มีลูกติดกัน หรือปล่อยให้มีลูกหัวปีท้ายปี ไม่ใช่ปัญหาสำหรับครอบครัวที่มีปัจจัยพร้อมทั้งร่างกายและเงินในกระเป๋า แต่อาจจะเป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นได้กับครอบครัวที่ไม่พร้อม เพราะการไม่ได้ป้องกันหรือป้องกันแล้วแต่เกิดผิดพลาดไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และยังมีอีกหนึ่งปัญหาที่ตามได้สำหรับแม่มีลูกเกิดมาติด ๆ กัน
มีลูกติดกัน บางคนก็ว่าดี แต่ก็มีความเสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุน!
ข้อดีของการมีลูกมีลูกหัวปีท้ายปี
- ผลวิจัยระบุว่า เด็กที่เริ่มต้นมีน้องตอนอายุต่ำกว่า 2 ปี จะไม่รู้สึกระแวดระวังหรือกลัวถูกแย่งความรักจากน้องใหม่ที่เพิ่มเติมเข้ามา
- ลูกที่เกิดในวัยไล่เลี่ยกันจะกลายเป็นเพื่อนเล่นกันได้ดี แบบไม่ต้องกลัวเหงา เด็กทั้งคู่จะสนุกกับการใส่เสื้อเหมือนกัน เล่นของเล่นชิ้นเดียวกัน พูดคุยกันรู้เรื่อง แม้ไม่ใช่คู่แฝดก็ตาม
- การมีลูกที่ต้องเลี้ยงในเวลาที่ติด ๆ กันถึงสองคน จะเป็นเหตุผลดี ๆ ที่ช่วยดึงให้สามีคอยกลับบ้านเร็วหรืออยู่ติดบ้านในวันหยุด เพื่อช่วยคุณแม่เลี้ยงลูก เป็นพ่อบ้านที่ดีต่อครอบครัว
- การมีลูกที่เว้นระยะห่างแค่ปีสองปีจะทำให้คุณแม่รู้สึกเหนื่อยครั้งเดียวในช่วงเวลาที่ลูกเป็นเด็กเท่านั้น เพราะเมื่อพวกเขาโตมาเป็นผู้ใหญ่พร้อม ๆ กันก็จะมีคนดูแลพ่อแม่กลับคืนให้สบายหายห่วงถึงสองคน
ข้อเสียของการมีลูกหัวปีท้ายปี
ความเหน็ดเหนื่อยจะเกิดขึ้นกับคุณแม่เป็นอีกหนึ่งเท่า เพราะลูกแต่ละคนอาจมีลักษณะนิสัยที่แตกต่างกัน และอาจเกิดการทะเลาะกันบ่อย เช่นเรื่องแย่งของเล่น แต่สิ่งสำคัญสำหรับคุณแม่ที่กำลังคิดตัดสินใจในการมีลูกคนที่สองต่อกันจากคนแรกเลย จะมีความเสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุนมากขึ้นในอนาคตหรือในหลังวัยหมดประจำเดือน ซึ่งมีสาเหตุโดยตรงมาจากการตั้งครรภ์ การให้นมลูก และช่วงวัยขณะมีลูกคนแรก
แพทย์หญิง ดร.กัลซิน ซาห์อิน เอสรอย นักวิจัยจากสถาบันการแพทย์เยล เมืองนิวเฮเวน รัฐคอนเนตทิคัต ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า หากคุณแม่คิดจะมีลูกคนที่สอง ควรทิ้งช่วงการตั้งครรภ์ให้ห่างอย่างน้อย 2 ปี เนื่องจากระหว่างตั้งครรภ์ คุณแม่ต้องแบ่งแคลเซียมในกระดูกของตัวเองไปสร้างกระดูกให้ลูก จนกว่าจะหมดระยะการให้นม ฉะนั้นในช่วงเวลา 1 ปีที่ดูแลลูกคนแรกอยู่นั้น จึงยังไม่เพียงพอในการสร้างมวลกระดูกกลับมาเติมเต็มได้
อย่างไรก็ตาม หากคุณแม่ต้องการที่จะมีลูกในวัยไล่เลี่ยกัน แพทย์หญิง ดร. นาเนตเต ซานโตโร ประธานสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา จากสถาบันการแพทย์ มหาวิทยาลัยโคโลราโด ได้แนะนำว่า คุณแม่ที่ต้องการมีลูกหัวปีท้ายปี สามารถเสริมสร้างกระดูกได้ด้วยการกินแคลเซียม วิตามินดี และออกกำลังกาย แต่ทั้งนี้การเว้นระยะตั้งครรภ์ตามคำแนะนำจะเป็นผลดีต่อสุขภาพกระดูกมากกว่าค่ะ
ที่มา : cheewajit
บทความอื่นที่น่าสนใจ :
มีลูกหัวปีท้ายปี: ฉันท้องตอนลูกเพิ่งสองเดือน
มีลูกหัวปีท้ายปี หรือห่างกันหลายปี แบบไหนดีกว่ากัน