พ่อแม่ ไม่ควรพูดกับลูก เพียงประโยคเดียว ทำร้ายลูกได้ทั้งชีวิต พูดไปจะเสียใจทีหลัง

พ่อแม่หยุดเถอะนะ หยุดบั่นทอนจิตใจลูก เลิกพูดคำนั้น ประโยคเหล่านี้ ทำลายอนาคตหนูได้เลยนะแม่

พ่อแม่ ไม่ควรพูดกับลูก

จำไว้เลย คำพูดคำนั้น ประโยคเหล่านี้ พ่อแม่ ไม่ควรพูดกับลูก คิดให้ดีก่อนพูด อย่าใช้อารมณ์ อย่าโมโหจนขาดสติ!

 

หยุด! คำร้าย…ทำลายครอบครัว

ในเดือนพฤศจิกายน ของทุกปีเป็น “เดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี” ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และสำนักงานสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกันแถลงข่าวการจัดงานรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ประจำปี พ.ศ. 2560 ภายใต้แนวคิด “สร้างครอบครัวไร้รุนแรง ด้วยสื่อสารที่สร้างสรรค์” อันมีคำขวัญ “หยุด! คำร้าย…ทำลายครอบครัว” รณรงค์ให้ครอบครัวและสังคมมีการสื่อสารเชิงบวกเพื่อสร้างสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัว

พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า เหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งเป็นการใช้วาจาที่ไม่เหมาะสมระหว่างบุคคลในครอบครัว ส่งผลต่อสภาพแวดล้อมของครอบครัว ทั้งยังกระทบต่อสุขภาพกายและจิตของบุคคลในครอบครัวอีกด้วย จึงต้องเริ่มที่ครอบครัวให้มีการสื่อสารเชิงบวกต่อกัน ให้เกียรติกันทั้งทางกายและวาจา ก็จะช่วยลดการเกิดความรุนแรงในครอบครัวได้

 

พม. โดย กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ได้ทำแบบสำรวจความคิดเห็น

10 คำดีที่อยากได้ยินจากคนในครอบครัว ประกอบด้วย

  1. เหนื่อยไหม
  2. รักนะ
  3. มีอะไรให้ช่วยไหม
  4. คำชมเชย (ภูมิใจ/ดี/เยี่ยม)
  5. ไม่เป็นไรน่ะ
  6. สู้ ๆ นะ
  7. ทำได้อยู่แล้ว
  8. คิดถึงนะ
  9. ขอบคุณนะ
  10. ขอโทษนะ

พบว่า อันดับ 1 เหนื่อยไหม ร้อยละ 20.2 อันดับ 2 รักนะ ร้อยละ 16.1 อันดับ 3 มีอะไรให้ช่วยไหม ร้อยละ 15.2

 

10 คำร้ายที่ไม่อยากได้ยินจากคนในครอบครัว ประกอบด้วย

  1. ไปตายซะ
  2. คำด่า (เลว/ชั่ว)
  3. แกไม่น่าเกิดเป็นลูกฉันเลย
  4. ตัวปัญหา
  5. ดูลูกบ้านอื่นบ้างสิ
  6. น่ารำคาญ
  7. ตัวซวย
  8. น่าเบื่อ
  9. ไม่ต้องมายุ่ง
  10. เชื้อพ่อเชื้อแม่มันแรง

พบว่า อันดับหนึ่ง คือ ไปตายซะ/จะไปตายที่ไหนก็ไป ร้อยละ 20.4 อันดับ 2 คำด่า (เลว/ชั่ว) ร้อยละ 19 และอันดับ 3 แกไม่น่าเกิดเป็นลูกฉันเลย ร้อยละ 16.5

 

ทั้งนี้ การสื่อสารต่อกันจะเป็นปัจจัยสนับสนุนที่ดีในการทำให้อีกฝ่ายมีพฤติกรรมที่ดีขึ้น และการสื่อสารในเชิงให้กำลังใจจะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัวให้มีความผูกพันรักใคร่ และครอบครัวมีความเข้มแข็งกันมากยิ่งขึ้น

 

ด้านศ.คลินิก นพ. พรชัย มูลพฤกษ์ กล่าวว่า ปัญหาความรุนแรงต่อเด็กสตรีและความรุนแรงในครอบครัวเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมและประเทศไทย การแก้ไขการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงและบุคคลในครอบครัวมีความละเอียดอ่อน ซับซ้อน เกี่ยวพันกับบุคคลใกล้ชิด การแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด หรือปกป้องคุ้มครองผู้ที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรงจะต้องคำนึงถึงการรักษาความสัมพันธ์อันดีในครอบครัวไว้ด้วย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาเรื่องนี้ จึงติดตามข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้มาโดยตลอด

 

ในปีที่ผ่านมานี้ คณะฯ โดย ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ได้มีการสำรวจความชุกความรุนแรงต่อผู้หญิงและบุคคลในครอบครัวโดยเป็นการสำรวจครั้งแรกและเป็นการสำรวจระดับประเทศ (National Survey) ซึ่งข้อมูลจากการสำรวจนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว

ที่มา : https://www.komchadluek.net

 

คำพูดทำร้ายจิตใจลูก

คำพูดทำร้ายจิตใจลูกยังมีอีกมากมาย ที่สามารถส่งผลต่อชีวิตลูกได้ทั้งชีวิต ทำให้ลูกไม่มั่นใจในตัวเอง สูญเสียความเชื่อมั่น ไม่เคารพตัวเองหรือมองว่าตัวเองไร้คุณค่า ทั้ง ๆ ที่พ่อแม่หวังดีอยากสั่งสอน อบรมเพื่อให้ลูกเติบโตเป็นคนดี แต่ความหวังดีนั้นกลับทำร้ายลูกโดยไม่รู้ตัว

มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก ได้นำเสนอบทความคำพูดที่เด็ก ๆ ไม่ต้องการ เพราะหลายครั้งที่คำพูดของพ่อแม่ผู้ปกครอง อาจเป็นคำพูดที่ร้ายจิตใจของเด็ก ๆ อย่างไม่รู้ตัว

 

คำพูดที่แสดงอารมณ์ โทสะ ดุดัน และแฝงไปด้วยความไม่พอใจ

มีผลกระทบทำให้เด็กเกิดความรู้สึกโกรธและรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ต่อพ่อแม่ ทุกข์ใจ ไม่สบอารมณ์ เพราะแทนที่เด็กจะได้เรียนรู้ รับฟังและได้แก้ไขปรับปรุงได้ เกิดความไม่เชื่อถือ เมื่อพ่อแม่พูดอะไร เด็กก็จะไม่เชื่อฟัง เพราะโกรธไม่พอใจพ่อแม่ ยิ่งพ่อแม่ทำบ่อย ๆ เด็กก็จะเลียนแบบและซึมซับคำพูดของพ่อแม่นั้นเข้าไว้ในตัวเอง นั่นคือ ถ้าเด็กพูดจาก้าวร้าว ดุดัน มาจากพ่อแม่ที่ทำให้เห็น

 

คำพูดแบบไม่ก้าวร้าว ดุดันแต่ย้ำพูด ย้ำถาม

คำพูดที่แสดงความวิตกกังวล แสดงความห่วงใยมากเกินไป ย้ำถาม ย้ำปฏิบัติ โดยไม่รู้ว่าลูกต้องการหรือไม่ต้องการ ทำให้เด็กรำคาญ กลับเกิดความรู้สึกวิตกกังวลและความรู้สึกไม่มั่นใจตามไปด้วยยิ่งเป็นวัยรุ่นยิ่งไม่ชอบและรำคาญ เด็กอาจพาลโกรธไปเลยก็ได้

 

คำพูดที่กัดกร่อนใจ

พูดจากินแหนงแคลงใจ พูดกระแหนะกระแหน คือการพูดจาแบบจิกให้เจ็บ ประชดประชัน คำพูดแบบนี้ เป็นคำพูดที่ทำให้เด็กเสียใจและเกิดภาพในใจที่ไม่ดี เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อตัวเอง เมื่อพ่อแม่ว่าประชด เด็กจะเสียใจหงุดหงิด คิดว่าตัวเองไม่มีค่าสำหรับพ่อแม่

 

คำพูดที่ก่อให้เกิดปัญหาในครอบครัวอีกอย่างคือ คำพูดที่สื่อออกมาลอย ๆ ไม่มีเป้าหมายว่าพูดกับใคร

เช่น เมื่อแม่กลับมาบ้านแล้วเห็นลูกไม่ทำอะไรเลย พ่อก็ไม่ได้รับผิดชอบงานบ้านอะไร แล้วแม่ก็ว่าขึ้นมาว่า “เบื่อจริงๆ เกิดมาต้องใช้ชีวิตอยู่กับคนไม่รับผิดชอบ” คนที่นั่งอยู่ทั้งพ่อทั้งลูกก็ไม่รู้ว่าแม่ว่าใคร เด็กก็ไม่รู้ว่าดุใคร คิดว่าแม่ดุตัวเอง ทั้ง ๆ ที่อาจจะไม่ใช่ ก็เกิดความเข้าใจผิด

 

อีกหนึ่งที่คำพูดที่เป็นปัญหาคือ การไม่พูดความจริงต่อกัน

พูดแล้วผัดวันประกันพรุ่ง สัญญาแล้วไม่เป็นสัญญา พ่อแม่มักจะสัญญาให้ลูกตั้งใจเรียน แล้วพ่อแม่จะพาไปเที่ยว เมื่อลูกตั้งใจเรียนดีแล้ว แต่อีก 10 เดือนก็ยังไม่พาลูกไปจะทำให้เด็กรออย่างมีความหวัง ไม่เพียงเท่านั้น เด็กอาจจะมีความเข้าใจว่าการพูดไม่จริง พูดโกหก เป็นสิ่งที่ทำได้เป็นเรื่องปกติ ไม่ว่าจะเป็นการสัญญาลมๆ แล้งๆ พูดโกหก พูดปด เด็กก็จะทำบ้าง เพราะมีพ่อแม่ทำเป็นตัวอย่าง

 

การพูดที่พบบ่อยทั้งในบ้านและโรงเรียน คือการพูดล้อเลียน

การพูดล้อเลียนมากจะทำให้เด็กรู้สึกว่าสิ่งนั้นเป็นปมด้อยของเขา หรือทำให้เขามีอารมณ์โกรธโดยไม่จำเป็น กลายเป็นคนโกรธง่าย หรือขี้โมโหเพราะมีคนไปกระเช้าเย้าแหย่เขามากจนเกินไป

ที่มา : https://www.thaichildrights.org

 

การเลี้ยงลูกมันเหนื่อย ทำให้พ่อแม่เผลอพูดคำทำร้ายจิตใจลูกโดยไม่รู้ตัว ดังนั้น ก่อนจะเอ่ยคำพูดออกไป ต้องคิดถึงจิตใจลูกเสมอ และหมั่นเตือนตัวเองให้ดีว่าประโยคแบบไหนที่พ่อแม่ไม่ควรพูดกับลูก

 

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ไม่รักแม่แล้ว มีอะไรอยู่ในคำพูดลูก เรื่องที่พ่อแม่ต้องอ่านให้ขาด

ฉีกกฎของการเป็นพ่อแม่แบบเดิมๆ เลิกใช้ 10 คำพูดเก่าๆ กับลูก

10 คำพูดที่เข้าใจหัวอกแม่ลูกอ่อนได้ตรงเป๊ะที่สุด!

แม่จ๋าพ่อจ๋า รักหนูอย่าพูดกับหนูแบบนี้ 9 สิ่งที่ไม่ควรพูดกับลูก

พูดไม่เข้าหู !!! เมียท้องอยู่อย่าพูดแบบนี้ได้มั้ยที่รัก

 

บทความโดย

theAsianparent Editorial Team