ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด 100 สิ่งแม่ท้องต้องรู้ ตอนที่ 67

ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด คืออะไร ?

ตามปกติแล้ว รกควรจะลอกตัวออกจากโพรงมดลูก หลังจากที่ทารกคลอดออกมาแล้ว ไม่ว่าจะคลอดธรรมชาติ หรือผ่าคลอดทางหน้าท้องก็ตาม แต่หากทารกยังไม่คลอด แต่รกเกิดลอกตัวจากโพรงมดลูก ไม่ว่าจะหลุดลอกออกเพียงเล็กน้อย หรือหลุดลอกออกบริเวณกว้าง ก็อาจจะทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิต ทั้งมารดา และทารกในครรภ์ได้ เพราะรกเป็นช่องทางการติดต่อระหว่างมารดา และทารกในครรภ์ ทั้งสารอาหาร และออกซิเจน หากรกมีการลอกตัว ออกจากผนังมดลูก อาจทำให้ทารกในครรภ์ขาดออกซิเจน และสารอาหารได้ โดยภาวะนี้ มีโอกาสเกิดขึ้นเพียงประมาณ 1 ใน 150 คน

ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด พบได้บ่อยสุดในไตรมาสสุดท้าย ของการตั้งครรภ์ โดยมีอาการได้หลายรูปแบบ เช่น เลือดออกทางช่องคลอด ปวดท้อง มดลูกกดเจ็บ มดลูกมีการบีบตัว เกือบจะตลอดเวลา มักเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน และอาจเป็นอันตรายต่อทั้งตัวมารดา และทารกในครรภ์ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

 

ความเสี่ยงในการเกิดภาวะ รกลอกตัวก่อนกำหนด

  • เคยมีภาวะ รกลอกตัวก่อนกำหนด มาก่อน
  • ความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์
  • ได้รับการกระแทกอย่างรุนแรงที่หน้าท้อง
  • การใช้สารเสพติด เช่น โคเคน
  • น้ำเดิน
  • ภาวะเลือดออกง่ายผิดปกติ
  • ครรภ์แฝด
  • มารดาอายุมาก (มากกว่า40ปี)

ส่วนใหญ่อาการเจ็บปวดต่าง ๆ มักเกิดขึ้นทันที แต่ปริมาณเลือดที่ไหลออกมาจากช่องคลอดอาจมีมากหรือน้อยแตกต่างกัน บางกรณีอาจไม่มีเลือดออกเลย เนื่องจากเลือดอาจขังอยู่ ภายในมดลูก ซึ่งปริมาณเลือดอาจไม่สัมพันธ์กับความรุนแรงของรก ที่ลอกตัวออกมา

นอกจากนี้ ยังมีอาการอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในกรณีที่ภาวะ Abruptio Placentae เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ เช่น มีเลือดออกทางช่องคลอด แบบกะปริบกะปรอย มีปริมาณน้ำคร่ำน้อยกว่าปกติ และทารกในครรภ์เจริญเติบโตช้า เป็นต้น

ชนิดของรกลอกตัวก่อนกำหนด สามารถแบ่งออกได้หลายวิธี เช่น

แบ่งตามพยาธิสภาพ (ภาพที่1)

  1. Concealed type : รกลอกตัวแล้วเลือดคั่งอยู่ใต้ชั้นรก(internal hemorrhage)
  2. Revealed type : รกลอกตัวแล้วเลือดไหลออกมาทางปากมดลูกและช่องคลอด [external hemorrhage]

แบ่งตามระดับความรุนแรง

: ไม่มีอาการ [Asymptomatic]

วินิจฉัยหลังคลอด โดยจะพบ blood clot ที่รกด้านแม่

: ความรุนแรงน้อย [Mild]

– ไม่พบเลือดออกทางช่องคลอดหรือมีเพียงเล็กน้อย

– กดเจ็บที่มดลูกเล็กน้อย

– สัญญาณชีพของมารดาและทารกปกติ ไม่มีภาวะ fetal distress

: ความรุนแรงปานกลาง [Moderate]

– ไม่พบเลือดออกทางช่องคลอดหรือพบได้ปานกลาง

– กดเจ็บที่มดลูกชัดเจน มีการหดรัดตัวแบบ tetanic contraction

– สัญญาณชีพเปลี่ยนแปลง

– มีภาวะfetal distress

– Hypofibrinogenemia

: ความรุนเรงมาก [Severe]

– ไม่พบเลือดออกทางช่องคลอดหรือพบแบบรุนแรง

– มดลูกหดเกร็งอย่างมาก

– มีภาวะช็อคของมารดา

– พบภาวะ hypofibrinogenemiaหรือcoagulopathy

– ทารกเสียชีวิต

การรักษา รกลอกตัวก่อนกำหนด

การรักษา Abruptio Placentae จะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ อย่างปริมาณเลือดที่ไหลออกมาจากช่องคลอด อายุครรภ์ รวมถึงสุขภาพของหญิงตั้งครรภ์ และทารก

หากอายุครรภ์ยังน้อย ทารกในครรภ์ยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ แพทย์อาจตรวจอัตราการเต้นของหัวใจทารกในครรภ์ หากอัตราการเต้นของหัวใจ ยังเป็นปกติ และการลอกตัวของรก ไม่รุนแรงนัก อาจไม่จำเป็นต้องทำคลอดก่อนกำหนด  แต่ควรได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด จนกว่าอาการเลือดออกจะหยุดลง หากทารกมีอาการคงที่ และไม่มีเลือดออกแล้ว แพทย์อาจอนุญาตให้ผู้ป่วย กลับไปพักฟื้นที่บ้านได้ นอกจากนี้ แพทย์อาจใช้ยาในกลุ่ม คอร์ติโคสเตียรอยด์ เพื่อช่วยเร่ง ให้ปอดของทารกเจริญเต็มที่ ในกรณีที่จำเป็นต้องคลอดก่อนกำหนด

ในกรณีที่มีอายุครรภ์ใกล้ครบกำหนด หากอาการไม่รุนแรง แพทย์อาจให้ใช้วิธีคลอดธรรมชาติ โดยดูแลให้เด็กคลอด ผ่านทางช่องคลอดอย่างระมัดระวัง แต่หากอาการค่อนข้างรุนแรง และเสี่ยงต่อสุขภาพของมารดา หรือทารก อาจต้องผ่าคลอดทันที และหากมารดาเสียเลือดมาก ก็อาจจำเป็นต้องได้รับการให้เลือดด้วย

ส่วนกรณีที่รกลอกตัวจากมดลูก จนหมดทุกส่วน หรือใกล้หมดทุกส่วน ผู้ที่ตั้งครรภ์ต้องเข้ารับการผ่าคลอด ทางหน้าท้องทันที เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับมารดา และทารกในครรภ์

นอกจากนี้ยังพบว่า ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด เป็นภาวะแทรกซ้อน ที่เกิดจากภาวะครรภ์เป็นพิษ การแพทย์ปัจจุบัน สามารถตรวจคัดกรองความเสี่ยงของครรภ์เป็นพิษได้ ตั้งแต่อายุครรภ์ 11 – 13 สัปดาห์ 6 วัน จะพบโอกาสเสี่ยงของการเกิดได้มากกว่า 90 % และยังช่วยป้องกันได้ถึง 70% การฝากครรภ์ทันที ตั้งแต่อายุครรภ์ยังน้อย และการมาตรวจครรภ์อย่างสม่ำเสมอ ตามแพทย์นัด จะช่วยป้องกันความเสี่ยงต่าง ๆ ได้

ที่มา :

  1. https://w1.med.cmu.ac.th/obgyn/index.php?
  2. https://www.pobpad.com/abruptio-placentae-
  3. https://medthai.com/%E0%B8%A3%E
  4. https://www.samitivejhospitals.com/th/article/detail/

 

บทความโดย

ammy