รู้ครบเรื่องคลอดลูก ผ่าคลอด บล็อคหลัง ดมยาสลบ
ไขความกระจ่าง คลอดลูก การคลอดธรรมชาติ ผ่าคลอด บล็อคหลัง ดมยาสลบ มีอาการข้างเคียงยังไง รู้ข้อดีข้อเสีย ภาวะแทรกซ้อน ก่อนตัดสินใจปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
คลอดธรรมชาติ VS ผ่าคลอด
สิ่งที่คุณแม่กังวลระหว่างการคลอดบุตรไม่ว่าทางช่องคลอดหรือผ่าตัดคลอดบุตรทางหน้าท้อง คือ ความเจ็บปวดระหว่างการรอคลอด เบ่งคลอด หรือผ่าคลอด โดยทั่วไปวิสัญญีแพทย์จะให้บริการระงับความเจ็บปวด ติดตามอาการและเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนทั้งในมารดาและทารกระหว่างที่รอคลอดหรืออยู่ในห้องผ่าตัด ซึ่งสามารถแยกได้เป็น 2 กรณี คือ
คลอดธรรมชาติ
การคลอดเองทางช่องคลอด มีการระงับความปวดแบ่งได้ตามระยะของการคลอดบุตร ในช่วงแรกที่รอให้ปากมดลูกเปิดหมด ช่วงเบ่งคลอด ช่วงหลังคลอด ซึ่งมีรายละเอียดในแต่ละระยะที่แตกต่างกัน
- การคลอดทั่วไปแพทย์จะยาบรรเทาปวดในรูปแบบยาฉีดเข้าเส้นน้ำเกลือเวลาที่คุณแม่ปวดมาก หรือร้องขอยาแก้ปวด ซึ่งเป็นยาที่ออกฤทธิ์เร็ว แต่ระยะเวลาสั้น ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้มียาตกค้างผ่านไปสู่ทารกซึ่งอาจมีการกดการหายใจของเด็กทารกแรกเกิดได้
- ในช่วงที่เบ่งคลอดมักไม่นิยมให้ยาแก้ปวด เนื่องจากอาจทำให้คุณแม่ง่วงซึมและไม่มีแรงเบ่งคลอด
- ช่วงหลังคลอดขณะที่เย็บซ่อมแผลฝีเย็บแพทย์จะฉีดยาชาบริเวณดังกล่าวให้
- หลังจากนั้นจะให้เป็นยารับประทานบรรเทาปวดเป็นพาราเซทตามอลแบบทั่วไป ยกเว้นกรณีที่มีภาวะแทรกซ้อนเช่น แผลกว้าง แผลลึก แผลบวม จีงสั่งยาแก้ปวดอื่นๆ เพิ่มเติมให้
ในโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งจะมีบริการคลอดบุตรที่ไม่เจ็บปวด (Painless labor)
ซึ่งจะกระทำโดยวิสัญญีแพทย์ ทำการบล็อคหลังให้คุณแม่ในขณะที่รอคลอด โดยค้างสายฉีดยาไว้เพื่อเติมยาแก้ปวดเป็นครั้งๆ ตามระยะของการคลอดบุตรได้ คุณแม่จะไม่มีความรู้สึกช่วงครึ่งล่างของลำตัว ทำให้ไม่เจ็บปวด แต่มีข้อเสียคือ อาจทำให้ดำเนินการคลอดช้าออกไป และบางครั้งมีภาวะแทรกซ้อนจากการบล็อคหลังตามมาได้ เช่น ปวดศีรษะ ปวดหลัง ลุกเดินได้ช้า
ผ่าคลอด
การผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง มีการระงับปวดโดยวิสัญญีแพทย์ในห้องผ่าตัด สามารถกระทำได้ 2 ลักษณะ คือ การบล็อคหลัง และการดมยาสลบ ซึ่งมีข้อเด่น ข้อด้อยต่างกัน แล้วแต่ความเหมาะสมของผู้ป่วยเป็นรายๆ ไป แต่โดยส่วนใหญ่สูติแพทย์และวิสัญญีแพทย์มักนิยมบล็อคหลังมากกว่า เนื่องด้วยมีความปลอดภัยสูงและยาที่ใช้ไม่กดการหายใจของเด็กทารกแรกเกิด แต่การดมยาสลบอาจมียาสลบส่งผ่านรกไปยังเด็กทารกในครรภ์ได้
ดมยาสลบ กับ บล็อคหลัง
การบล็อคหลัง
- บล็อคหลังราคา ถูกกว่า
- ประสิทธิภาพในการระงับปวด เท่ากัน
- ความเสี่ยงต่อมารดา น้อยกว่า
- ความเสี่ยงต่อทารก น้อยกว่า
- การผ่าตัดคลอดแบบยาก นิยมน้อยกว่า
- ภาวะแทรกซ้อน เสี่ยงปวดหลัง ปวดศีรษะ เสี่ยงความดันโลหิตต่ำ
- ระยะเวลาออกฤทธิ์ ยาวกว่า จนถึงหลังคลอด 6 ชั่วโมง
- ผู้ให้บริการ วิสัญญีแพทย์
การดมยาสลบ
- ดมยาสลบราคา แพงกว่า
- ประสิทธิภาพในการระงับปวด เท่ากัน
- ความเสี่ยงต่อมารดา มากกว่า
- ความเสี่ยงต่อทารก มากกว่า
- การผ่าตัดคลอดแบบยาก นิยมมากกว่า
- ภาวะแทรกซ้อน เสี่ยงสำลักอาหาร เสี่ยงปอดติดเชื้อ
- ระยะเวลาออกฤทธิ์ สั้นกว่า เฉพาะเวลาที่ดมยาสลบอยู่เท่านั้น
- ผู้ให้บริการ วิสัญญีแพทย์ หรือ วิสัญญีพยาบาล
หากคุณแม่มีข้อบ่งชี้หรือจำเป็นต้องรับการผ่าตัดคลอดบุตร สูติแพทย์จะทำการประเมินสภาวะของคุณแม่ว่าเหมาะสมที่จะบล็อคหลังหรือดมยาสลบ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประวัติ โรคประจำตัว ความเร่งด่วนในการผ่าตัดคลอด ทั่วไปนิยมบล็อคหลังมากกว่าเนื่องจากความเสี่ยงโดยรวมต่ำกว่าดมยาสลบและคุณแม่มีสติอยู่ สามารถรับรู้เหตุการณ์ในห้องผ่าตัดได้ ได้ยินเสียงลูกร้อง ได้เห็นลูกตั้งแต่แรกคลอด
การบล็อคหลังผ่าคลอดจึงไม่น่ากลัวอย่างที่คิด ด้วยวิวัฒนาการทางการแพทย์ มีเข็มบล็อคที่ขนาดเล็ก ความชำนาญของวิสัญญีแพทย์ที่สามารถแทงเข็มได้อย่างแม่นยำ สามารถปรับยาชาให้เหมาะสม ไม่กดการหายใจของคุณแม่ และหลังคลอดยังเติมยาแก้ปวดได้อีก
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
คลิปผ่าคลอดหมอฝรั่ง เปิดประสบการณ์ แม่ไทยคลอดไกลถึงออสเตรเลีย
แม่แชร์ ประสบการณ์ผ่าคลอด 10 เรื่อง อะไรบ้างที่จะต้องเจอในระหว่างผ่าคลอด
คลอดธรรมชาติ vs ผ่าคลอด คุณแม่อยากเลือก วิธีคลอดลูก แบบไหน?