เด็กวัย 7 เดือน ลูกมักสื่อสารกับพ่อแม่มากขึ้น และแสดงท่าทางให้พ่อแม่เห็นได้ชัด คุณพ่อคุณแม่ควรพัฒนาการเติบโตของ เด็กวัย 7 เดือน อย่างไร วันนี้เรามีคำตอบ…
ลูกเริ่มมีการเจริญเติบโตขึ้นกว่าเดิมมาก ด้วยน้ำหนักตัวของลูกในวัย 7 เดือนจะหนักเป็นน้ำหนักสองเท่าของน้ำหนักตอนแรกเกิด สัดส่วนเริ่มเปลี่ยนไป แขนขาและลำตัวเริ่มยาวขึ้น คุณแม่จะอุ้มลูกได้ง่ายกว่าเดิม เพราะกล้ามเนื้อคอแข็งแรง จนสามารถประคองศีรษะตัวเองได้แล้ว ในวัย 7 เดือนเพศหญิงจะมีขาที่ยาวกว่าเพศชาย
เรียกคุณพ่อกับคุณแม่ได้แล้ว
- เด็กสามารถส่งเสียงเป็นคำๆ ที่มีทั้งเสียงสระและพยัญชนะผสมกันได้บ้างแล้ว เช่น ปะปา มะมา
- สนใจฟังเสียงที่ได้ยินทั้งเสียงของตัวเองและเสียงคนอื่น ซึ่งเขาพยายามที่จะเลียนแบบ ช่วงนี้จึงเป็นโอกาสเหมาะที่คุณแม่จะช่วยเพิ่มคำศัพท์ต่างๆ ให้ลูก สอนลูกเรียกชื่อสิ่งต่างๆ รอบตัว ชวนลูกคุย หรืออ่านหนังสือนิทานให้ลูกฟัง เพื่อเสริมสร้างพัฒนาการทางภาษาของลูก
ทำไมช่วงนี้ลูกติดแม่
ในวัยนี้ลูกจะแสดงอาการติดแม่มากขึ้น และชอบสำรวจสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัว แต่ก็จะคอยหันดูแม่ว่าแม่อยู่ใกล้ ๆ หรืออยู่แถวนั้นหรือไม่ และเมื่อลูกติดแม่แล้ว ลูกก็จะไม่ค่อยไว้ใจคนอื่นเท่าไหร่ โดยเฉพาะคนแปลกหน้า ลูกอาจจะอาละวาดหรือร้องไห้เสียงดัง เมื่ออยู่กับคนแปลกหน้า
ลูกหัวเราะง่ายผิดปกติไหม ?
ไม่ผิดปกตินะคะ หากเป็นการหัวเราะชอบใจเมื่อได้เล่นของที่ชอบ หรือมีเรื่องทำให้สนใจ เช่น แกล้งทำเป็นของหล่นแล้วแกล้งตกใจเมื่อของหล่น ลูกก็จะหัวเราะออกมาง่าย ๆ เมื่อคุณแม่ทำซ้ำ ยังไม่ทันเสร็จลูกก็จะหัวเราะออกมาก่อน
กล้ามเนื้อของลูกแข็งแรงมากแค่ไหน
เด็ก 7 เดือน นอกจากการนั่งที่มั่นคงแล้ว ยังเป็นการเตรียมพร้อมไปสู่การเคลื่อนไหว เช่น การคลาน ยืน หรือเดิน ลูกจะนั่งได้มั่นคงแล้วเพื่อฝึกฝนการคืบคลานต่อไป ซึ่งนอกจากความพร้อมของกล้ามเนื้อต่างๆ ที่ช่วยให้ลูกคลานได้แล้ว สมองส่วนบนและล่างที่ควบคุมกล้ามเนื้อเหล่านั้นต้องทำงานประสานกันได้ดีด้วย คุณแม่จึงต้องเปิดโอกาสให้ลูกได้ฝึกการเคลื่อนไหวระหว่างวันมากกว่าปล่อยให้ลูกนอนอยู่กับที่ โดยอาจจะหาของเล่นมาหลอกล่อให้ลูกพยายามเคลื่อนไหวร่างกายบ่อยๆ และเรียนรู้ที่จะคืบและคลานอย่างถูกวิธี
- การหยิบ : ลูกมักหยิบจับสิ่งของใหญ่ ๆ ก่อนสิ่งของที่เล็ก เป็นการประสานงานระหว่างมือและตา ช่วยให้หยิบสิ่งนั้น ๆ ขึ้นมาได้ คุณแม่อาจฝึกทักษะทางสังคม เรื่องการให้และรับกับลูกด้วยก็ได้ เรียกว่าเป็นการปูพื้นฐานเรื่องนี้ตั้งแต่เล็กๆ
- การสัมผัส : ลูกจะสัมผัสพื้นผิวที่มีความแตกต่างกัน เช่น เรียบ ขรุขระ หยาบ นุ่ม จะช่วยให้ลูกจับสัมผัสที่แตกต่าง โดยขณะให้ลูกจับสัมผัส คุณแม่ควรบอกลูกด้วยว่า สัมผัสแบบนั้นเรียกว่าอย่างไร โดยพูดสั้นๆ เช่น ผ้าลื่นๆ ช้อนแข็งๆ ตุ๊กตานิ่มๆ ทรายสากๆ เป็นต้น
สิ่งที่ต้องควรระวังเมื่อลูกเคลื่อนไหว
- ปลั๊กไฟ
- บันได
- พัดลม
- ของมีคม
พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงและเห็นได้ชัด
คุณแม่อาจจะเห็นลูกน้อยมีอาการหงุดหงิดก่อนเข้านอน และเริ่มส่งเสียงดังอ้อแอ้ขึ้นกว่าเดิม เวลาที่รู้สึกไม่สบายตัว คุณแม่สามารถส่งเสียงปลอบโยนลูก และโอบกอดลูกเพื่อสร้างความอบอุ่น
- เตรียมทำท่าคลาน เด็กบางคนอาจคลานได้บ้างแล้วในเดือนนี้
- หันศีรษะได้ตามที่ต้องการ
- ยืนขึ้นได้โดยการช่วยดึงของผู้เลี้ยง
- นั่งได้นานโดยไม่ต้องใช้หมอนพยุง ไม่ต้องพึ่งสิ่งของ
- ยันตัวให้ขึ้นในท่านั่งได้
- ถือของได้ด้วยมือทั้ง 2 ข้างและนำมาตีกัน
- ชอบให้มีคนเล่นด้วยและชอบเล่นของเล่น
- เล่น จ๊ะเอ๋ หรือทำเสียงแปลก ๆ ลูกจะชอบมากและหัวเราะเสียงดัง
- ชอบโยนสิ่งของเล่นเพื่อความสนุก
- เลียนแบบเสียงและลองออกเสียงจากสิ่งที่ได้ยิน
- ออกเสียงได้เป็นคำ ๆ เช่น ป๊ะ หม่ำ ปา มา
- กลัวคนแปลกหน้า และ ติดคนเลี้ยง
- แยกเสียงอารมณ์ของผู้ที่คุยด้วยได้ว่าโกรธหรืออารมณ์ดีอยู่
- เคลื่อนตัวไปหยิบของที่ต้องการเล่นได้เอง
- ชอบเล่นของเล่นที่มีเสียง
พ่อแม่ควรเล่นกับลูกวัยนี้อย่างไร ?
เล่นกับลูกน้อย เช่น สมมติว่าคุณพ่อคุณแม่เป็นเพื่อนวัยเดียวกับเค้า จะช่วยพัฒนาการและกระตุ้นทักษะด้านภาษาได้ การออกเสียง ขยับปากช้าๆ พร้อมทำท่าทางและหยิบจับของเล่นใกล้ตัวให้ลูกน้อยจดจำ การที่มีคนเล่นด้วยลูกน้อยก็จะเลียนแบบและออกเสียงตามโดยอัตโนมัติ บางครั้งสอนให้ลูกน้อยจำสิ่งของด้วยการเล่นซ่อนหากับของเล่นที่เค้าชอบ ก็ช่วยฝึกความจำและการเคลื่อนไหวร่างกายไปพร้อมๆ กัน กิจกรรมสนุกๆ อีกอย่างที่เด็กๆ ชอบมาก คือ การเล่นน้ำ ซึ่งต้องระวังเรื่องความปลอดภัยเป็นสำคัญ และอย่าปล่อยให้คลาดสายตา เพราะลูกน้อยวัย 7 เดือนยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้
theAsianparent Thailand เชื่อว่าการศึกษาที่ดี จะช่วยเสริมสร้างรากฐานที่ดีให้กับเด็ก เป็นการเริ่มต้นสร้างสภาะแวดล้อมในการเรียนรู้ได้อย่างสมวัย และเป็นไปตามที่พ่อแม่ต้องการการเลือกโรงเรียนให้กับลูกคือหัวใจหนึ่งของการศึกษา เพราะการเลือกโรงเรียนตั้งแต่เนอสเซอรี่ การเลือกโรงเรียนอนุบาล เป็นด่านแรกที่จะช่วยเสริมสร้างพัฒนาการให้กับลูกได้ เช่น มีหลักสูตรที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง หลักสูตรวิชาการที่พอดีกับการเรียนรู้ การใช้ Play Base Learning เพื่อเสริทสร้างพหุปัญญษทั้ง 8 ด้าน หรือ EF ที่ทำให้ลูกได้เรียนรู้ทั้ง Hard Skill และ Soft Skill อย่างสมดุลย์ เพราะการเรียนรู้ที่ดี สามารถเรียนรู้ได้ต่อเนื่องไม่จำกัด และทำให้เด็กค้นพบตัวตน และมีความสุขกับการเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง :
เข้าใจช่วงรับรู้ไวและส่งเสริม ให้ลูกมี พัฒนาการด้านภาษา ที่ดีได้อย่างไร
วิธีเล่นแบบไหนช่วยเสริมพัฒนาการลูก
ลูกฉลาดด้วย Executive Functions (EF) – ดนตรีกับพัฒนาการ