ประกันสังคมจ่อปรับฐานคำนวณเงินสมทบใหม่ โดยปรับฐานเงินเดือนสูงสุดจาก 15,000 บาท เป็น 20,000 บาท ชี้ เงินเดือนเกิน 20,000 บาท จ่ายเงินสมทบเพิ่มจาก 750 บาท เป็น 1,000 บาท ย้ำปรับฐานคำนวณเพิ่มความมั่นคงผู้ประกันตน รับเงินออมเพิ่ม – เงินชดเชยขาดรายได้เพิ่ม คาด กระทบคนจ่ายเงินสมทบเพิ่ม 20% คาด 6 เดือนออกประกาศเป็นกฎกระทรวง
เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา ณ โรมแรมรามาการ์เดนส์ นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวในงานประชุมรับฟังความคิดเห็นการปรับปรุงจำนวนเงินที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ว่า ในการปรับเพิ่มกรณีผู้ประกันตนมาตรา 33 จากเดิมอัตราขั้นต่ำอยู่ที่ 1,650 บาท และสูงสุดอยู่ที่ 15,000 บาทต่อเดือน เป็นต่ำสุดมี 2 แนวทาง คือ 3,600 บาท หรือ 4,500 บาท และสูงสุดเป็น 20,000 บาทต่อเดือน และกรณีมาตรา 39 ซึ่งเดิมใช้ฐานค่าจ้างที่ 4,800 บาทต่อเดือน อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะปรับเพิ่มมาเป็นที่ 7,800 บาท หรือ 6,700 บาทต่อเดือน เป็นการพิจารณาปรับเพิ่มในรอบ 26 ปี ตั้งแต่ที่มีการก่อตั้งสำนักงานประกันสังคมมา ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบัน โดยเฉพาะกรณีก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยหลักการเพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์และความมั่นคงของชีวิต
นอกจากนี้ ยังมีการพิจารณาปรับเพิ่มทุก ๆ 5 ปี เบื้องต้นจะมีการออกเป็นกฎกระทรวง เนื่องจากการแก้ พ.ร.บ. ประกันสังคม มีการใช้เวลานาน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการทำประชาพิจารณ์ 4 ภาค ผ่านมาแล้ว 2 ครั้ง ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการปรับฐานการคำนวณเงินสมทบใหม่ แต่มีบางส่วนเห็นว่าควรปรับตามสภาพเงินเดือนของแต่ละคน เพราะบางคนเงินเดือนสูงก็อยากให้มีการจ่ายเงินเพิ่มเพื่อเป็นหลักประกันในยามชราภาพ
นายโกวิท สัจจวิเศษ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายประกันสังคม กล่าวว่า ผู้ประกันตนมาตรา 33 นั้น การปรับฐานการคำนวณเก็บเงินสมทบเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็น 20,000 บาท ไม่ได้หมายความว่า ทุกคนจะใช้ฐาน 20,000 บาท ในการคำนวณ แต่ยังคิดตามฐานเงินเดือนจริง ส่วนผู้ที่เงินเดือนสูงเกิน 20,000 บาท ก็จะใช้ฐานคำนวณที่ 20,000 บาท ซึ่งการปรับเพิ่มฐานคำนวณสูงสุดจาก 15,000 บาท เป็น 20,000 บาท จะมีผู้ประกันตนและนายจ้างที่ได้รับผลกระทบต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพียง 20% เท่านั้น จากจำนวนผู้ประกันตนทั้งหมด 13 ล้านคน เพราะส่วนใหญ่ฐานเงินเดือนจะไม่เกิน 15,000 บาท ทั้งนี้ การคำนวณเงินสมทบจะคิดอยู่ที่ 5% ของเงินเดือน แต่จะได้รับเงินออมอยู่ที่ 6% ดังนั้น จากเดิมฐานคำนวณสูงสุด คือ 15,000 บาท ต้องจ่ายเงินสมทบที่ 750 บาทต่อเดือน ได้รับเงินออม 900 บาทต่อเดือน เมื่อปรับเป็น 20,000 บาท จะจ่ายเงินสมทบสูงสุดที่ 1,000 บาทต่อเดือน แต่ได้รับเงินออมสูงสุดที่ 1,200 บาทต่อเดือน ส่วนผู้ประกันตนมาตรา 39 ยังใช้การคำนวณที่ 9% เช่นเดิม โดยปัจจุบันใช้ฐาน 4,800 บาท จะจ่ายสมทบต่อเดือนที่ 432 บาท หากปรับฐานเป็น 7,800 บาท จะจ่ายเงินสมทบที่ 702 บาทต่อเดือน หากใช้ฐาน 6,700 บาท จะจ่ายเงินสมทบที่ 603 บาทต่อเดือน ทั้งนี้ การปรับเพิ่มฐานคำนวณยืนยันว่าเพื่อความมั่นคงของผู้ประกันตน เพราะเงินที่เพิ่มขึ้นก็ไปเพิ่มในสิทธิประโยชน์ต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องของเงินออมและเงินชดเชยการขาดรายได้
“สำหรับการคืนสิทธิครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ซึ่งต้องออกเป็น พ.ร.บ. คาดว่า จะออกได้ภายใน 6 เดือนนี้ เพราะมีไม่กี่มาตรา และขอย้ำว่า ครั้งนี้จะเป็นการคืนสิทธิครั้งสุดท้าย มิเช่นนั้น จะมีการขอคืนสิทธิไม่หยุดหย่อน ซึ่งในการปรับฐานเงินเดือนและการคืนสิทธิครั้งนี้ จะทำให้ผู้ประกันตนตามมาตราดังกล่าวได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น มีเงินออมเพิ่มขึ้น เงินชดเชยการขาดรายได้ก็เพิ่มขึ้นด้วย การปรับฐานการคำนวณนั้นจะมีการออกเป็นกฎกระทรวงแรงงาน ซึ่งอย่างต่ำจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน” นายโกวิท กล่าว
นายมานิตย์ พรหมการีย์กุล คณะกรรมการประกันสังคมสัดส่วนลูกจ้าง กล่าวว่า จากการพูดคุยกันในกลุ่มลูกจ้างทุกคนเห็นด้วยกับการปรับฐานการคำนวณเงินสมทบ และจากการคำนวณทางคณิตศาสตร์ประกันภัย โดยนึกถึงลูกจ้างและนายจ้าง เห็นว่า ฐานขั้นต่ำ 3,600 บาท และสูงสุดไม่เกิน 20,000 บาทนั้นอยู่ในอัตราที่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน แต่โดยส่วนตัวอยากให้คนที่เงินเดือนเกิน 20,000 บาท ใช้การคำนวณเงินสมทบตามฐานเงินเดือนจริงเป็นขั้นบันไดด้วย
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ผู้แทนนายจ้าง กล่าวว่า การปรับฐานการคำนวณเงินสมทบ นายจ้างย่อมได้รับผลกระทบแน่นอน เพราะเป็นภาระที่เพิ่มขึ้นแก่กลุ่มนายจ้าง แต่เป็นหน้าที่ที่ต้องทำ เพื่อเสริมสร้างให้ลูกจ้างมีหลักประกันที่มั่นคงขึ้น เชื่อว่า คนส่วนมากเห็นด้วยกับการปรับครั้งนี้ และเป็นขวัญกำลังใจของคนทำงานมากขึ้น ซึ่งหากลูกจ้างมีขวัญกำลังใจที่ดี ไม่มีความกังวลในเรื่องของเงินออม ก็จะทำให้การทำงานออกมามีประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่ดี ก็ถือเป็นประโยช์กับนายจ้างด้วยเช่นกัน
ที่มา: MGR Online
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
ก่อนใช้ควรเช็ค 14 โรคที่ประกันสังคมไม่คุ้มครอง
แม่ท้องรู้ยัง เช็คสิทธิประกันสังคมผ่านแอพได้แล้วนะ