ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม นายกฤษดา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย มีโทรสารถึงผู้ว่าราชการจังหวัดจันบุรี เพชรบูรณ์ บึงกาฬ และเชียงใหม่
ในหนังสือระบุ ด้วยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหภาพยุโรป ได้เผยแพร่ข้อมูล ณ วันที่ 19 สิงหาคม 2559 ในเว็บไซต์ระบุว่า สถานการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัสซิกาของประเทศไทยอยู่ในระดับสีแดง คือ มีการเผยแพร่กระจายของโรคอย่างกว้างขวางในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทยจึงขอสั่งการให้จังหวัดสนับสนุนกระทรวงสาธารณสุขในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาดังกล่าว ดังนี้
1.ให้จังหวัดเร่งประชาสัมพันธ์ทุกช่อง ทางการสื่อสารในพื้นที่ให้ประชาชนเกิดความรู้ความเข้าใจ และไม่ตื่นตระหนกโดยมีเนื้อหาสำคัญ คือ ป้องกันด้วยการไม่ให้ยุงกัดและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย แนะนำให้ผู้เดินทางไปประเทศที่มีการระบาดป้องกันตนเองมิให้ยุงกัด โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ระยะฟักตัว 3-12 วัน (เฉลี่ย 4-7 วันร้อยละ 80 ไม่แสดงอาการ) การสังเกตอาการเจ็บป่วยผู้ติดเชื้อ เช่น มีไข้ ผื่นแดง เยื่อบุตาอักเสบ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ
2.ให้จังหวัดประสานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (ศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข:EOC) และส่งการให้ทุกอำเภอจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ระดับอำเภอ ให้มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสนับสนุนบุคลากร อุปกรณ์เครื่องพ่นหมอกควัน ฯลฯ และการดำเนินการของทุกตำบล/หมู่บ้านให้พร้อมใช้งานตลอดเวลา
3.ให้จังหวัดแจ้งศูนย์ฯ ระดับอำเภอ บูรณาการความร่วมมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคีต่างๆ เช่น สถานศึกษา โรงงานอุตสาหกรรม สถานประกอบการ สถานพยาบาล บุคลากร ด้านสาธารณสุข (อสม.) นักพัฒนาชุมชน ผู้นำท้องที่ ผู้นำชุมชน ในการรณรงค์และป้องกัน/ควบคุมโรคดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมในภาคเอกชนและภาคประชาชน
4.ให้จังหวัดติดตามความก้าวหน้าผลการ ดำเนินงานต่อเนื่อง เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสซิกาในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพ และเกิดผลสัมฤทธิ์
ไวรัสซิกา (Zika Virus) คืออะไร
ไวรัสซิกา (Zika Virus) เป็นเชื้อไวรัสในตระกูลเฟลวิไวรัส (Flavivirus) ลักษณะคล้ายคลึงกับไวรัสไข้เหลือง ไวรัสเดงกี ซึ่งเป็นสาเหตุของไข้เลือดออก รวมทั้งไวรัสเวสต์ไนล์ที่เป็นสาเหตุของไข้สมองอักเสบ และเชื้อไข้สมองอักเสบจีอี ทั้งหมดเกิดจากยุงลายเป็นพาหะ เชื้อไวรัสซิกาถูกค้นพบครั้งแรกจากในน้ำเหลืองของลิงวอกที่ถูกนำมาจากป่าซิ กาในประเทศยูกันดาเพื่อใช้ศึกษาไข้เหลือง เมื่อปีพ.ศ.2490และในคนเมื่อพ.ศ.2511ในประเทศไนจีเรีย เชื้อไวรัสซิกาพบได้ในแถบประเทศแอฟริกา ทวีอเมริกา ทวีปเอเชียใต้ และหมู่เกาะในแถบมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก
อาการของโรค
ระยะฟักตัวเฉลี่ย 4 – 7 วัน สั้นที่สุด 3 วัน อาการที่พบบ่อย ได้แก่ มีไข้ ออกผื่น ตาแดง ปวดข้อ ปวดบวม ปวดหลัง อาจมีอาการอื่น ๆ ได้ เช่น อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองโต และอุจจาระร่วง ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง ยกเว้นในหญิงตั้งครรภ์ที่ส่งผลต่อทารกในครรภ์ทำให้มีสมองเล็ก (Microephaly) หรือมีภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์
พาหะนำโรค
ยุงลายบ้าน (Aedes aegypti) เป็นตัวการสำคัญที่นำพาเชื้อไวรัสซิกาและแพร่กระจายในวงกว้างอย่างรวดเร็ว ซึ่งยุงลายบ้านเป็นพาหะนำไข้เหลือง ไข้เลือดออก และไวรัสชิคุนกุน ความรุนแรงของไวรัสซิกาเป็นเชื้อโรคที่อันตรายและร้ายแรงมาก ปัจจุบันทำได้แค่เพียงควบคุมและลดปริมาณในการขยายตัวของยุงลาย โดยการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรค
กลุ่มเสี่ยง
กลุ่มเสี่ยง คือ ผู้ที่เดินทางไปในที่ที่มีการระบาดอย่างกว้างขวาง เช่น ทวีปอเมริกา และทวีปแอฟริกาตะวันตก โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ อาจเกิดการติดเชื้อส่งผลให้ทารกในครรภ์มีขนาดศีรษะที่เล็กผิดปกติและสมองฝ่อ ได้ ส่วนในประเทศไทย นายแพทย์อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรคติดต่อ ให้ข้อมูลว่า พบผู้ป่วยตั้งแต่ปี พ.ศ.2555 โดยเฉลี่ยปีละประมาณ 5 ราย ซึ่งไม่ถือว่าสูงผิดปกติ อัตราป่วยใกล้เคียงกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอาเซียน อย่างไรก็ตามประเทศไทยมีการเฝ้าระวังโรคนี้แล้วตั้งแต่ปีพ.ศ.2555
ที่มา: Isaranews
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
ไวรัสซิกาเชื้อร้ายพันธุ์ใหม่อันตรายต่อแม่ตั้งครรภ์
ทำอย่างไร เมื่อคัดเต้านม