พัฒนาการการได้ยินของทารกในครรภ์
พัฒนาการการได้ยินของทารกในครรภ์ เริ่มต้นอย่างไร ลูกในท้องได้ยินเสียงตอนกี่เดือน และคุณแม่จะสามารถกระตุ้นพัฒนาการการได้ยินของลูกน้อยได้อย่างไร เรามีคำตอบ
- สัปดาห์ที่ 4-5 เซลล์ภายในตัวอ่อน เริ่มพัฒนาไปเป็น ใบหน้า สมอง จมูก หู และตา ของทารก
- สัปดาห์ที่ 9 รอยเว้าเล็กๆ ปรากฏที่ด้านข้างของลำคอทารก เพื่อพัฒนาเป็นหูทั้งด้านในและด้านนอก จากนั้นค่อยๆ เลื่อนขึ้นด้านบน และกลายเป็นขดหูเล็ก ๆ ในไตรมาสที่ 1 และ 2 หูของทารกยังคงพัฒนาต่อไป โดยหูชั้นในจะเชื่อมต่อกับเซลล์ประสาทในสมองที่รับผิดชอบการประมวลผลเสียงและกระดูกเล็กๆ ของหูชั้นกลาง ซึ่งทำหน้าที่รับรู้แรงสั่นสะเทือนของคลื่นเสียง
- สัปดาห์ที่ 18 ลูกน้อยได้ยินเสียงเป็นครั้งแรก
- สัปดาห์ที่ 24 หูน้อยๆ พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว ทารกจะมีความไวต่อเสียงมากขึ้น โดยเสียงที่ทารกได้ยินในช่วงนี้เป็นเสียงภายในตัวคุณแม่ เช่น เสียงหัวใจคุณแม่ เสียงอากาศที่เข้าและออกจากปอด เสียงคุณแม่ท้องร้องโครกคราก หรือแม่แต่เสียงเลือดไหลเวียนผ่านสายรก
- สัปดาห์ที่ 25-26 ทารกสามารถตอบสนองต่อเสียงโดยหันศีรษะหาเสียงได้แล้ว แต่ลูกจะได้ยินเสียงจากภายนอกไม่ชัด เนื่องจากถูกล้อมรอบด้วยน้ำคร่ำและชั้นของร่างกาย เสียงจากภายนอกจึงลดลงครึ่งหนึ่งก่อนจะผ่านเข้าไปถึงลูกน้อย
แต่เสียงที่ทารกได้ยินชัดที่สุดคือเสียงของแม่ ในไตรมาสที่สามลูกน้อยสามารถจดจำเสียงของแม่ได้แล้ว เมื่อได้ยินเสียงของแม่ อัตราการเต้นของหัวใจลูกจะสูงขึ้นทำให้ลูกตื่นตัวมากขึ้นเมื่อคุณแม่กำลังพูด
คุณแม่จะช่วยเสริมพัฒนาการการได้ยินของทารกในครรภ์ ได้อย่างไร?
ทารกจะได้ยินเสียงได้ดีตั้งแต่เดือนที่ 5 เป็นต้นไป เนื่องจากเครือข่ายใยประสาทที่ทำงานเกี่ยวกับการได้ยินของลูกมีพัฒนาการดีขึ้น คุณแม่สามารถช่วยกระตุ้นพัฒนาการการได้ยินของทารกในครรภ์ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยวิธีง่ายๆ
- คุยกับลูกบ่อยๆ เพียงน้ำเสียงปกติในชีวิตประจำวันของคุณแม่ รวมถึงการร้องเพลง หรืออ่านหนังสือ ก็ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการให้ลูกได้แล้ว
- การเปิดเพลงให้ลูกฟัง ไม่มีข้อจำกัดว่าต้องเป็นเพลงแนวไหน โมสาร์ท คลาสสิก ป๊อบ ร็อค ลูกทุ่ง ขอให้เป็นเพลงที่ฟังสบาย จะช่วยให้ลูกรู้สึกถึงจังหวะซึ่งจะไปกระตุ้นพัฒนาการได้ยิน พัฒนาการทางอารมณ์ และพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหว เมื่อลูกดิ้น หรือขยับตัวตามจังหวะดนตรี
- หลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมที่มีเสียงดังตลอดเวลา หรือดังซ้ำๆ บ่อยๆ เนื่องจากเสียงรบกวนอาจส่งผลต่อพัฒนาการของลูก และอาจทำให้ลูกน้อยที่กำลังเจริญเติบโตสูญเสียการได้ยิน หากคุณแม่ต้องทำงานในที่ที่มีเสียงรบกวนยาวนาน 8 ชั่วโมงต่อวัน แนะนำให้คุยกับหัวหน้างาน เพื่อย้ายแผนกชั่วคราว
คุณแม่ได้ทราบแล้วว่าพัฒนาการการได้ยินของลูกน้อยเริ่มต้นอย่างไร ดังนั้น อย่าพลาดโอกาสทองในการกระตุ้นพัฒนาการการได้ยินลูกน้อยตั้งแต่ในครรภ์นะคะ
ที่มา www.healthline.com
บทความที่น่าสนใจอื่นๆ
โมสาร์ท VS คลาสสิคเพลงแนวไหนสร้างลูกให้ฉลาดตั้งแต่ในครรภ์
รวมเพลงสําหรับคนท้อง ฟังได้ทั้งแม่และลูก
วิธีแก้อาการแพ้ท้อง ช่วยคุณแม่รับมืออาการผิดปกติช่วงตั้งครรภ์แบบได้ผล