ย้อนไปเมื่อสองปีที่แล้ว เมื่อครั้งลูกชายของคุณแม่มีอายุได้เพียง 5 เดือนแทนที่จะได้ใช้ชีวิตสนุกสนานเหมือนกับเด็กคนอื่นๆ กลับต้องเข้ารับการผ่าตัดเพราะลำไส้กลืนกัน!
โดยคุณแม่เล่าผ่านทีมงานดิเอเชี่ยนพาเร้นท์ว่า น้องเป็นลำไส้กลืนกันถึงสองรอบ รอบแรกเป็นลำไส้กลืนกันแต่สามารถคลายออกได้ แต่ครั้งที่สองคุณหมอต้องสวนแป้งเข้าไปเพราะลำไส้ไม่คลายออก ซึ่งสาเหตุที่ลูกชายของคุณแม่เป็นโรคนี้ เพราะคุณย่าอยากให้หลานตัวโต ๆ แก้มป่อง ๆ เลยป้อนกล้วย
พอป้อนไปได้สัก 5-6 วัน ลูกชายเริ่มถ่ายแข็ง แล้วก็อาเจียนออกมาเยอะมาก ทานอะไรก็ไม่ได้ นอนก็ไม่ได้ คุณแม่จึงพาไปหาหมอทันที หมอให้แอทมิทเป็นเวลา 2 คืน เพื่อให้มั่นใจว่าน้องหยุดอาเจียนแล้วจริง ๆ ตอนแรกคิดว่าน้องจะได้กลับบ้าน แต่ผลปรากฎว่า น้องกลับถ่ายออกมาเป็นสีแดงและมีมูกเลือดปน หมอจึงรีบไปเอ็กซเรย์ดี ผลที่ออกมาคือ น้องเป็นลำไส้กลืนกัน หมอจึงรีบให้น้องกลืนแป้งลงไป เพราะถ้าช้ากว่านี้ ลำไส้ของน้องอาจเน่าได้ ไม่นานน้องก็ได้กลับบ้าน … นี่คือการเข้ารับการรักษาครั้งแรกเพราะโรคนี้
แต่ครั้งที่สองนั้น ลูกชายกลับไม่โชคดีเหมือนครั้งแรก ซึ่งอาการนั้นไม่ได้มีอะไรเหมือนกับคราวก่อนเลย ไม่ถ่าย ไม่อาเจียน แต่ท้องของน้องกลับใหญ่ขึ้นมากจนผิดปกติ หมอสั่งให้แอทมิทและกลืนแป้งอีกเหมือนครั้งที่แล้ว แต่กลายเป็นว่ากลืนเท่าไหร่ลำไส้ก็ไม่คายออกจากกัน!!
หมอจึงสั่งให้งดนม ตั้งแต่เช้าและใส่สายยางทางจมูก สวมท่อฉี่ และได้พาน้องเข้าผ่าตัด โดยใช้เวลาเกือบสี่ชั่วโมง และยังคงต้องงดนมต่อไปอีก 5 วัน โดยให้ลูกชายของคุณแม่นั้นรับน้ำเกลือเพียงอย่างเดียว เพราะหมอต้องการให้มั่นใจว่า ลำไส้ที่ผ่าออกไปนั้นติดสนิทกันแล้วจริง ๆ หมอกล่าวว่า โรคลำไส้กลืนกันนี้ พบมากในเด็กเล็กที่มีกลุ่มอายุตั้งแต่ 4 – 12 เดือน
ทำความรู้จักกับโรคลำไส้กลืนกัน
โรคลำไส้กลืนกันเป็นโรคที่เกิดจากส่วนหนึ่งของลำไส้ซึ่งอยู่ต้นกว่าเคลื่อนตัวเข้าไปอยู่ในลำไส้ อีกส่วนหนึ่งอยู่ปลายกว่า โดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอน ทำให้เกิดการอุดตันของลำไส้ โรคนี้พบมากในเด็กอายุ 4-12 เดือน พบได้จนถึง 2 ขวบ มักเกิดในเด็กแข็งแรงดีมาตลอด แต่หากโรคนี้เกิดในเด็กอายุมากกว่า 2 ขวบ มักมีสาเหตุที่ทำให้ลำไส้กลืนกัน เช่น มีเนื้องอกในลำไส้
อาการของโรคลำไส้กลืนกันเป็นอย่างไร?
เมื่อเกิดโรคลำไส้กลืนกัน เด็กจะมีอาการปวดท้องเป็นพักๆ แต่เนื่องจากยังพูดไม่ได้จึงแสดงอาการเริ่มต้นออกมาเป็น ร้องกวน กระสับกระส่ายเป็นระยะ มีอาเจียนร่วมด้วย อาจอาเจียนจนมีสีเขียวของน้ำดีปนออกมา ถ่ายอุจจาระเป็นมูกเลือดเพราะมีส่วนของลำไส้ที่ตายจากการขาดเลือดไปเลี้ยง ต่อมาอาจมีไข้และเริ่มซึมลง ซึ่งบ่งว่าอาจมีการติดเชื้อแทรกซ้อน
การรักษาโรคลำไส้กลืนกันทำได้อย่างไร?
การรักษาโรคนี้สามารถทำได้ 2 วิธี คือการผ่าตัดและการดันลำไส้ที่กลืนกันออก โดยไม่ต้องผ่าตัด ซึ่งจะเลือกใช้วิธีการใดขึ้นอยู่กับลักษณะอาการและลำไส้ที่ผิดปกติของผู้ป่วยขณะที่มารับการรักษาเป็นหลัก สำหรับการรักษาโดยการดันลำไส้คุณหมอจะใช้แรงดันผ่านทวารหนักดันลำไส้ที่กลืนกันออกโดยใช้สารทึบแสงทางเอ็กซเรย์ หรือใช้ลม แต่หากมีลำไส้กลืนกันมาเป็นเวลานานจนมีการเน่าตายของลำไส้จากการขาดเลือด หรือใช้วิธีการรักษาโดยดันลำไส้แล้วไม่สำเร็จ คุณหมอจะทำการรักษาด้วยวิธีผ่าตัด
ขอบคุณคุณแม่นุ๊กมากนะคะ สำหรับประสบการณ์ตรงที่ต้องการแชร์เพื่อเป็นประโยชน์ให้กับคุณแม่ท่านอื่น ๆ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
เมื่อไหร่จะเป็นรายสุดท้าย ล่าสุดป้อนกล้วยเด็กเข้าโรงพยาบาลไปอีกราย
ลูกอ๊วก มีไข้ ท้องเสีย อาการที่ไม่น่าวางใจสำหรับเด็กเล็ก