ภาษาทารก ลูกทำท่าแบบนี้ หมายความว่าอะไร
ภาษากายทารก เป็นภาษาที่ทารกใช้ในการสื่อสารถึงพ่อแม่ โดยทารกจะแสดงออกเป็นสีหน้าและท่าทางต่าง ๆ ให้เห็น หากคุณพ่อคุณแม่ที่ไม่เข้าใจภาษาทารกก็จะไม่เข้าใจว่าลูกน้อยต้องการอะไร แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่สนใจที่จะเรียนรู้ท่าทางเหล่านั้น ก็จะรู้ได้ทันทีว่าทารกต้องการบอกอะไรคุณ
ภาษากายทารกมีอะไรบ้าง
- ลูกง่วงนอน : เวลาที่ทารกง่วงนอน เขาจะค่อย ๆ กระพริบตาอย่างช้า ๆ แล้วเอากำปั้นน้อย ๆ ไปขยี้ที่ดวงตา
- ลูกหิว : เวลาที่ลูกหิว ลูกน้อยจะเปิดปาก บางคนเอาลิ้นเลียบริเวณปาก หรือไม่ก็เอากำปั้นไปอมด้วย
- ลูกอยากเล่น : เวลาที่ลูกอยากจะเล่นอะไรสนุก ๆ เขาจะเคลื่อนไหวร่างกายไปมา ทำตาเป็นประกาย ดวงตาจะเปิดกว้างมากเป็นพิเศษเพื่อบ่งบอกว่าพร้อมที่จะเล่นแล้ว!
- ลูกปฎิเสธ : เวลาที่ลูกไม่อยากทำอะไร หรือไม่พอใจอะไรก็ตาม เขาจะไม่สนใจสิ่งนั้น ไม่สบตา และจะมองไปที่อื่นเลย
- ลูกเหนื่อย : เวลาที่ลูกรู้สึกอ่อนเพลีย อยากพักผ่อน ให้สังเกตที่ดวงตาร่วมกับท่าทางอื่น ๆ คือ หนังตาจะค่อย ๆ ปิด หรือมีการกระพริบตาถี่ หงุดหงิด ร้องไห้บ้าง
วิธีกระตุ้นให้ลูกเกิดการสื่อสารภาษาทารก?
1. พยายามทำให้ลูกยิ้ม
ไม่ใช่ว่าคุณจะเฝ้าดูลูกน้อยเท่านั้น แต่ลูกน้อยยังเฝ้ามองคุณด้วย เวลาที่ลูกน้อยสนใจคุณเขาจะส่งรอยยิ้ม ซึ่งเวลาเด็กยิ้มจะไม่ยิ้มที่ปากเท่านั้นนะ เขายังใช้สายตาด้วย คุณคงเคยเห็นเวลาที่ลูกยิ้มแล้วตาหยีใช่ไหม นั่นแหละค่ะ แสดงว่าลูกน้อยกำลังมีความสุขอย่างมาก เราก็กระตุ้นด้วยการคุยกับลูกและเล่นกับลูกบ่อย ๆ นะคะ
2. ทำให้ลูกเคลื่อนไหว
ทารกมีความไวต่อความรู้สึกที่แตกต่างกันบางคนแค่ได้ยินเสียงนิดเดียวก็ตกใจแล้ว เช่น เสียงรถวิ่งผ่าน เสียงหมาเห่า เสียงแมวร้อง บางคนไวต่อแสง แค่มีแสงจากโทรศัพท์นิดเดียวกำลังจะหลับอยู่แล้วก็ตื่นขึ้นมาอีก หรือเด็กบางคนได้ยินเสียงเพลงก็อยากจะเต้นขึ้นมา คุณแม่อาจทำเสียงดนตรี หรือเปิดเพลงให้ลูกเต้นได้นะคะ
3. ให้ลูกแสดงอารมณ์
ลูกน้อยของคุณมักจะแสดงอาการที่ต่างกันขึ้นอยู่กับว่าลูกน้อยอยู่ในสถานกาณ์ไหน เช่น ร้องไห้เวลาตื่นนอนและเวลาง่วงนอน หรือว่าร้องเพราะมีการตื่นตัวอยากจะเล่นแล้ว ซึ่งกว่าที่คุณแม่จะรู้ว่าลูกร้องแบบนี้หมายความว่าอะไร ต้องอยู่จนคุ้นเคยกับลูกก่อนจึงจะสามารถเดาได้ค่ะ
4. พูดคุยกับลูก
แม้ว่าทารกจะมีช่วงเวลาที่เงียบสงบหรือร้องอาละวาดอยู่ทุกวัน แต่ไม่ว่าเวลาไหนคุณแม่ก็ควรพูดคุยกับลูกน้อย เพื่อเป็นการสอนว่าสิ่งไหนที่ลูกทำได้และทำไม่ได้ เนื่องจากเด็กจะใช้การสังเกตสีหน้าและน้ำเสียงของพ่อแม่ด้วยเช่นกันค่ะ หากลูกสนใจในสิ่งที่คุณพูดเขาจะตั้งใจฟังและมีการแสดงออกทางสีหน้าเล็กน้อย
5. โต้ตอบลูกบ่อย
ในช่วงแรก ๆ ลูกจะยังไม่ค่อยเข้าใจที่เราต้องการจะบอก และเราก็ไม่ค่อยเข้าใจสิ่งที่ลูกต้องการจะบอกเช่นกัน แต่คุณควรต้องพูดโต้ตอบลูกบ่อย ๆ เพื่อเป็นการฝึกให้เขาได้ตอบโต้บ้างค่ะ
ที่มา: kidspot
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
ลูกเกิดปีหมูดีไหม ลูกเกิดวันไหนดี อ่านคำทำนายดวงชะตาเด็กเกิดปี 2562 กันเลย!
สารอาหารเด็กเล็ก อาหารที่เหมาะสมกับวัยทารก 1-3 ปี ลูกต้องการสารอาหารอะไรบ้าง
หัวของทารกแรกเกิด ลูกหัวแบน ลูกหัวเบี้ยว กระหม่อมของของทารกปิดตอนไหน