ผนังหน้าท้องไม่ปิด สาเหตุการเกิด gastroschisis ที่ทำให้ลูกต้องทรมานตั้งแต่แรกเกิด

หนังหน้าท้องไม่ปิด เกิดจากอะไร มารู้จัก Gastroschisis ภาวะลำไส้อยู่นอกช่องท้องในทารกแรกเกิด

ผนังหน้าท้องไม่ปิด สาเหตุการเกิด gastroschisis

ลูกต้องทรมานตั้งแต่แรกเกิด ผนังหน้าท้องไม่ปิด มาทำความเข้าใจ สาเหตุการเกิด gastroschisis หนังหน้าท้องไม่ปิด เพราะเกิดภาวะลำไส้อยู่นอกช่องท้องในทารกแรกเกิด

คุณแม่ท่านหนึ่งได้โพสต์ภาพ พร้อมเล่าถึงอาการของลูกที่ป่วยเป็น gastroschisis เพื่อเป็นกำลังใจให้แม่ท่านอื่น ๆ โดยโพสต์ว่า

ขออนุญาตนำภาพน้องพาขวัญมาเป็นกำลังใจให้คุณแม่ที่มีลูกกำลังป่วยนะคะ

น้องพาขวัญเป็นโรค gastroschisis หรือผนังหน้าท้องไม่ปิด บวกกับลำไส้อุดตัน ต้องตัดต่อลำไส้ ขนาดลำไส้ใหญ่เท่าขนาดเล็ก ลำไส้เล็กเท่ากับลำไส้ใหญ่ เนื่องด้วยลำไส้แช่ในน้ำคร่ำนาน เลยทำให้ลำไส้น้องบวมและอุดตัน

  • น้องพาขวัญคลอดก่อนกำหนด 35+5 สัปดาห์ ก่อนวันคลอดน้องไม่ดิ้น ต้องผ่าคลอดฉุกเฉิน
  • คลอดออกมาน้องหายใจเองไม่ได้ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจมีผิวคล้ำ
  • อยู่ NICU เดือนกว่า ๆ ผ่าตัดไปแล้วทั้งหมด 4 รอบ
  • แทง Central Line เพื่อให้สารอาหารทางเส้นเลือดใหญ่ 7 เส้น
  • สลับกับแทงเส้นเลือดแดงเป็นระยะ (เพราะน้องกินนมไม่ได้) จึงมีความจำเป็นที่จะต้องให้สารอาหารทางเส้นเลือด ตั้งแต่วันคลอดจวบจนวันนี้ก็ 6 เดือนแล้วที่น้องยังคงรักษาตัวที่โรงพยาบาล

ขอเป็นกำลังใจให้แม่ๆ ทุกคนที่มีลูกกำลังป่วย เราจะสู้ไปด้วยกันนะคะ

 

สาเหตุการเกิด gastroschisis

คุณแม่ยังเล่าด้วยว่า เคยถามคุณหมอเหมือนกันว่าโรคนี้เกิดจากอะไร คุณหมอก็หาสาเหตุไม่ได้เหมือนกันค่ะ แต่คุณหมอบอกว่าโรคนี้จะเกิดขึ้นกับคุณแม่ที่อายุน้อยกับคุณแม่ที่น้ำหนักตัวน้อย ซึ่งความจริงแล้ว แม่ก็อายุเยอะแล้ว 37 ปี น้ำหนักตัวของแม่ก็อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

ส่วนลำไส้ที่แช่เป็นเวลานานหลายเดือน ทำให้การทำงานของลำไส้ผิดปกติ กว่าจะกลับมาทำงานได้ปกติต้องใช้เวลาพอสมควร บางคนก็ 6 เดือน บางคนก็ 1 ปี บางคนก็ 2 ปี ขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของเด็กแต่ละคนค่ะ

ตอนนี้ก็อยู่โรงพยาบาลตลอด เพราะน้องกินนมไม่ได้ต้องให้สารอาหารทางเส้นเลือดดำ แต่น้องก็เริ่มกินนมได้บ้างแล้วด้วยการใช้เครื่องให้นม

ทางทีมงานดิเอเชี่ยนพาเร้นท์ ขอให้น้องแข็งแรงในเร็ววัน และขอเป็นกำลังใจให้คุณแม่ทุกท่านที่กำลังดูแลลูกน้อย อย่าเพิ่งท้อนะคะ

 

อ่านข้อมูล ภาวะลำไส้อยู่นอกช่องท้องในทารกแรกเกิด จากคุณหมอในหน้าถัดไป

ภาวะลำไส้อยู่นอกช่องท้องในทารกแรกเกิด (Gastroschisis) คืออะไร?

คุณแม่ท่านหนึ่ง ซึ่งไม่เคยฝากครรภ์ คลอดลูกออกมาแล้วพบว่าลูกน้อยวัยแรกเกิดมีลำไส้ออกมากองที่หน้าท้อง ทำให้เกิดความวิตกกังวลเป็นอย่างมาก คุณหมอให้การวินิจฉัยว่า ลูกมีภาวะลำไส้อยู่นอกช่องท้องในทารกแรกเกิดหรือ Gastroschisis จึงได้ให้คำแนะนำและตอบคำถามของคุณแม่ดังนี้ค่ะ

 

Gastroschisis คืออะไร?

Gastroschisis เป็นภาวะที่มีความพิการแต่กำเนิดของทารกชนิดหนึ่ง โดยทารกจะมีลำไส้อยู่นอกช่องท้องเพราะผนังหน้าท้องใกล้กับสะดือแยกเป็นช่องโหว่ ซึ่งมักจะอยู่ทางด้านขวาของสะดือ ซึ่งจัดเป็นภาวะที่ทารกจะต้องได้รับการผ่าตัดเพื่อแก้ไขภาวะนี้โดยทันทีหลังคลอด

ภาวะนี้พบได้ประมาณ 1 ใน 5,000 ถึง 1 ใน 20,000 ของทารกแรกเกิดมีชีพ มักพบในคุณแม่ที่เป็นครรภ์แรกและคุณแม่มีอายุน้อย

 

Gastroschisis เกิดจากอะไร?

ภาวะนี้เกิดจากผนังหน้าท้องไม่แข็งแรงและแตกออกทำให้ลำไส้หลุดออกมานอกช่องท้อง ซึ่งไม่ทราบสาเหตุชัดเจน แต่มีรายงานการศึกษาว่า พบมากในทารกที่คุณแม่…

  • ดื่มสุรา
  • สูบบุหรี่
  • มีอายุน้อย
  • ทารกที่น้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ
  • ทารกคลอดก่อนกำหนด

(ดังนั้น คุณแม่ตั้งครรภ์ ก็ไม่ควรดื่มสุรา สูบบุหรี่ นะคะ)

 

การวินิจฉัย Gastroschisis ทำได้อย่างไร ?

ภาวะนี้สามารถวินิจฉัยในทารกที่อยู่ในครรภ์ได้ตั้งแต่ก่อนคลอด โดยคุณหมอสามารถทำอัลตร้าซาวด์พบลักษณะลำไส้อยู่นอกช่องท้อง ซึ่งหากได้รับการวินิจฉัยภาวะนี้คุณหมอจะรีบส่งตัวคุณแม่มารับการรักษาต่อที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่มีบุคลากร เช่น ศัลยศาสตร์พร้อมที่จะดูแลทารกที่มีภาวะนี้

หากได้รับการวินิจฉัยเมื่อแรกเกิด จะพบว่าทารกที่มีภาวะนี้จะเกิดมาพร้อมกับมีช่องโหว่ของผนังหน้าท้องและมีอวัยวะภายใน โดยเฉพาะลำไส้ออกมาจากช่องท้องซึ่งลำไส้จะดูบวมเพราะแค่อยู่ในน้ำคร่ำนาน

 

การดูแลรักษาทารกที่มีภาวะ Gastroschisis ทำได้อย่างไร?

ทารกแรกเกิดที่มีภาวะนี้จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไขความผิดโดยด่วน เพราะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้ออย่างรุนแรงการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ และการสูญเสียความร้อนจนอุณหภูมิของร่างกายต่ำกว่าปกติอันจะเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ การผ่าตัดนำลำไส้เข้าไปในช่องท้องจะต้องระวังการติดเชื้อแทรกซ้อนและการเกิดภาวะหายใจผิดปกติของทารก

ดังนั้น หลักในการดูแลผู้ป่วยจึงต้องป้องกันการสูญเสียน้ำและความร้อน โดยให้ความอบอุ่นแก่ทารกให้เพียงพอให้ สารน้ำและเกลือแร่ และให้ยาปฏิชีวนะที่ครอบคลุมการติดเชื้อ พิจารณาใส่ท่อช่วยหายใจแก่ทารก และส่งตัวทารกให้ถึงโรงพยาบาลที่มีศักยภาพในการรักษา เพื่อที่ศัลยแพทย์จะได้ทำการผ่าตัดลำไส้เข้าไปอยู่ในช่องท้องและเย็บปิดผนังหน้าท้องแก่ผู้ป่วย ทั้งนี้ การผ่าตัดอาจกระทำเพียงแค่ครั้งเดียวหรืออาจต้องผ่าตัดหลายครั้ง หากทารกมีลำไส้บวมมากและผนังหน้าท้องเล็กเกินไป เพราะหากใส่ลำไส้กลับเข้าไปหมดจะทำให้เกิดปัญหาการหายใจไม่เพียงพออันเป็นอันตรายได้

 

พยากรณ์โรคของภาวะ Gastroschisis เป็นอย่างไร?

ปัจจุบันการพยากรณ์โรคของภาวะนี้ดีขึ้นมาก เนื่องจากสามารถวินิจฉัยได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์และส่งตัวผู้ป่วยเพื่อเตรียมการคลอดทารกได้เร็วขึ้นทำให้ภาวะแทรกซ้อนผู้ป่วยที่สำคัญคือการติดเชื้ออย่างรุนแรง ลดลงมาก

ผู้ป่วยภาวะนี้ปัจจุบันมีอัตราการรอดชีวิตที่สูงหากได้รับการรักษาโดยทีมแพทย์และพยาบาลผู้เชี่ยวชาญ แต่ก็อาจมีภาวะแทรกซ้อนได้จาก ความผิดปกติที่พบร่วม เช่น

  1. ลำไส้อุดตัน
  2. ทารกคลอดก่อนกำหนด
  3. การติดเชื้อในกระแสเลือดจากการให้อาหารทางหลอดเลือด

ซึ่งแพทย์ผู้ทำการรักษาเฝ้าระวังตลอดการดูแลผู้ป่วยค่ะ

 

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ลูกเป็นโรคคาวาซากิ ไข้ไม่ลด ซึม ผื่นขึ้น ตาบวมแดง อาการแบบนี้ใช่เลย

โรต้าไวรัส สาเหตุโรคอุจจาระร่วง วิจัยเผยส่งผลต่อพัฒนาการทารก เสี่ยงไอคิวต่ำ

ลูกตาย เพราะยายป้อนกล้วย หลังเกิดมาได้แค่ 10 วัน ต้องอีกกี่รายถึงจะยอมเชื่อ