ปิดเทอมมรณะ ทำพ่อแม่ใจสลายทุกปี
ปิดเทอมมรณะ เตือนกันทุกปีกับอันตรายจากเด็กจมน้ำในช่วงปิดเทอม โดยในปีนี้ เมื่อวันที่ 3 มีนาคมที่ผ่านมา นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้กล่าวว่า การจมน้ำเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กไทยเสียชีวิตสูงเป็นอันดับหนึ่งมาตลอด โดยเฉพาะในช่วงปิดเทอมใหญ่ภาคฤดูร้อน 3 เดือน มีนาคม-พฤษภาคม และส่วนใหญ่จะเป็นที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี
จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ในปี 2560 มีเด็กจมน้ำเสียชีวิต 708 ราย โดยเป็นการจมน้ำเสียชีวิตในช่วงปิดเทอมใหญ่ถึง 254 ราย และเด็กที่จมน้ำส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุ 5-9 ปี ซึ่งสาเหตุเกิดจากเด็กชวนกันไปเล่นน้ำกันเองตามลำพัง เป็นกลุ่มตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป และพบว่ามีเด็กจมน้ำเสียชีวิตพร้อมกัน 3 คน ถึง 4 เหตุการณ์ และ 2 คน ถึง 10 เหตุการณ์ พบมากที่สุดในจังหวัดพื้นที่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงเวลาที่เกิดเหตุสูงสุด คือช่วงกลางวัน เวลา 12.00-14.59 น.จึง ขอเตือนผู้ปกครองว่าในช่วงนี้ให้ดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด และได้ขอให้ทุกชุมชนดำเนินการดังนี้
- สำรวจแหล่งน้ำเสี่ยงในชุมชน
- เฝ้าระวังและแจ้งเตือนในชุมชน เช่น ประกาศเสียงตามสาย คอยตักเตือนเมื่อเห็นเด็กเล่นน้ำตามลำพัง
- จัดการแหล่งน้ำเพื่อให้เกิดความปลอดภัย เช่น สร้างรั้ว ติดป้ายคำเตือน จัดให้มีอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำไว้บริเวณแหล่งน้ำเสี่ยง เช่น ถังแกลลอนเปล่าผูกเชือก ขวดน้ำพลาสติกเปล่า ไม้ และ
- สอนให้เด็กรู้จักแหล่งน้ำเสี่ยงและอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น
ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 มี.ค. ได้เกิดเหตุสลดขึ้นที่ หมู่ 4 ต.บัวทอง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ เป็นเหตุการณ์ที่สะเทือนใจผู้พบเห็นมาก เมื่อผู้เป็นพ่อได้เข้าไปช่วยลูกชายวัย 3 ขวบจมน้ำจากการพลัดตกสระ ทั้งปั๊มหัวใจและผายปอด โดยมีชาวบ้านจำนวนมากลุ้นระทึกหวังให้ผู้เป็นพ่อช่วยเหลือชีวิตลูกชายให้สำเร็จ แต่ก็ไม่สามารถช่วยเหลือลูกชายได้เพราะเด็กจมน้ำเสียชีวิตไปนานแล้ว
จากการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจคาดว่า ด็กน่าจะเดินตามสุนัขออกมาจากบริเวณบ้าน โดยผู้เป็นยายไม่เห็น ส่วนพ่อ-แม่เด็กออกไปทำงาน เมื่อหลานหายไปยายจึงโทรแจ้งพ่อแม่เด็กกลับมาช่วยกันตามหา จนกระทั่งมาพบรองเท้าหลานลอยอยู่ในสระน้ำห่างจากบ้าน 500 เมตรจึงลงไปงมก็พบร่างจมอยู่ใต้สระน้ำ จากนั้นเจ้าหน้าที่นำศพส่งชันสูตร ก่อนสอบสวนหาสาเหตุอย่างละเอียดอีกครั้ง
อีกหนึ่งเหตุการณ์เกิดขึ้นวันที่ 1 มี.ค. ที่ผ่านมา ในบริเวณเกาะทรงไทย อบต.โพนสูง อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี มีผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ บิ๊ก บอส ได้โพสต์เหตุการณ์คลิปวิดีโอ เป็นภาพเจ้าหน้าที่กู้ภัย พร้อมชาวบ้าน กำลังพายเรือและนำร่างเด็กชายคนหนึ่งขึ้นมาจากน้ำ พร้อมระบุข้อความว่า “ปิดเทอมแล้ว ฝากไว้เป็นอุทาหรณ์นะครับ ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวด้วยครับ ขอให้น้องออโต้ไปสู่สุขติ”
เมื่อพบเห็นเด็กจมน้ำทำอย่างไร
หากพบเห็นคนตกน้ำไม่ควรกระโดดลงไปช่วย เพราะอาจจมน้ำพร้อมกันได้ แต่ขอให้ช่วยด้วยการใช้มาตรการ “ตะโกน โยน ยื่น” ได้แก่
- ตะโกน คือ การเรียกให้ผู้ใหญ่มาช่วยและโทรแจ้งทีมแพทย์กู้ชีพ 1669
- โยนอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวเพื่อช่วยคนตกน้ำเกาะจับพยุงตัว เช่น ถังแกลลอนพลาสติกเปล่า หรือวัสดุที่ลอยน้ำได้โดยโยนครั้งละหลายๆ ชิ้น และ
- ยื่นอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวให้คนตกน้ำจับ เช่น ไม้ เสื้อ ผ้าขาวม้า ให้คนตกน้ำจับและดึงขึ้นมาจากน้ำ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
อ่านวิธีช่วยเด็กจมน้ำในหน้าต่อไป>>
วิธีช่วยเด็กจมน้ำ
หลักการปฐมพยาบาลเด็กจมน้ำที่ถูกวิธีคือ วิธีการช่วยให้เด็กหายใจได้ให้เร็วที่สุด ไม่ใช่เป็นการพยายามเอาน้ำออกจากร่างกาย โดยมีวิธีการดังนี้
1. กรณีเด็กจมน้ำที่รู้สึกตัว
หากเด็กรู้สึกตัวหายใจได้เองการปฐมพยาบาลคือการเช็ดตัว เปลี่ยนเสื้อผ้าแห้งให้แก่เด็ก และนำส่งโรงพยาบาลเพื่อตรวจสอบอาการแม้เด็กจะหายใจได้ดีในระยะแรกแต่อาจมีอาการหายใจลำบากได้ในภายหลังสาเหตุจากถุงลมในปอดถูกทำลายจากการสำลักน้ำ
2. กรณีเด็กจมน้ำไม่หายใจและ/หรือ หัวใจไม่เต้น
- หากไม่รู้วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ให้เรียกผู้อยู่ข้างเคียงให้มาช่วยเหลือ หรือโทรขอความช่วยเหลือหน่วยฉุกเฉินที่ 1669
- จากนั้น ให้เด็กนอนราบกับพื้น แล้วกดหน้าผากลง เชยคางขึ้นเบา ๆ เพื่อเปิดทางเดินหายใจ
- ตรวจสอบว่าเด็กยังหายใจหรือไม่ ในเวลา 3-5 วินาที โดย
- มองหน้าอกหรือท้องว่ามีการเคลื่อนไหวหรือไม่
- ฟังดูว่ามีเสียงหายใจหรือไม่
- แนบใบหน้าให้เข้าใกล้จมูกและปากของเด็ก เพื่อสัมผัสลมหายใจ
- เมื่อพบว่าเด็กไม่หายใจ ต้องรีบช่วยให้เด็กหายใจทันที โดย
- ให้ประกบปากของผู้ช่วยเหลือครอบจมูกและปากเด็กและเป่าลมหายใจออก ทำแบบนี้ 2 ครั้งโดยให้แต่ละครั้งยาว 1-2 วินาที
- จากนั้นสังเกตว่าหน้าอกของเด็กขยายตามการเป่าลมหรือไม่
- คลำหาชีพจร โดยแยกเป็น 2 กรณี ได้แก่
- ในกรณีอายุน้อยกว่า 1 ปี: คลำชีพจร บริเวณต้นแขนด้านในครึ่งทางระหว่างข้อศอกและหัวไหล
- ในกรณีที่อายุมากกว่า 1 ปี: คลำชีพจร บริเวณต้นคอ
- ถ้าเด็กไม่หายใจและไม่มีชีพจร ให้ทำการกระตุ้นการเต้นของหัวใจ โดยแยกเป็น 2 กรณี ได้แก่
- ในกรณีอายุน้อยกว่า 1 ปี ให้ปฎิบัติดังนี้
- หาตำแหน่งของการกดหน้าอกเพื่อกระตุ้นหัวใจได้ โดยลากเส้นสมมติระหว่างหัวนมทั้งสองข้าง
- ตำแหน่งที่จะกดคือ บนกระดูกหน้าอก ใต้ต่อเส้นสมมติที่ลากระหว่างหัวนมทั้งสองข้างลงมา 1 ความกว้างของนิ้วมือจริง
- กดโดยใช้นิ้วสองนิ้ว กดลึกให้กระดูกหน้าอกยุบลงประมาณ 1-1.5 นิ้ว ความถี่ของการกดคือกดหน้าอก 5 ครั้งสลับกับการให้ผู้ช่วยระบบหายใจเป่าปาก 1 ครั้ง
- ในกรณีที่อายุมากกว่า 1 ปี ให้ปฎิบัติดังนี้
- หาตำแหน่งของการกดหน้าอกเพื่อกระตุ้นหัวใจได้โดยลากนิ้วตามขอบชายโครงช้างใดข้างหนึ่งจนถึงกึ่งกลางซึ่งชายโครงทั้งสองข้างมาชนกันเรียกว่าจุดปลายล่างกระดูกหน้าอก
- ตำแหน่งที่จะกดคือ บนกระดูกหน้าอก เหนือต่อจุดปลายล่างกระดูกหน้าอก 1 ความกว้างของนิ้วมือจริง
- กดโดยใช้ส้นมือ กดลึกให้กระดูกหน้าอกยุบลงประมาณ 1-1.5 นิ้ว ความถี่ของการกดคือ กดหน้าอก 5 ครั้งสลับกับการให้ผู้ช่วยระบบหายใจเป่าปาก 1 ครั้ง
- ให้การกระตุ้นการเต้นของหัวใจสลับกับการเป่าปากในอัตราส่วน 5:1 จนกว่าหน่วยฉุกเฉินจะมาถึง หรือกระทำในระหว่างการนำส่งจนถึงโรงพยาบาล
- ในกรณีอายุน้อยกว่า 1 ปี ให้ปฎิบัติดังนี้
- ตรวจการหายใจและชีพจรซ้ำ ทุกนาที
ที่มา: khaosod, prachachat, thaihealth,
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ:
10 คำถามของลูกชอบถาม ลูกขี้สงสัย ที่พ่อแม่ตอบยากที่สุด!!!
หัวลูกเป็นเชื้อรา ชันนะตุ เกิดจากอะไร..ทำอย่างไรให้หาย?
รู้หรือไม่…พฤติกรรมของลูกในแต่ละช่วงวัย เสี่ยงต่อการ เจ็บป่วย