จากงานวิจัยล่าสุดที่ได้ตีพิมพ์ลงใน The Lancet Psychiatry ซึ่งได้วิจัยภาวะซึมเศร้าของคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ โดยเก็บข้อมูลจากประเทศที่มีค่าครองชีพต่ำถึงกลาง หรือที่เรารู้จักกันว่า ประเทศยากจน เปิดเผยว่าสถิติของคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ 1 ใน 5 จะเกิดภาวะซึมเศร้าขณะตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นช่วงไตรมาสสุดท้ายไปจนถึงหลังจากที่คลอดลูกแล้ว โดยคุณแม่ที่มีภาวะซึมเศร้าจะรู้สึกไม่มีความสุข เศร้าโศกเสียใจ และรู้สึกสิ้นหวังท้อแท้ในเรื่องต่างๆ
หากคุณแม่มีภาวะซึมเศร้าช่วงตั้งครรภ์ จะทำให้เกิดผลกระทบโดยตรงต่อพัฒนาของลูกในครรภ์ เหมือนกันกับคุณแม่ที่มีภาวะซึมเศร้าหลังการคลอดก็จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อทารกที่คลอดออกมาค่ะ โดยอาการซึมเศร้าหรือวิตกกังวลนั้น จะทำให้เอนไซม์ในรกมีจำนวนลดน้อยลง เป็นผลให้คอร์ติซอลหรือฮอร์โมนความเครียดพุ่งขึ้นสูง ซึ่งเสี่ยงต่อฮอร์โมนของทารกในครรภ์
เเม่ซึมเศร้าไม่ใช่เเค่เเม่ที่เศร้าคนเดียว
นอกจากนั้นความเครียดจะทำให้ดีเอ็นเอเปลี่ยนแปลง แม้ปริมาณและตำแหน่งของดีเอ็นเอจะอยู่ที่เดิม แต่การแสดงออกของดีเอ็นเอในแต่ละตัวจะแตกต่างไปจากเดิม ซึ่งเป็นคำอธิบายว่าทำไมสุขภาพจิตของเด็กแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน บางคนคงที่แต่บางคนก็ไม่คงที่ มีการแปรปรวนและเปลี่ยนแปลงได้ง่ายนั่นเองค่ะ
จนถึงตอนนี้งานวิจัยเรื่องภาวะซึมเศร้าระหว่างการตั้งครรภ์ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ จะทำวิจัยกันในประเทศที่มีค่าครองชีพสูง ซึ่งนักวิทยาศาสตร์หลายคนก็สังเกตเห็นได้ว่า สุขภาพจิตของคุณแม่ในประเทศที่มีค่าครองชีพต่ำถึงปานกลางนั้นมีปัญหามากกว่า เนื่องจากสวัสดิการ การดูแล แม่ลูกอ่อนยังไม่ครอบคลุม ทั่วถึง และได้มาตรฐานที่ดีเพียงพอ โดยอีกประเด็นหนึ่งที่ทีมงานวิจัยให้ความสำคัญไม่แพ้กันก็คือ การป้องกันหรือการแก้ไขที่มีประสิทธิ์ภาพโดยการดูแลของผู้เชี่ยวชาญด้าน ความคิดและพฤติกรรมบำบัด เพื่อแก้ไขภาวะซึมเศร้าของคุณแม่ ในประเทศยากจนนั้นก็ยังมีน้อยหรือแทบจะไม่มีเลย
ภาวะซึมเศร้าของประเทศยากจนมีมากกว่าเเค่เรื่องตั้งครรภ์
การเก็บข้อมูลของงานวิจัยจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ในประเทศยากจน เช่น บังคลาเทศและบราซิล ปรากฎว่าในประเทศเหล่านี้ ยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับการรักษาด้านสุขภาพจิตเหมือนประเทศที่มีค่าครองชีพสูงกว่า นอกจากนี้คุณแม่ในประเทศยากจนยังต้องเผชิญกับปัญหาสังคมต่างๆ เช่น การใช้ความรุนแรงในครอบครัว โดยได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนน้อยมาก ภาวะขาดสารอาหารก็มีสูง ซึ่งส่งผลทำให้คุณแม่และเด็กทารกนั้นมีภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำกว่ามาตรฐาน และยังมีเรื่องของสุขอนามัย เช่นการติดเชื้อต่างๆ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้คุณแม่เกิดความเครียดและภาวะซึมเศร้าตามมาได้อีกด้วยค่ะ
ปัญหาของประเทศยากจนยังรวมไปถึงเรื่อง การขาดสารอาหารเนื่องจากโภชนาการที่ไม่เหมาะสม ยาเสพติดที่เพิ่มมากขึ้น การดูแลคุณแม่หลังคลอดที่ไม่เหมาะสม ภาวะครรภ์เป็นพิษจนเกิดอาการชัก น้ำหนักทารกแรกเกิดน้อยและการคลอดก่อนกำหนด รวมไปถึงเรื่องของการฆ่าตัวตายด้วย
โดยการแก้ไขปัญหาดังกล่าวต้องแก้ไขในหลายเรื่องที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้พัฒนาการของเด็กเป็นไปได้อย่างเหมาะสมกับวัย เช่น เรื่องรายได้ การศึกษา สุขภาพ การป้องกันการเกิดความรุนแรงในครอบครัว และรวมไปถึงในสังคมด้วยเช่นกัน
ล่าสุดหัวหน้าทีมวิจัย ศาตราจารย์ โกลเวอร์ และทีมงานได้จัดตั้งมูลนิธิ The Global Alliance for Maternal Mental Health เพื่อให้ความรู้เรื่องต่างๆ สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ และเพื่อสร้างองค์ความรู้ที่จะสามารถจัดการแก้ไขปัญหาได้ครอบคลุมประเทศยากจนทั่วโลกค่ะ
ที่มา sciencedaily.com