ประจำเดือนหลังคลอด เรื่องที่คุณแม่มือใหม่กังวล มาหาคำตอบกันว่าเป็นอย่างไร!
ขณะตั้งครรภ์ คุณแม่หลาย ๆ ท่าน บอกว่าแฮปปี้ดีมาก เพราะช่วงเราท้องผิวพรรณดูสวย นอกจากนั้น ยังไม่ต้องนั่งพะวง กับการมีประจำเดือนไป 9 เดือนเต็ม การไม่มีประจำเดือนหมายถึง การที่เราไม่ต้องทรมานกับอาการไม่สบายตัวต่าง ๆ แต่หลังคลอดแล้ว คุณแม่มือใหม่หลายคน อาจสงสัยว่า แล้วประจำเดือนจะกลับมาไหม และประจำเดือนหลังคลอด นั้นมันจะเป็นอย่างไร
โดยปกติแล้ว ประจำเดือนหรือรอบเดือน จะเกิดจากการหลุดลอกของเยื่อบุโพรงมดลูก ซึ่งร่างกายของผู้หญิงเรา จะมีฮอร์โมน 2 ชนิด คือ เอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน ซึ่งทำหน้าที่ ควบคุมการสร้างและหลุดลอกของเยื่อบุโพรงมดลูก โดยระดับฮอร์โมนทั้งสองตัวนี้ จะมีความสัมพันธ์กับการตกไข่จากรังไข่ ในแต่ละรอบเดือนจะมีช่วงเวลาประมาณ 26-30 วัน ทำให้ประจำเดือนเกิดขึ้นเฉลี่ยเดือนละ 1 ครั้ง แต่ในขณะตั้งครรภ์นั้นจะไม่มีการตกไข่
เพราะฮอร์โมนในร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเพื่อให้การตั้งครรภ์ดำเนินต่อไปตามปกติ จึงทำให้ไม่มีประจำเดือน แต่เมื่อคุณแม่คลอดแล้ว อิทธิพลของฮอร์โมนต่าง ๆ จะยังคงมีอยู่ไปอีกสักระยะ ทำให้ยังไม่มีการตกไข่ ประจำเดือนจึงยังไม่มานั่นเอง แต่ก็ยังไม่สามารถบอกได้ว่า จะกลับมาเมื่อไหร่ เพราะขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล
การกลับมาของ ระบบการตกไข่ และประจำเดือนหลังคลอด อาจขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ว่าคุณแม่ จะให้นมลูกด้วยตัวเองหรือไม่ และคุณแม่หลาย ๆ คนอาจพบว่า วงจรของประจำเดือน เปลี่ยนแปลงไปหลังคลอด ไม่เหมือนกับตอนก่อนตั้งครรภ์
ในกรณีที่ คุณแม่ไม่ได้ให้นมบุตร ตามปกติแล้ว ร่างกายของคุณแม่ จะมีกลไกในการตกไข่ และมีประจำเดือนภายหลังคลอดประมาณ 6-8 สัปดาห์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ ร่างกาย กำลังเข้าสู่สภาวะปรับตัวคืนสมดุล และมีการขับน้ำคาวปลาจนหมดแล้ว กล่าวคือ ร่างกายของคุณแม่เริ่มแข็งแรงดีแล้ว ในขณะที่ คุณแม่ที่ให้นมบุตรเพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้เสริมนมชนิดอื่น ก็อาจจะเริ่มมีประจำเดือนช้าออกไป ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับระบบฮอร์โมน ของผู้หญิงแต่ละคน บางคน อาจไม่มีประจำเดือนเลย ตลอดระยะเวลาให้นมบุตรก็เป็นได้ นั่นเป็นเพราะ ฮอร์โมนโปรแลคติน กำลังทำหน้าที่ของมัน คือการผลิตน้ำนม ซึ่งจะมีผลทำให้ ไม่เกิดการตกไข่ และมดลูกก็จะไม่มีการสร้างผนังมารองรับการตกไข่ และกลายเป็นประจำเดือน
สำหรับคุณแม่มือใหม่ ที่เริ่มมีประจำเดือนนั้น ประจำเดือนที่กลับมาใหม่ ๆ อาจมีลักษณะเป็นก้อน และเริ่มเปลี่ยนสภาพเป็นของเหลว เหมือนประจำเดือนปกติ ในเดือนถัด ๆ ไป เช่นเดียวกัน การมีประจำเดือน ก็อาจทำให้ร่างกายของคุณแม่อ่อนเพลียไปบ้าง เหมือนเช่นเคย อาจมีอาการปวดท้องน้อยร่วมด้วย และในช่วงแรก ๆ ประจำเดือนอาจจะยังมา ไม่สม่ำเสมอ คุณแม่บางราย อาจมีประจำเดือนมา 1 เดือนแล้วเว้นระยะหายไป 1-2 เดือน บางคน อาจมีเลือดออกมากกว่าที่เคย หรือมีประจำเดือนในปริมาณที่น้อยมาก ทั้งหมดนี้ คือระยะในการปรับสมดุลของฮอร์โมนในร่างกายนั่นเอง
นอกจากนี้ คุณแม่อาจต้องเข้าใจว่า การมีประจำเดือนแบบกระกริบประปอย หรือไม่มีประจำเดือนหลังคลอดนั้น ไม่ใช่การคุมกำเนิดที่ให้ผลได้ 100% กลไกการคุมกำเนิดด้วยการให้นมบุตร และไม่มีประจำเดือนนั้น มีประสิทธิภาพเพียงแค่ 60-70% เท่านั้น ดังนั้น อย่าลืมปรึกษาสูตินารีแพทย์ หากท่านต้องการจะคุมกำเนิดให้ได้ผล 100%
ในขณะเดียวกัน คุณแม่ที่ให้นมบุตร อาจพบว่า น้ำนมมีรสชาติที่เปลี่ยนแปลงไป หรือปริมาณน้ำนม อาจลดลงเล็กน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงขณะที่ยังไม่มีประจำเดือน ซึ่งเป็นผลมาจาก การปรับเปลี่ยนของระบบฮอร์โมนในร่างกาย แต่ก็จะไม่ส่งผลมากนัก ต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งนักโภชนาการ แนะนำให้คุณแม่เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และไม่ต้องกังวลมากนัก
สูตินารีแพทย์ แนะนำให้คุณแม่หมั่นสังเกตตัวเอง และอาการมีประจำเดือนหลังคลอด พร้อมทั้งยังคงคุมกำเนิด อย่างต่อเนื่องด้วยวิธีต่าง ๆ ที่เหมาะกับแต่ละคน และหากมีอาการผิดปกติ ก็ให้รีบไปพบแพทย์นะคะ
theAsianparent Thailand เว็บไซต์และคอมมูนิตี้อันดับหนึ่งที่คุณแม่เลือก นอกจากสาระความรู้ที่เรามอบให้คุณแม่ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ การวางแผนมีลูกแล้ว เรายังมีแอพพลิเคชั่นรวมถึงสื่อมัลติมีเดียหลากหลาย ที่ช่วยตอบโจทย์ทุกความต้องการของคุณแม่ยุคใหม่ ที่ต้องทำงานและดูแลลูกไปพร้อมกัน ให้มีความมั่นใจและพร้อมในการดูแลลูกทุกช่วงเวลา ตั้งแต่การให้นมบุตร การดูแลตนเองหลังคลอด ท่าออกกำลังกายหลังคลอดเพื่อให้หุ่นของแม่หลังคลอด กลับมาฟิตแอนเฟิร์มอีกครั้ง theAsianparent Thailand ขอเป็นส่วนหนึ่งที่จะสนับสนุนคุณพ่อคุณแม่ในเรื่องการดูแลลูก ความรู้แม่และเด็กที่เต็มเปี่ยม และตอบทุกข้อสงสัยในแอพพลิเคชั่นที่เป็นสื่อกลาง และกิจกรรมส่งเสริมความสัมพันธ์ในครอบครัวไทย
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ท่านอนหลังผ่าคลอด คนท้องหลังคลอดควรนอนท่าไหนสบายที่สุด ไม่เจ็บแผล
แม่ผ่าคลอดกินน้ำเย็นได้มั๊ย กินน้ำเย็น ไม่ดี จริงหรือ ผู้ใหญ่เตือนว่าจะไม่มีนมให้ลูก
ขั้นตอนคลอดลูก ทั้งคลอดเอง VS ผ่าคลอด แบบที่แม่ท้องควรรู้ ขั้นตอนคลอดลูกแต่ละสเต็ป