เมื่อไม่นานมานี้ ในโลกออนไลน์ต่างพากันแชร์เรื่องราวของ น้องต้นหนาว ลูกชายของคุณแม่ Cartoon’s Suchada ที่เป็นผู้โพสต์เตือนเป็นอุทาหรณ์ว่า ตนได้รับแจ้งจากแฟนว่า น้องต้นหนาว ลูกชายวัยเพียง 1 ขวบ 7 เดือน ได้ตกลงจากฟูกที่นอนเตียงสปริงที่มีความสูงเพียง 7 นิ้ว ทำให้ศีรษะลงมากระแทกพื้นในห้องนอนหมดสติ ตนจึงรีบรุดไปยังโรงพยาบาลทันที
เมื่อถึงโรงพยาบาลแพทย์แจ้งว่า น้องต้นหนาว มีเลือดออกคั่งอยู่ในสมองเป็นจำนวนมาก ต้องเข้ารับการผ่าตัดทันที ซึ่งหลังจากการผ่าตัดนั้น น้องต้นหนาว มีอาการดีขึ้น แต่ก็ยังคงนอนหลับไม่รู้สึกตัวอยู่
ความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 1 กันยายน 2559 คุณแม่ได้โพสต์แจ้งว่า น้องต้นหนาวได้เสียชีวิตแล้ว เมื่อเวลา 05.30 น. ของวันที่ 1 กันยายน 2559 ซึ่งตรงกับวันเกิดของคุณแม่พอดี น้องได้จากไปอย่างสงบพร้อมกับรอยยิ้ม และคุณแม่รู้สึก “ขอบคุณ น้องต้นหนาว ที่เกิดมาให้แม่กลับตัว ขอบคุณในความน่ารักและรอยยิ้มที่ผลักดันให้แม่สู้ต่อไป แม่ยังรอรัก และรอหนูกลับมาเป็นลูกของแม่อีกครั้ง”
ศพของน้องนั้น จะตั้งบำเพ็ญกุศลอยู่ที่วัดบางพลีใหญ่ใน ตำบลบางพลีใหญ่ อำเถอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ โดยจะตั้งสวดอภิธรรมศพไว้เป็นเวลา 3 คืน และจะทำการการฌาปนกิจในวันจันทร์ที่ 5 กันยายน นี้”
ทีมงานดิเอเชี่ยนพาเร้นท์ทุกคน ขอแสดงความเสียใจกับการจากไปของน้องต้นหนาวอย่างสุดซึ้ง และขอเป็นกำลังใจให้กับคุณแม่และครอบครัวให้ผ่านพ้นช่วงเวลานี้ไปได้โดยเร็วค่ะ และเพื่อเป็นประโยชน์กับคุณพ่อคุณแม่ทุกท่าน สามารถคลิกอ่านวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อลูกหัวกระแทกพื้นได้ที่หน้าถัดไปค่ะ
การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อลูกหัวกระแทกควรทำอย่างไร?
หากลูกมีศีรษะบวม นูน จากการที่เส้นเลือดในบริเวณนั้นได้รับการกระทบกระเทือน และมีเลือดออกใต้ผิวหนัง ควรรีบประคบด้วยน้ำแข็ง หรือถุงเก็บความเย็นทันที ติดต่อกันอย่างน้อย 20 นาที และประคบซ้ำบ่อยๆ ในช่วง 24 ชั่วโมงแรกหลังเกิดเหตุหัวกระแทก เพื่อให้หลอดเลือดหดตัว จะช่วยลดอาการปวดและบวมลงได้ค่ะ หลังจาก 24 ชั่วโมง หากยังมีอาการ บวม นูนที่ศีรษะอยู่ ควรประคบด้วยถุงเก็บความร้อนที่อุ่นๆ เพื่อช่วยละลายเลือดที่คั่งอยู่ในบริเวณนั้นค่ะ
นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดหลังการเกิดอุบัติเหตุหัวกระแทก คือ “การสังเกตอาการของลูกอย่างใกล้ชิด” เพื่อเฝ้าระวังอาการที่บ่งบอกถึงการกระทบกระเทือนของสมองนะคะ
สิ่งที่ควรพิจารณาเมื่อลูกหัวกระแทกมีอะไรบ้าง?
ปัจจัยที่ควรรคำนึงถึงคือ สิ่งแวดล้อมบริเวณที่เกิดเหตุและอาการของลูกค่ะ
หากลูกหัวกระแทกโดยตกจากที่สูง มากกว่าความสูงของเด็ก หรือกระแทกกับพื้นที่มีความแข็ง หรือกระแทกแล้วไปสัมผัสกับสิ่งของหรือขอบที่มีเหลี่ยม มุม ที่มีโอกาสเกิดแผลฉีกขาด ก็อาจมีความเสี่ยงที่จะได้รับการบาดเจ็บจากการกระทบกระเทือนของศีรษะมากขึ้น คุณพ่อ คุณแม่ควรพาลูกไปพบคุณหมอค่ะ
นอกจากนี้ควรสังเกตอาการของลูกอย่างใกล้ชิด หากมีอาการสลบ ไม่รู้สึกตัว ชัก ปวดศีรษะหรืออาเจียนมาก ก็ควรรีบไปพบคุณหมอทันทีค่ะ
หากลูกมีอาการอื่นๆ เปลี่ยนแปลงไปที่ไม่แน่ใจ คุณพ่อคุณแม่ก็ควรไปพบคุณหมอทันทีนะคะ
ควรสังเกตอาการลูกนานเท่าใด จึงแนใจว่าไม่มีอาการผิดปกติ?
หากไม่มีอาการผิดปกติ ใดๆ เลย หลังจากเกิดอุบัติเหตุ 24 ชั่วโมงขึ้นไป ยังร่าเริง วิ่งเล่น ทานข้าวได้ปกติ ก็น่าจะเบาใจได้ว่า ลูกไม่ได้มีการกระทบกระเทือนของสมองค่ะ
อาการใดบ้างที่ต้องรีบพาลูกไปพบคุณหมอทันที?
ระหว่างสังเกตอาการลูกหลังจากที่มีการกระทบกระแทกที่ศีรษะ ภายใน 24 ชั่วโมงหลังเกิดเหตุ หากมีอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบคุณหมอทันทีนะคะ
- ซึมลง
- ชัก
- หมดสติ
- อาเจียนพุ่ง หรืออาเจียนมาก
- ปวดศีรษะมาก
- ดูสับสน พูดคุยไม่รู้เรื่อง
- เห็นภาพซ้อน
- แขนขาอ่อนแรง ขยับได้ไม่เท่ากันสองข้าง
เพราะหากมีอาการเหล่านี้ อาจบ่งถึงความผิดปกติของเนื้อสมองหรือเส้นเลือดในสมอง ที่ได้รับการกระทบกระเทือน เมื่อไปพบคุณหมอ จะได้รับการตรวจร่างกายทางระบบประสาทอย่างละเอียด และพิจารณาส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองเพื่อให้เห็นความผิดปกติดังกล่าว และรีบให้การรักษาอย่างทันท่วงทีค่ะ
ที่มา: Kapook
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
อุทาหรณ์! โดนญาติเห่อทั้งอุ้มทั้งหอม ลูกป่วยติดเชื้อในกระแสเลือด