“ รถเข็นสำหรับเด็ก ” กลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำหรับของใช้เด็กแรกเกิด ที่เป็นตัวช่วยให้พ่อแม่มือใหม่สบายขึ้นในการพาลูกเดินเที่ยวเล่น นอกจากลูกรักจะได้นั่งนอนสบายใน รถเข็นสำหรับเด็ก แล้ว ยังช่วยลดอาการปวดเมื่อยแขนและหลังของคนอุ้มด้วย ทั้งนี้หากจะเริ่มต้นมองรถเข็นให้ลูกซักคันจำเป็นต้องคิดให้ดี หากเลือกซื้อรถเข็นมาไม่ดี ไม่ถูกกับการใช้งาน ก็จะทำให้สิ้นเปลือง แต่รถเข็นมีให้เลือกเยอะแยะไปหมดจะเลือกแบบไหนดี
เอเชี่ยนพาเร้นท์มีคำตอบจากผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายรถเข็นเด็กยี่ห้อ Recaro และ Camera ในเกณฑ์การพิจารณาที่พ่อแม่ส่วนใหญ่ตัดสินใจถอยรถเข็นคันแรกให้ลูกนั้นมีอะไรบ้าง
Q : หลักพิจารณาในการเลือกซื้อ รถเข็นสำหรับลูกเล็กควรเลือกจากอะไร
Recaro : อันดับแรกต้องคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก ความสบายในการใช้งานของลูกน้อย ตัวผ้าในรถเข็นเด็กต้องมีรูระบายอากาศ เพื่อทำให้ลูกหลับสบาย หัวไม่แฉะ หลังไม่ชื้น และมีระบบรองรับการกระเทือน เนื่องจากไลฟ์สไตล์ในปัจจุบันที่พ่อแม่มักพาลูกเดินทางไปด้วยกันบ่อย ๆ หรือพาไปต่างประเทศ รถเข็นเด็กที่มีน้ำหนักเบา พับเก็บง่าย และใช้พื้นที่ในการจัดเก็บเพียงเล็กน้อย จะตอบโจทย์การเลือกซื้อได้มากขึ้น
สำหรับรถเข็นของ Recaro นอกจากคำนึงเรื่องความปลอดภัยผนวกกับน้ำหนักที่เบาที่สุดเพียงแค่ 5 กิโลกรัมที่มาพร้อมกับความยืดหยุ่นสูง มีวงล้อที่ใหญ่ มีโช้ค ที่รองรับการกระแทกเต็มรูปแบบ เพื่อความสบายตัวของลูกน้อยในระหว่างนั่ง ยังใช้สะดวก พับเก็บง่ายได้ด้วยมือข้างเดียว และพร้อมใช้งานกับลูกน้อยได้ตั้งแต่ 5 เดือนขึ้นไป จนถึงน้ำหนัก 20 กิโลกรัม หรือประมาณ 4 ขวบ
บทความที่ความที่เกี่ยวข้อง : 8 Check Lists ก่อนซื้อรถเข็นคันแรกให้ลูกน้อยวัยแรกเกิด
Camera : การเลือกซื้อรถเข็นจากลูกค้าที่มาซื้อส่วนใหญ่ จะมาจากความชอบและขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้าที่แตกต่างกัน โดยเลือกจาก
- ราคาที่จับต้องได้ ไม่แพงมาก เริ่มต้นที่งบประมาณ 1,000 – 5,000 บาท
- มีจำนวนรถเข็นหลายรุ่นให้เลือก
- มีบริการหลังการขายที่ดี
- มีดีไซน์ที่เหมาะกับความต้องการใช้งาน คือ รถเข็นแบบที่กลับด้านจับเข็นหน้า-หลังได้ หรือแบบที่เข็นจากข้างหลังเพียงอย่างเดียว
- วัสดุที่ใช้ต้องการที่ทำจากเหล็กเพื่อความทนทาน หรืออลูมิเนียมที่มีน้ำหนักเบา
- เลือกตามขนาดของรถเข็นที่ต้องการ โดยแบ่งเป็น หน้ากว้าง คันใหญ่ รุ่นที่ปรับนอนจะใช้งานได้ตั้งแต่เด็กแรกเกิด แต่รุ่นที่สามารถเอนนั่งจะใช้ได้ตั้งแต่เด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไปจนถึง 3 ขวบ และด้ามร่ม ที่เก็บพับได้สะดวก ง่ายต่อการพกพา
- มีน้ำหนักรถเข็นที่ได้มาตรฐานคือไม่เกิน 6 กิโลกรัม เพราะถ้าเบามากไปจะทำให้รถเข็นเสียการทรงตัว ตีลังกาได้
ทั้งนี้ คุณหมอสินดี จำเริญนุสิต กุมารแพทย์ด้านพัฒนาการและพฤติกรรมจากโรงพยาบาลเวชธานี ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเกณฑ์พิจารณาในการเลือกรถเข็นเด็กต้องคำนึงถึง
1.ความปลอดภัย สภาพของรถเข็นต้องดูมั่นคงแข็งแรง ตัวล็อกเข้าที่ได้ ไม่มีส่วนแหลมยื่นออกมา ไม่มีรูที่เด็กจะเอานิ้วมือหรือเท้าแหย่เข้าไป หรือมีวัสดุที่ส่งผลอันตรายต่อเด็ก
2. สายรัดหรือระบบล็อกในรถเข็น จุดล็อกที่ควรมี ได้แก่ ล็อกเอว ระหว่างขาและไหล่ ซึ่งตัวล็อกไม่ควรจะให้เด็กสามารถดึงหลุดง่าย แต่ก็ไม่แน่นสำหรับเด็กจนเกินไป และควรปลดเข้าออกง่าย
3. ระบบเบรกหรือห้ามล้อ ก่อนซื้อควรทำการทดสอบที่ร้านเลยว่าระบบเบรกดีหรือไม่ ตัวล็อกรถหรือห้ามล้อหยุดดีหรือเปล่า
4. การเข็น สามารถเคลื่อนตัวได้ดีหรือไม่
5. ความสูงของที่จับรถ ควรอยู่ประมาณเอวของคนเข็นหรือต่ำกว่าเล็กน้อย ซึ่งโดยทั่วไปจะเป็นขนาดมาตรฐานอยู่แล้ว แต่ถ้าขนาดตัวคนเข็นเล็กหรือใหญ่เกินไปควรเลือกรถเข็นที่ตัวจับปรับได้จะสะดวกต่อการใช้งานมากขึ้น
6. ขนาดตัวเด็ก ควรเลือกรถเข็นแบบที่สามารถปรับระดับเบาะนั่งและนอนได้ เพราะทารกควรนั่งรถเข็นในท่านอนเนื่องจากคอที่ยังไม่แข็งแรง และเมื่อคอแข็งมากขึ้นก็สามารถปรับระดับรถเข็นให้เหมาะสมกับท่านั่งของเด็กได้
7. ควรมีที่บังแดดหรือลม เพื่อป้องกันแสงแดดที่แยงตา หรือปิดกั้นยามลมแรงมีฝุ่นละอองป้องกันการเข้าตาของลูกน้อยได้
8. วัสดุที่ใช้ สามารถถอดหรือเช็ดทำความสะอาดได้ง่ายหรือไม่ การระบายความร้อนภายในรถเข็นดีหรือไม่ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การเลือกใช้งานรถเข็นเด็กต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ ด้วย เช่น เลือกให้เหมาะกับการใช้งาน การเคลื่อนย้าย ขนาดของตัวเด็ก ความชอบของเด็ก และที่สำคัญคืองบประมาณที่ได้ตั้งไว้ด้วย
บทความที่เกี่ยวข้อง : วิธีเลือกรถเข็นเด็ก เลือกอย่างไรให้ปลอดภัย และใช้ได้นาน
หมวดของใช้เด็กแรกเกิดยกตัวอย่างมาให้ดู 2 หมวด
1.หมวดห้องนอนสำหรับลูก คุณพ่อคุณแม่ควรคิดจัดเตรียมห้องลูกเอาไว้ให้เรียบร้อยก่อนคลอด เพราะช่วงหลังคลอดอาจไม่มีเวลาให้จัดเตรียม เพราะต้องมายุ่งอยู่กับการเลี้ยงดูลูกน้อย ถ้าเป็นไปได้ลูกน้อยควรมีห้องเป็นของตัวเองใกล้กับห้องของพ่อแม่ แต่ถ้าไม่มีห้องต่างหากก็ควรจัดเตรียมมุมหนึ่งให้เป็นที่ตั้งเตียง เก็บเสื้อผ้า และอุปกรณ์ต่าง ๆ โดยมุมนั้นไม่ควรจะอยู่ในที่อับทึบ ในห้องควรให้มีการระบายอากาศได้ดีและมีบรรยากาศที่เงียบสงบ เพื่อลูกน้อยจะได้นอนหลับได้สนิทและนาน ซึ่งจะช่วยเป็นการฝึกนิสัยการนอนที่ดีต่อไป นอกจากนี้ควรจัดแต่งห้องนอนด้วยสีสันสดใส วัสดุอุปกรณ์มีลวดลายสวยงามน่ารัก และเครื่องใช้ของลูกควรจะเผื่อให้ใช้จนลูกไปโรงเรียน
- ความปลอดภัยและความสะดวกสบาย ห้องนอนที่ดีนอกจากจะต้องมีอากาศที่ปลอดโปร่ง สบาย และถ่ายเทได้ดีแล้ว ที่สำคัญจะต้องมีความปลอดภัยด้วย คุณพ่อคุณแม่ควรจัดวางเตียงนอนให้ห่างจากหน้าต่างและพ้นจากสิ่งขวางทาง, เตียงของลูกจะต้องมีความหนาแน่นและแข็งแรง, สิ่งของเครื่องเรือนที่มีอยู่แล้วควรจัดตกแต่งให้เหมาะสมและคอยดูแลให้สะอาดสะอ้านอยู่เสมอ, ควรมีเก้าอี้ที่ลุกนั่งได้สะดวกสำหรับคุณแม่ให้นมลูกในตอนกลางคืน, ไม่ควรวางสิ่งใดให้เกะกะระหว่างเก้าอี้ของคุณแม่ เตียงนอนของลูก และที่เปลี่ยนผ้าอ้อม, ควรมีชั้นวางของให้คุณแม่หยิบของใช้ได้อย่างสะดวก, ด้านหนึ่งของตู้วางของให้กันส่วนหนึ่งไว้เป็นพื้นที่ว่าง และมีขอบสูงระดับเอว เวลาใช้งานจะได้ไม่ปวดหลัง, ควรวางเครื่องใช้ไฟฟ้าไว้ใกล้ที่เสียบปลั๊ก สายไฟจะได้ไม่เกะกะทางเดิน และเต้าเสียบควรมีฝาครอบปิดเมื่อไม่ได้ใช้งาน, ควรเก็บครีมทาผิวและแป้งเด็กไว้ใกล้ที่เปลี่ยนผ้าอ้อมและไกลจากมือลูก, ที่นอนของลูกไม่ควรนุ่มจนเกินไป, ควรมีฟองน้ำหนา ๆ กันเหลี่ยมมุมตู้ไว้ทุกจุด, หน้าต่างที่เปิดออกต้องมีล็อกกั้นไว้
- แสงสว่าง ในยามดึก คุณพ่อคุณแม่อาจลุกขึ้นมาดูแลลูกน้อยหลายครั้ง ห้องนอนจึงควรมีแสงสว่างอย่างเพียงพอ ไม่ทำให้เดินสะดุด อาจใช้โคมไฟหรือไฟที่สามารถปรับความสว่างได้ตามระดับที่ต้องการ โดยไม่ทำให้ลูกต้องสะดุ้งตื่น
- หน้าต่างและผ้าม่าน ห้องนอนของลูกควรเป็นห้องที่มีหน้าต่าง ลมพัดถ่ายเทได้สะดวก และต้องมั่นใจว่าสภาพแวดล้อมในบริเวณนั้นสะอาดและปลอดกลิ่น เช่น ไม่อยู่บริเวณที่ทิ้งขยะ ไม่อยู่ใกล้กับห้องครัว ฯลฯ สำหรับบานหน้าต่างนั้นควรอยู่ในระดับที่ลูกเอื้อมไม่ถึง หากหน้าต่างอยู่ในระดับต่ำก็ควรทำลูกกรงกั้นให้เรียบร้อย สำหรับหน้าต่างแบบเปิดปิดควรมีที่ล็อกกั้นไว้ และควรมีผ้าม่านบังแสงแดดในตอนเช้าด้วย
- พื้นห้องและผนังห้อง พื้นในห้องนอนของลูกควรเรียบและไม่ลื่น กวาดถูทำความสะอาดได้ง่าย (ไม่ต้องปูพรม หลีกเลี่ยงการใช้วัสดุปูพื้นที่เป็นขน เพราะเป็นแหล่งสะสมของฝุ่นและความสกปรก) ถ้าเป็นไปได้พื้นห้องควรใช้วัสดุปูพื้นประเภทไวนิล เพราะมีความทนทานและสะดวกในการทำความสะอาด ส่วนผนังห้องถ้าใช้วอลล์เปเปอร์หรือกระดาษติดฝาผนังก็ควรจะเลือกชนิดที่เช็ดทำความสะอาดได้และสีไม่ตก สำหรับสีที่ใช้ทาผนังก็ควรเป็นสีที่ไม่มีสารพิษ (ให้ระวังสีที่มีส่วนผสมปนเปื้อนสารตะกั่ว)
- เครื่องเรือนและการจัดเก็บ ในห้องควรมีตู้สูงระดับเอวเอาไว้สำหรับเก็บสิ่งของเครื่องใช้ และยังเป็นโต๊ะสำหรับเปลี่ยนผ้าอ้อมได้ด้วย แต่ตู้ที่ดัดแปลงเป็นโต๊ะนี้ควรทำมาจากวัสดุพื้นผิวเรียบ ถ้าเป็นไม้ก็ควรระวังอย่าให้มีรอยแตกหรือมีเสี้ยนไม้
2. หมวดอุปกรณ์อาบน้ำและการทำความสะอาด คุณแม่คนไทยมักถนัดอาบน้ำลูกในอ่างที่วางกับพื้น แต่คุณแม่ก็สามารถอาบน้ำให้ลูกในอ่างล้างหน้าหรืออ่างที่วางไว้บนโต๊ะก็ได้ ไม่ต้องลุกนั่งให้ปวดเมื่อย แต่ควรเลือกเครื่องใช้อาบน้ำที่แข็งแรง ใช้ได้สะดวก และอาจจะมีของเล่นลอยน้ำสีสันสดใสด้วยก็ได้ จะช่วยให้การอาบน้ำของลูกเป็นไปอย่างสนุกสนานยิ่งขึ้น
- อ่างอาบน้ำ ถ้าเป็นอ่างน้ำพลาสติกควรเลือกชนิดที่มีที่กั้นกันลื่นเพื่อความปลอดภัย คุณแม่ไม่จำเป็นต้องซื้อแบบที่เปิดน้ำออกได้ เพราะถึงเวลา ๆ จริงแล้วมันอาจไม่สะดวกแบบที่คิด การอาบน้ำให้ลูกแม้จะเป็นเรื่องไม่ง่ายของคุณแม่มือใหม่ แต่พอหัดไปเรื่อย ๆ ไม่นานคุณแม่จะมีความชำนาญเอง เพราะฉะนั้นไม่ต้องเป็นกังวลหรือกลัวว่าลูกจะหลุดมือได้
- ตาข่ายรองอาบน้ำเด็ก & เก้าอี้อาบน้ำเด็ก ควรซื้ออย่างใดอย่างหนึ่ง มีราคาพอ ๆ กันเลย ประมาณ 150-200 กว่าบาทขึ้นไป ใช้สำหรับพยุงตัวลูกเวลาอาบน้ำ เพื่อความสะดวกและปลอดภัย ซึ่งคุณแม่ส่วนใหญ่จะเลือกใช้แบบตาข่ายมากกว่าเก้าอี้ (เพราะแบบเก้าอี้จะเกะกะอ่าง)
- สบู่ & แชมพู ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดสำหรับเด็กหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นสบู่หรือครีมอาบน้ำเด็ก คุณแม่ควรเลือกซื้อแบบหัวปั๊มเพื่อความสะดวก หรือซื้อแบบที่ใช้อาบน้ำและสระผมได้ในขวดเดียวกัน และในการเลือกใช้ อันดับแรกควรดูว่าลูกแพ้หรือมีอาการระคายเคืองหรือไม่เวลาใช้ผลิตภัณฑ์นั้น ๆ หากเกิดการระคายเคืองคุณแม่อาจใช้เฉพาะน้ำเปล่าธรรมดาอาบน้ำให้ลูกได้ ส่วนแชมพูควรเลือกสูตรที่ไม่ทำให้แสบตา
- ฟองน้ำธรรมชาติ ควรเลือกซื้อแบบที่เป็นธรรมชาติ แพงหน่อยแต่ใช้ได้นาน เอาไว้ใช้ชุบน้ำแล้วบีบ มันจะทำให้คุณแม่สามารถล้างตัวลูกได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสระผม
- หมวกกันแชมพู (หมวกกันน้ำเข้าตาเด็ก) ไม่ค่อยจำเป็นเท่าไร มีราคาไม่แพง
- เทอร์โมมิเตอร์วัดอุณหภูมิน้ำ การใช้เทอร์โมมิเตอร์วัดอุณหภูมิน้ำไม่ใช่สิ่งจำเป็น แต่พ่อแม่มือใหม่อาจมีไว้ตรวจอุณหภูมิเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำร้อนเกินไปก็ได้ ควรตั้งอุณหภูมิทำน้ำอุ่นไว้ที่ประมาณ 48.8 องศาเซลเซียส หรือต่ำกว่านั้น แต่เพื่อป้องกันการผิดพลาดของอุปกรณ์ ควรทดสอบด้วยมือซ้ำอีกครั้ง น้ำที่ใช้อาบไม่ควรจะอุ่นเกินไป เพราะจะทำให้ลูกผิวแห้งแตกได้ง่าย และห้ามเปิดน้ำร้อนลงไปในขณะที่ลูกอยู่ในอ่าง
- ผ้าขนหนู มีไว้ใช้สำหรับห่อตัวลูกหลังอาบน้ำ 1 ผืน และผ้าขนหนูเช็ดตัวลูก 2 ผืน (เผื่อใช้สลับกัน) และผ้าขนหนูผืนเล็กอีก 1-2 ผืน (ถ้าเป็นผ้าสาลูก็ใช้ดีไม่มีฝุ่น แต่จะแห้งเร็วไม่สู้ผ้านาโนเนื้อนิ่ม ๆ ที่เช็ดแล้วแห้งเลย)
- สำลีก้าน (คอตตอนบัด) ที่ผ่านการฆ่าเชื้อ สะอาด และปลอดภัย ควรมีไว้หลาย ๆ แบบ สำลีก้านเล็กเอาไว้เช็ดรูจมูก สำลีก้านใหญ่เอาไว้เช็ดรูหู ส่วนสำลีก้านธรรมดาเอาไว้เช็ดสะดือลูกและอื่น ๆ
- สำลีแผ่นแบบรีดข้าง เอาไว้ใช้สำหรับเช็ดตาลูก
- สำลีแบบก้อนหรือแบบแผ่น เอาไว้ใช้เช็ดก้นลูก ถ้าอยากประหยัดให้ซื้อแบบม้วนแล้วมาตัดเอา มีขายตามร้านขายยาทั่วไป
- กระดาษทิชชู ใช้สำหรับเช็ดทำความสะอาดทั่วไป
- กระดาษเช็ดก้นลูก หรือ กระดาษชำระแบบเปียก (Baby Wipes) เอาไว้ใช้สำหรับเช็ดทำความสะอาดก้นลูกตอนอยู่ข้างนอก แต่ถ้าอยู่ในบ้านควรใช้วิธีล้างก้นด้วยน้ำสะอาดแทนจะดีกว่า จะได้ไม่ทำให้ผิวลูกแห้งและเกิดการระคายเคือง
- ผ้าก๊อซ เอาไว้ชุบน้ำอุ่น ใช้เช็ดปาก เช็ดเหงือก
- น้ำเกลือ ใช้สำหรับสวนล้างจมูกลูก & ใช้กับสำลีเช็ดทำความสะอาดต่าง ๆ
- กระติกน้ำร้อน เอาไว้ใช้สำหรับผสมน้ำอาบและใช้ร่วมกับสำลีเช็ดทำความสะอาดตา ฟัน หรือก้นของลูก
- กะละมังซักผ้าอ้อม ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ 2 ใบ และขนาดเล็ก 2 ใบ (ขึ้นอยู่กับความกว้างของลานซักผ้าที่บ้านด้วย)
- ถังขนาดกลาง 1 ใบ ความจุประมาณ 3-5 ลิตร สำหรับใช้แช่ผ้าที่มีรอยฉี่และผ้าเปื้อนอุจจาระ (ควรล้างให้หมดก่อนแช่) เพราะจะช่วยให้ซักได้ง่ายกว่าการปล่อยไว้ให้แห้ง
- ราวตากผ้าอ้อม & ห่วงตากผ้าอ้อมใหญ่พร้อมที่หนีบ & ไม้แขวนเสื้อเด็ก
- ถังขยะ คุณแม่ควรซื้อแบบเหยียบมีฝาปิดกันกลิ่น
บทความที่เกี่ยวข้อง : คลิปรถบรรทุกทับลูก หลังรถเข็นลูกล้มลง ใจแม่ก็แหลกสลายและเสียใจไปตลอดชีวิต
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.manager.co.th