มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว ร่วมกับ สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) เครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีเสวนา สิทธิเด็ก…ในยุคมนุษย์กล้องครองเมือง
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร ผู้ตรวจราชการกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เตือนพ่อแม่ที่ชอบถ่าย โพสต์ แชร์ คลิปและรูปลูก ว่า พ่อแม่ทุกคนรักลูก ย่อมอยากโชว์ความน่ารักของลูก แต่การถ่ายคลิปเด็กในอิริยาบถต่างๆ พร้อมระบุตัวตน แล้วนำมาโพสต์ เด็กอาจจะเกิดความเสี่ยงและไม่ได้รับความปลอดภัย ถือเป็นการทำร้ายเด็กๆ นอกจากนี้ ตัวเด็กเองก็ไม่ได้มีส่วนร่วมตัดสินใจว่าจะชอบหรือไม่ชอบ โตขึ้นมาก็อาจจะเกิดความรู้สึกไม่ดีได้
พญ.พรรณพิมล เตือนให้พ่อแม่ฉุกคิดด้วยว่า การโพสต์หรือแชร์ภาพออกไป แม้จะคิดแค่อยากแกล้งเด็ก หรือเป็นการถ่ายเล่นสนุกๆ แต่กลับเป็นดาบสองคมที่ทำร้ายเด็ก เพิ่มความเสี่ยงในการใช้ชีวิต เด็กเองก็จะไม่รู้ถึงการปกป้องตัว จนมองเป็นเรื่องปกติแล้วเกิดการโพสต์ตาม
“ทุกอย่างควรมีขอบเขต ต้องระมัดระวังในการใช้เทคโนโลยี ซึ่งในต่างประเทศจะเข้มงวดการปกป้องสิทธิเด็กอย่างมาก พ่อแม่ก็ไม่ยอมหากมีคนมาถ่ายคลิปโดยที่ไม่ได้รับอนุญาต มีสิทธิเอาผิดตามกฎหมายได้”
เนื่องด้วยสถานการณ์ถ่าย โพสต์ แชร์ คลิปเด็ก ในปัจจุบันมีจำนวนเพิ่มขึ้น นางเข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) ได้พูดถึงเรื่องนี้ว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิเด็ก โดยเฉพาะภาพความรุนแรง รวมไปถึงเหตุการณ์ที่เด็กถูกนำมาสร้างเป็นช่องทางเพื่อหาผลประโยชน์ ซึ่งผู้ถ่าย โพสต์ แชร์ มองเพียงว่าเป็นเรื่องสนุกสนาน น่ารัก แต่กลับไม่คิดถึงอันตรายที่จะตามมา เพราะคลิปนั้นๆ ถูกแชร์ออกไปจำนวนมาก
ด้านนายสรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ ประธานมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก ได้ยกตัวอย่างการเผยแพร่คลิปเด็ก เช่น พ่อแกล้งกินแมลงยั่วยวนให้เด็กขยะแขยง จนเด็กอาเจียนออกมา หรือคลิปที่แม่แกล้งเอาตะปูเสียบนิ้วตัวเองดึงเข้าดึงออก เพื่อพิสูจน์ว่าลูกจะเป็นห่วงตัวเองหรือไม่ คลิปครูให้นักเรียนกราบหน้าเสาธง พร้อมทั้งระบุว่า พฤติกรรมลักษณะนี้ เป็นการทารุณกรรมเด็กโดยตรง ทำร้ายจิตใจเด็กทำให้เกิดความกลัว ยิ่งการนำคลิปออกมาเผยแพร่ยิ่งเป็นการกระทำซ้ำ เป็นการตอกย้ำประทับตราบาปให้เด็ก
ในทางกฎหมายมีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 หากนำหลักตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กมาบัญญัติไว้ในกฎหมาย เช่น มาตรา 22 การคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็ก มาตรา 23 บัญญัติถึงบทบาทของผู้ดูแลเด็กในการพัฒนาและการปกป้องคุ้มครองความปลอดภัยจากอันตรายต่างๆ มาตรา 26 ที่บัญญัติถึงการห้ามมิให้บุคคลต่างๆ กระทำต่อเด็ก ทั้งการทำร้ายร่างกาย การไม่ดูแลจนเด็กมีความประพฤติไม่เหมาะสม ฝ่าฝืนถือเป็นความผิดที่มีโทษ เช่นเดียวกับมาตรา 27 ที่มีโทษทางอาญา หากเปิดเผยหรือเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับเด็กจนส่งผลกระทบต่อเด็กทั้งนี้ยังมีความผิดตามกฎหมายพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์อีกด้วย
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
แม่อายุ 22 ปี ถูกจับค้ามนุษย์ หลังโพสต์ขายลูกตัวเองบนเฟซบุ๊ค
6 ภาพถ่ายลูก ที่ไม่ควรโพสต์ลงโซเชียล
ระวัง! การถ่าย-แชร์ คลิปเด็ก อาจละเมิดสิทธิผู้อื่นโดยไม่รู้ตัว