“ถ้ามีของเล่นกับเครื่องมือมาให้เด็ก เด็กคงเลือกของเล่น” ประโยคดังกล่าวนั้น อาจกล่าวได้ว่านี่คือข้อเท็จจริงของเด็กทุกคน ซึ่ง ของเล่น นั้น นอกจากจะเป็นสิ่งที่มอบความสุข ความสนุกให้แก่เด็กแล้ว ของเล่นยังเป็นอีก 1 ตัวแปรสำคัญที่ช่วยกระตุ้นพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ให้แก่เด็ก แต่ในความเป็นจริง ไม่ใช่เด็กทุกคนที่จะมีโอกาสได้สัมผัสความสนุกจากการได้เล่นของเล่น เด็กพิเศษอย่างเช่นเด็กที่เป็นผู้พิการทางสายตา หรือเด็กตาบอดนั้น พวกเขาไม่มีของเล่นที่จะช่วยเสริมพัฒนาการได้อย่างตอบโจทย์นัก และนั่นทำให้พวกเขาพลาดโอกาสในการเรียนรู้หลาย ๆ สิ่งเกี่ยวกับโลกภายนอกไป
Blixpop ตัวต่อยักษ์ ของเล่น ที่เด็กทุกคนสนุกได้
ตัวต่อขนาดยักษ์ที่เห็นในรูปข้างบนนั้น นอกจากจะถูกตกแต่งเพื่อเติมสีสันให้มุมต่าง ๆ ในบ้านแล้ว ยังเป็นของเล่นเสริมพัฒนาการที่เด็กทุกคนสามารถเล่นได้จริง ๆ ที่สำคัญ สามารถเล่นอย่างสนุกได้กับเด็ก ๆ หลายกลุ่มอีกด้วย นี่คือ Blixpop ของเล่นตัวต่อยักษ์สำหรับเด็ก ที่ถูกออกแบบและคิดค้นโดยคุณกี้ ณัชชา โรจน์วิโรจน์ ซึ่งเธอได้รับแรงบันดาลใจในการคิดค้นของเล่นชิ้นนี้จากโรงเรียนสอนคนตาบอดแห่งหนึ่ง และได้เริ่มต้นธุรกิจนี้จากหัวข้อวิทยานิพนธ์ปริญญาโทของเธอที่ Academy of Art University เมืองซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา
ซึ่งความตั้งใจของเธอนั้น เธอต้องการที่จะทำของเล่นที่ ‘เด็กทุกคน’ สามารถเล่นสนุกด้วยกันได้ ไม่ใช่แค่สำหรับเด็กทั่วไป หรือเด็กผู้บกพร่องทางสายตา เธอต้องการทำของเล่นชิ้นนี้ให้เป็นของเล่นของทุกคน แม้จะมีหน้าตาที่ดูเรียบง่าย แต่สามารถนำมาเล่นพลิกแพลงได้อย่างมากมาย ให้เด็กได้มีพัฒนาการที่ก้าวหน้า ตามความสามารถและตามธรรมชาติของเด็ก และทำให้พวกเขาได้มีปฏิสัมพันธ์ ได้มีช่วงเวลาที่ดีด้วยกัน
จุดเริ่มต้นก่อนมาเป็น BLIX POP ในวันนี้
“ไหน ๆ เราเรียนออกแบบแล้ว ลองออกแบบของเล่นให้เด็กพิเศษดูหน่อยดีมั้ย ” คุณณัชชากล่าวว่า นี่คือจุดเริ่มต้นของ Blixpop ที่เธอได้รับแรงบันดาลใจ จากการได้เป็นอาสาสมัครสอนเด็กในโรงเรียนสอนคนตาบอด จากคำชวนของคุณแม่ของเธอ ซึ่งทำให้เธอได้พบกับโลกอีกใบที่แตกต่าง แม้จะกังวลใจและไม่แน่ใจในช่วงแรก เพราะเด็กตาบอดนั้นก็แยกได้เป็นอีกหลายกลุ่ม เพราะเด็กทุกคนมีการมองเห็นที่มากน้อยต่างกัน แต่สุดท้ายเธอก็พบว่า เด็กทุกคนก็สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ดีไม่แพ้คนทั่วๆ ไปเลย
แต่ปัญหาที่เธอพบกลับเป็นเรื่องของเล่นที่คนนอกนำมาบริจาคมากกว่า เพราะถึงแม้จะมีของเล่นจำนวนมาก แต่แทบไม่มีของเล่นที่ตอบโจทย์ด้านพัฒนาการของเด็กพิเศษเหล่านี้ได้เลย ซึ่งทำให้เธอคิดถึงปัญหาที่ตามมาได้ว่า เด็กพิเศษอย่างเด็กตาบอดจะพลาดโอกาสในการเรียนรู้หลาย ๆ อย่าง โดยเฉพาะการออกไปสัมผัสโลกภายนอก ที่มีทั้งสิ่งกีดขวาง พื้นลาดเอียง และผิวสัมผัสที่หลากหลาย ความคิดนี้ได้จุดแรงบันดาลใจให้แก่คุณณัชชา และทำให้เธอได้กลายเป็นนักออกแบบเพื่อเด็ก ๆ ในทุกวันนี้
ออกแบบอย่างใส่ใจ เพื่อลดช่องว่างระหว่างโลกของการเล่น กับโลกภายนอกจริง ๆ
“เธอจะทำให้สำเร็จได้อย่างไร ทั้งที่ไม่มีความรู้เรื่องเด็กตาบอดเลย” นี่คือคำถามจากอาจารย์ที่ปรึกษา เมื่อเธอได้ส่งหัวข้อวิทยานิพนธ์ และนั่นทำให้ณัชชาลงมือศึกษาอย่างหนักเกี่ยวกับโลกของคนตาบอด ว่าพวกเข้าใจโลกนี้ด้วยวิธีการที่แตกต่างจากคนปกติอย่างไร ซึ่งเธอเลือกใช้วิธีเข้าไปขลุกตัวกับเด็ก ๆ ซึ่งเธอก็ได้พบว่า ในขณะที่เด็กที่มองเห็น จะเริ่มเล่นของเล่นจากการมองแล้วหยิบมาลองเล่น เด็กตาบอดนั้นจะตัดสินใจลองจากการเริ่มสัมผัส ดังนั้นเธอจึงได้โจทย์ในการออกแบบมาก็คือ ของเล่นชิ้นนี้ ต้องมีสัมผัสที่ดี เด็กจับแล้วติดใจ และสามารถเล่นได้ง่าย ไม่ซับซ้อน
เมื่อจับจุดได้แล้ว เธอจึงออกแบบของเล่นนี้ด้วยความใส่ใจในทุกรายละเอียด โดยเป้าหมายสำคัญของ Blixpop คือการให้เด็ก ๆ ได้เล่นสนุกอย่างอิสระ ดังนั้นความปลอดภัยจึงต้องมาเป็นอันดับ 1 เธอจึงเลือกใช้วัสดุอีวีเอปลอดสารพิษ (Non-toxic EVA) ที่เด็กจะกัดหรือเอาเข้าปากก็ไม่เป็นอันตราย แถมยังมีชิ้นที่ใหญ่ไม่ต้องกลัวว่าเด็กจะเผลอกลืน แต่ในขณะเดียวกันก็มีคุณสมบัติที่ยืดหยุ่น กันกระแทก ทนทานอายุการใช้งานนาน
เหตุผลที่ออกแบบตัวต่อเป็นรูป สี่เหลี่ยมจัตุรัสก็เพราะว่ามันจะให้ความรู้สึกที่มั่นคง ความเท่ากันทุกด้านนั้นทำให้รับรู้ได้ทันที แม้มองไม่เห็นก็รู้สึกปลอดภัยได้ และตัวบล็อกเองก็มีความแข็งแรง มีน้ำหนักพอสมควรแต่ไม่หนักเกินไปจนยกไม่ไหว เพื่อให้เด็กได้ออกกำลัง ที่สำคัญเรื่องผิวสัมผัสนั้น คุณณัชชาได้ให้เด็กตาบอดเป็นคนเลือกสัมผัสที่ถูกใจที่สุดเอง จนได้มาเป็นผิวสัมผัสของเปลือกไม้และพื้นหญ้า ซึ่งเป็นสัมผัสที่ใกล้เคียงธรรมชาติ ทำให้เด็กที่ได้เล่น Blixpop ได้ลดช่องว่างระหว่างโลกของการเล่นกับโลกภายนอกจริง ๆ ถือเป็นก้าวแรกที่ดีสำหรับเขา ในการเรียนรู้เกี่ยวกับมิติสัมพันธ์ การฝึกเดินทรงตัว ได้ใช้สมองในการสร้างสรรค์การเล่นพร้อมกับพัฒนาร่างกาย
กว่าจะเป็น แบรนด์ BLIX POP ในวันนี้ ไม่ได้เกิดจากการออกแบบเพียงครั้งเดียวจบ จากแรงบันดาลใจที่อยากทำของเล่นให้เด็กตาบอด คุณณัชชาทดลองทำ ทดลองใช้ แก้ไขปรับเปลี่ยนมาหลายครั้ง จนเป็น BLIX POP อย่างที่เห็นในปัจจุบัน ซึ่งในปี พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา ความตั้งใจของคุณณัชชาก็สามารถคว้ารางวัลจากกรมทรัพย์สินปัญญาโลก และรัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ รวมถึงรางวัล DEmark (Design Excellence Award) จากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและกระทรวงพานิชย์ และรางวัล JUMC STAR 2019 จาก สมาคมนิสิตเก่าเอ็มบีเอ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แม้จะได้รางวัลมามากมาย แต่คุณณัชชาเองก็ยังมองว่า Blixpop ยังเป็นของเล่นที่ไม่ครอบคลุมสำหรับเด็กทุกกลุ่มขนาดนั้น เธอต้องการที่จะพัฒนาของเล่นเพื่อเด็กกลุ่มอื่นอีก นอกจากโครงการ ‘ไม่เห็น ก็เล่นได้’ สำหรับโรงเรียนสอนคนตาบอด 16 แห่งแล้ว ยังได้มีโครงการ ‘รอยยิ้ม ของขวัญ แบ่งปัน ความสุข’ สำหรับศูนย์การศึกษาพิเศษ 77 จังหวัดทั่วประเทศ และ โครงการ ‘ปัน-ยาวิเศษ’ สำหรับโรงเรียนกลุ่มปัญญานุกูล 19 แห่ง อีกด้วย
สุดท้ายนี้ขอจบด้วยประโยคที่คุณณัชชาย้ำบ่อย ๆ ว่า “ถ้าเรามองว่าเด็กพิเศษคือเด็กคนหนึ่ง มีความสามารถเฉพาะตัว ไม่ได้มีความด้อยอะไรไปกว่าเด็กๆ ทั่วไป เราก็จะสามารถช่วยเขาเติมเต็มพัฒนาการได้อย่างไม่มีข้อจำกัด และเด็กทุกคนก็จะร่วมเล่นด้วยกันได้โดยธรรมชาติ” ซึ่งเชื่อได้เลยว่า เธอจะสามารถคิดค้น ของเล่น รูปแบบอื่นๆ เพื่อเด็กทุกคนขึ้นมาได้อีก นอกจากเจ้า Blixpop ของเธอ
สำหรับคุณแม่ที่รู้สึกสนใจ หรืออยากทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Blixpop สามารถติดตามได้จากหลากหลายช่องทางได้แก่
https://www.blixpopthailand.com/