สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เมื่อวันจันทร์ที่ 1 ก.พ. 2559 องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศ ‘ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ’ เกี่ยวกับการระบาดของเชื้อไวรัสซิกา และปัญหาสุขภาพที่แพทย์กังวลว่าอาจมีไวรัสตัวนี้เป็นสาเหตุWHO ระบุว่า การประกาศภาวะฉุกเฉินครั้งนี้สมเหตุสมผลแล้ว จากเหตุผลทั้งความเร็วของการระบาดของเชื้อไวรัสที่มียุงลายเป็นพาหะชนิดนี้ และข้อสงสัยที่ว่ามันอาจมีความเชื่อมโยงกับการเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมากของเด็กทารกเกิดมาพร้อมภาวะศีรษะเล็กในพื้นที่ที่ไวรัสนี้แพร่กระจาย
แต่แม้ว่าจะยังไม่มีการยืนยันว่าไวรัสซิกาเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคศีรษะเล็กในทารกหรือไม่ แต่ WHO ระบุว่า การที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่เสี่ยงได้รับผลกระทบจากไวรัสชนิดนี้ การขาดแคลนวัคซีนและการวินิจฉัยโรคที่น่าเชื่อถือ และประชาชนในประเทศที่ได้รับผลกระทบขาดภูมิคุ้มกัน มีส่วนทำให้จำเป็นต้องประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขครั้งนี้
ด้าน ดร. มาร์กาเร็ต ชาน ผู้อำนวยการองค์การสหประชาชาติ กล่าวหลังจากการประชุมคณะกรรมการฉุกเฉิน ภายใต้กฎอนามัยระหว่างประเทศ (IHR) ครั้งแรกที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ว่า “สมาชิกของคณะกรรมการยอมรับว่าสถานการณ์ (การระบาด) เข้าสู่เงื่อนไขที่จะประกาศ ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศแล้ว”
“ฉันยอมรับคำแนะนำนี้ และตอนนี้ฉันกำลังจะประกาศว่า กลุ่มผู้ป่วยภาวะศีรษะเล็กและความผิดปกติทางประสาทอื่นๆ ที่มีรายงานในละตินอเมริกาในช่วงไม่นานมานี้ ตามหลังการพบผู้ป่วยกรณีคล้ายกันที่เฟรนช์โปลินีเซีย (ดินแดนของฝรั่งเศสในมหาสมุทรแปซิฟิกใต้) ในปี 2014 เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ” ดร.ชานกล่าว
และในวันที่ 2 ก.พ.2559 ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อร้ายแรงของสหรัฐฯ (ซีดีซี) ประกาศเพิ่มรายชื่อประเทศอีก 4 ประเทศที่แจ้งเตือน หญิงตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไปเยือน ได้แก่ ประเทศอเมริกันซามัว คอสตาริกา คูราโซ และนิคารากัว ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีประกาศเตือนไปแล้ว 42 ประเทศ อ่านเพิ่มเติมได้ที่ เตือน “หญิงมีครรภ์” หลีกเลี่ยงเดินทาง 42 ประเทศเสี่ยง “ไวรัสซิกา”
ทางด้านกระทรวงสาธารณสุข ประกาศ “ไวรัสซิกา” เป็นโรคติดต่อที่ต้องแจ้งความตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2523 หากพบผู้ป่วยต้องแจ้งสาธารณสุขทันที เพื่อดำเนินป้องกันควบคุมโรค
นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน กระทรวงสาธารณสุข ได้หารือกับผู้เชี่ยวชาญออกประกาศ 2 ฉบับ ได้แก่ ชื่อและอาการสำคัญผู้ป่วย และประกาศให้โรคซิกาเป็นโรคติดต่อที่ต้องแจ้งความ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2523 หากพบผู้ป่วยต้องแจ้งให้กระทรวงสาธารณสุขทันที อย่างไรก็ตาม ประชาชนอย่าตื่นตระหนก ประเทศไทยไม่ใช่พื้นที่ระบาดของโรค แต่ละปีมีผู้ป่วยเฉลี่ยปีละ 5 คน โรคนี้ส่วนใหญ่ป่วยแล้วหายได้เอง อาการโรคไม่รุนแรง ไม่มีอันตรายถึงแก่ชีวิต มีปัญหาเฉพาะกับหญิงตั้งครรภ์ อาการที่พบบ่อย ได้แก่ มีไข้ ออกผื่น ตาแดง ปวดข้อ ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง อาการเหล่านี้ทุเลาลงภายในเวลา 2-7 วัน ได้เอง
อ่านต่อ ไวรัสซิกาเชื้อร้ายพันธุ์ใหม่อันตรายต่อแม่ตั้งครรภ์
จึงขอความร่วมมือประชาชน ร่วมมือกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ทั้งในบ้าน รอบๆ บ้านและในชุมชน ทั้งคนในครอบครัวและคนในชุมชนเอง ต้องช่วยกันค้นหาและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายร่วมกัน ไม่จำเป็นต้องรอเจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินการ ให้ถือว่าเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนที่จะต้องช่วยกันในเรื่องนี้ ส่วนผู้ที่เดินทางกลับจากประเทศที่มีการระบาดในแถบประเทศลาตินอเมริกาและแคริเบียน หากมีอาการข้างต้นสามารถเข้ารับการตรวจรักษาได้ที่สถาบันบำราศนราดูร โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อนมหาวิทยาลัยมหิดล และโรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง ขอให้เชื่อมั่นในระบบเฝ้าระวังของประเทศไทย หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง
ภาพประกอบ https://jingro.com/