วมโครงการ โดยเริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ 2561
อ่านเพิ่มเติม
แบบลงทะเบียนเพื่อขอรับสิทธิ์เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ประจำปีงบประมาณ 2561 (แบบ ดร.01)
ที่มา : https://www.tnamcot.com/
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
เงินเด็กแรกเกิดกับเงินสงเคราะห์บุตร ต่างกันมั๊ย ได้เมื่อไหร่ ต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง
กองทุนประกันสังคม เพิ่มเงิน สงเคราะห์เพื่อการคลอดบุตรเป็น 30,000 บาท
วิธีคุยกับลูกในท้อง เพิ่มทักษะและพัฒนาการทารกในครรภ์ก่อนคลอด