ปานของเบบี๋ แบบไหนปลอดภัย แบบไหนอันตราย

ลูกน้อยของคุณเกิดมาพร้อมกับปานบนร่างกายหรือเปล่าคะ มาทำความรู้จักปานแต่กำเนิดของเบบี๋ที่กันดีกว่าว่า ปานแบบไหนปลอดภัย ปานแบบไหนต้องเฝ้าระวัง

ปานที่ไม่อันตราย

  • ปานเส้นเลือดแดง stork bites และ angel’s kisses เป็นร่างแหของเส้นเลือดฝอย ปรากฎที่ต้นคอ เปลือกตาบน หรือระหว่างหัวคิ้ว ส่วนใหญ่จะจางหายไปได้เองเมื่ออายุ 2-3 ขวบ
  • ปานเขียว Mongolian spots เป็นปานแต่กำเนิดที่พบได้บ่อยที่สุด ปานชนิดนี้มีลักษณะเป็นผื่นราบสีเขียว ฟ้าเทา หรือ ฟ้าเข้ม ปรากฎที่บริเวณก้น สะโพก หรือส่วนอื่นๆ ของร่างกาย เช่น แขน ขา หรือลำตัว ส่วนใหญ่หายได้เองภายใน 5 ขวบ
  • ปานโอตะ Nevus of Ota พบในเด็กแรกเกิดและบางรายอาจมาพบเมื่อตอนเป็นผู้ใหญ่ ลักษณะจะคล้ายปานมองโกเลียน คือมีสีเทาหรือน้ำเงิน มักพบบริเวณโหนกแก้มหรือขมับ แต่จะไม่จางหายไปได้เองเหมือนปานมองโกเลียน ปานโอตะไม่มีอันตรายเพราะจะไม่กลายเป็นมะเร็ง เมื่อเด็กโตขึ้นสามารถใช้เลเซอร์ในการรักษาได้

ปานที่ต้องเฝ้าระวัง

  • ปานแดง strawberry บางครั้งพบเป็นจุดแดงเล็กๆคล้ายยุงกัดหรืออาจไม่มีรอยใดๆ เมื่อแรกเกิด แต่จะโตชัดขึ้นเรื่อยๆเป็นลักษณะคล้ายลูกสตรอเบอรี่ จนหยุดโตเมื่ออายุประมาณ 1-2 ขวบ แล้วจึงค่อยๆ เล็กลงเรื่อยๆ จนหายไปเองในที่สุด ร้อยละ 50 หายที่อายุ 5 ขวบ ร้อยละ 90 หายที่อายุ 9 ขวบ

ข้อควรระวัง หากเป็นที่ตำแหน่งเปลือกตา จะทำให้ลืมตาไม่ได้ทำให้มีปัญหาตาขี้เกียจตามมา จึงต้องให้การรักษาให้ยุบโดยเร็ว มี 2 วิธี คือ เลเซอร์หรือกินยาสเตียรอยด์

  • ปานแดงจากผนังเส้นเลือดผิดปกติ Capillary Malformation มักพบตั้งแต่แรกเกิด และจะอยู่ไปตลอดไม่จาง มักขึ้นอยู่ซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย ปานชนิดนี้จะขยายขึ้นเรื่อย ๆ ตามตัวของเด็กที่โตขึ้น รวมทั้งมีสีเข้มขึ้น นูนและขรุขระเพิ่มขึ้นตามอายุ

ข้อควรระวัง หากพบบริเวณใบหน้า โดยเฉพาะรอบดวงตา อาจมาพร้อมกับความผิดปกติของตาและสมองลูก ควรรีบพาลูกพบคุณหมอ เพื่อตรวจอาการ

  • ปานสีกาแฟใส่นม Café au lait เป็นปานแต่กำเนิดที่พบได้บ่อยเช่นกัน มีลักษณะเป็น ผื่นราบสีน้ำตาลอ่อน  มักมีรูปร่างกลมหรือรี ขอบเขตค่อนข้างชัดเจน มีขนาดเล็กใหญ่แตกต่างกันได้มาก อาจปรากฏตั้งแต่แรกเกิดหรือภายในอายุ 2-3 เดือน ขนาดของปานจะขยายขนาดขึ้นตามการเจริญเติบโตของเด็ก และจะคงอยู่ตลอดชีวิต เด็กที่มีปานชนิดนี้ ส่วนใหญ่จะไม่พบมีความผิดปกติอื่นๆของร่างกายร่วมด้วย

ข้อควรระวัง หากพบปานชนิดนี้ปริมาณมากหรือมีขนาดใหญ่ อาจพบได้ในโรคพันธุกรรมบางชนิด ดังนั้นหากพบปานขนาดใหญ่หรือมีหลายอัน ควรพาบุตรหลานของท่านไปพบแพทย์เพื่อการตรวจวินิจฉัย

  • ปานแดงชนิด Port wine stains เป็นปานแดงที่มักปรากฏอาการตั้งแต่แรกเกิด และจะคงอยู่ตลอดชีวิตไม่จางหายไป รอยโรคจะขยายขนาดโตตามตัวของผู้ป่วย ส่วนใหญ่มักอยู่ซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย ปานจะมีสีเข้มขึ้น รวมทั้งอาจนูนหนาและขรุขระเพิ่มขึ้น ตามอายุที่มากขึ้น

ข้อควรระวัง หากพบปานชนิดนี้บริเวณใบหน้า โดยเฉพาะรอบดวงตา อาจพบร่วมกับความผิดปกติของดวงตาและสมองได้ จึงควรพาลูกไปพบคุณหมอ เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดต่อไป ปานแดงชนิดนี้สามารถรักษาโดยใช้ เลเซอร์ได้ ซึ่งการตอบสนองต่อการรักษาขึ้นกับตำแหน่งและขนาดของปาน

  • ปานดำแต่กำเนิด เป็นปานที่เกิดจากการมีการแบ่งตัวเพิ่มของเซลล์ที่สร้างเม็ดสีของผิวหนัง มีลักษณะเป็นผื่นราบหรือนูน สีของปานมีได้ตั้งแต่ ดำ น้ำตาลและฟ้า ปานชนิดนี้มักพบได้ตั้งแต่แรกเกิดหรือภายในอายุ 2-3 เดือน พบว่าเมื่อผู้ป่วยโตขึ้น ผิวของปานอาจขรุขระมากขึ้น บางครั้งอาจพบขนงอกยาวหรือดกบริเวณที่มีปาน

ข้อควรระวัง หากมีปานขนาดใหญ่ โดยเฉพาะเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่กว่า 7 ซม.ในเด็กทารกมักมีผลต่อรูปลักษณ์ของผู้ป่วย รวมทั้งมีความเสี่ยงต่อการกลายเป็นมะเร็งผิวหนังได้ ดังนั้นหากพบปานขนาดใหญ่ ควรพาบุตรหลานของท่านไปพบแพทย์ เพื่อการตรวจติดตามและรับการรักษาที่เหมาะสม

  • เนื้องอกหลอดเลือดในเด็ก เป็นเนื้องอกชนิดที่พบบ่อยที่สุดในเด็ก พบได้ประมาณร้อยละ 5 ในทารกแรกเกิด และร้อยละ 5-10 ในเด็กอายุ 1 ปี ส่วนใหญ่พบในเด็กหญิงมากกว่าเด็กชาย  บางรายอาจพบมีจุดหรือปื้นสีแดงนำมาก่อน ลักษณะของปานที่พบบ่อย จะเป็นก้อนนูนสีแดงสด ผิวขรุขระ ซึ่งก้อนเนื้องอกชนิดนี้จะมีขนาดโตมากขึ้นภายใน 6-9 เดือนแรกของชีวิต หลังจากนั้นก้อนจะค่อยๆยุบลงได้เอง ภายหลังอายุ 1 ปี ภายหลังก้อนยุบ อาจหลงเหลือความผิดปกติของผิวหนังได้  การรักษาขึ้นกับหลายปัจจัย ซึ่งส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาจำเพาะ เพียงแค่เฝ้าติดตามและให้คำแนะนำ

ข้อควรระวัง หากปรากฏอยู่บริเวณใบหน้า หรือเป็นรอยโรคที่อาจก่อปัญหา หรือมีภาวะแทรกซ้อน เช่น รอบดวงตา ใบหู หรือปรากฏมากกว่า 5 อัน ควรพาลูกไปพบคุณหมอ เพื่อตรวจติดตามและรับการรักษาที่เหมาะสม

 

คุณแม่ได้รู้จักปานชนิดต่างๆ ไปแล้วนะคะ หวังว่าจะช่วยให้คุณแม่คงคลายความกังวลเกี่ยวกับปานของลูกน้อยลงได้ เพราะปานส่วนใหญ่นั้นไม่มีอันตรายและสามารถจางหายไปได้เอง แต่หากน้องมีปานขนาดใหญ่ หรือปรากฏในจุดที่ต้องเฝ้าระวัง ขอให้คุณแม่หมั่นสังเกตความเปลี่ยนแปลงของปาน หากพบความผิดปกติ ควรพาลูกไปพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยต่อไปค่ะ

ที่มา : https://www.si.mahidol.ac.th/, เฟซบุ๊ค สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ

 

บทความที่น่าสนใจอื่นๆ

แชร์สนั่น!!! เบบี๋เหาะได้ ทำได้ไงเนี่ย?

ดูไปอมยิ้มไป..ทั้งน่ารักปนฮาเมื่อเบบี๋ดูดแก้มเพื่อนสงสัยคิดว่าเป็นนมจากเต้า