ท้องแล้วนอนไม่หลับ แก้ได้!
ปัญหาเรื่องการนอนหลับระหว่างการตั้งครรภ์ เป็นเรื่องปกติที่คุณแม่มือใหม่ 3 ใน 4 ต้องเจอค่ะ สาเหตุหลัก ๆ ก็มาจากความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย และสมอง มีทั้งอาการที่กวนใจจนทำให้นอนหลับไม่เต็มอิ่ม และอาการที่อึดอัดเพราะพุงป่องขึ้นนั่นเอง ที่เป็นสาเหตุของคุณแม่ ท้องแล้วนอนไม่หลับ
ต้องไปปัสสาวะ อีกแล้ว!!!
การปัสสาวะบ่อย ๆ จะเกิดขึ้นในไตรมาสที่ 1 และ 3 ค่ะ เนื่องจากฮอร์โมนโพรเจสเทอโรนที่เพิ่มขึ้น และไตมีการกรองเลือดเพิ่มขึ้นอีก 50% หมายถึงปัสสาวะที่เพิ่มขึ้น ทำให้ต้องเข้าห้องบ่อยกว่าเดิมนั่นเองค่ะ อย่างไรก็ตามคุณแม่กินสำหรับสองคนแล้วก็ต้องปัสสาวะสำหรับสองคนเช่นกัน
วิธีแก้ไข ช่วงกลางวันดื่มน้ำสะอาดให้มากขึ้น แต่งดดื่มน้ำ 2 ชั่วโมงก่อนนอน เปิดไฟหรี่ที่หัวเตียงไว้ด้วย หากลางดึกอยากจะลุกขึ้นมาเข้าห้องน้ำอีก
อาการปวดเมื่อย เจ็บ และไม่สบายตัว
เกิดขึ้นได้ตลอดการตั้งครรภ์โดยเฉพาะไตรมาสที่ 2 และ 3 สาเหตุของการนอนไม่ค่อยหลับระหว่างการตั้งครรภ์ อาจเป็นเพราะยังไม่เจอท่าที่สบายก็เป็นได้ การนอนหงายจะทำให้มดลูกกดทับเส้นเลือด รบกวนการไหลเวียนไปยังหัวใจ น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ของลูกและการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนคุณแม่รวมกัน จะทำให้ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นลดลง
วิธีแก้ไข การนอนตะแคงซ้ายจะทำให้การไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงหัวใจได้ดีขึ้น และเป็นท่าที่ปลอดภัยที่สุดต่อทารกในครรภ์ แต่หากนั้นยังไม่ทำให้คุณแม่นอนหลับสบายแล้วละก็ ลองพิจารณาหมอนที่ออกแบบสำหรับคนท้องดูค่ะ คุณแม่หลายต่อหลายคนติดมันมากกว่าคุณสามีอีกนะ (ก็แค่ช่วงตั้งครรภ์เท่านั้นแหละ)
ขาเป็นตะคริว
ใครที่ไม่เคยเป็นตะคริวก็มักจะเป็นช่วงที่ตั้งครรภ์นี่แหละค่ะ ประมาณช่วงกลางของไตรมาสที่ 2 คุณแม่อาจจะเริ่มเป็นตะคริว ส่วนใหญ่ไม่มีสาเหตุที่เกิดขึ้นอย่างแน่ชัดสักเท่าไหร่ แต่อาจเป็นไปได้ว่าการกระตุกเจ็บ ๆ เหล่านี้บริเวณน่อง มาจากการบีบตัวของหลอดเลือด อาการล้าเนื่องจากการรับน้ำหนักที่มากขึ้น ตะคริวอาจไม่เป็นเพียงแค่กลางคืนแต่ยังเป็นในตอนกลางวันได้อีกด้วยค่ะ
วิธีแก้ไข การเกิดตะคริวอาจจะเกิดจากการได้รับแคลเซียมและแมกนีเซียมไม่เพียงพอ การกินอาหารที่มีแคลเซียมและแมกนีเซียมสูงอาจจะช่วยได้ แต่อย่าลืมปรึกษาคุณหมอที่ฝากครรภ์ก่อนทุกครั้งนะคะ ดื่มน้ำสะอาดเยอะ ๆ ยืดเหยียดกล้ามเนื้อระหว่างวันเป็นประจำ ปกติแล้วตะคริวจะเป็นแค่ชั่วคราวเท่านั้น หากเกิดบ่อยมากเกินไปหรือนานเกินไป ลองปรึกษาคุณหมอดูนะคะ
กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข
อาการโดยทั่วไปคือ รู้สึกไม่สบายที่ขา บริเวณน่องและเท้า ต้องเดินหรือมีการเคลื่อนไหวจึงจะดีขึ้น จึงทำให้นอนได้ไม่นาน คุณแม่ตั้งครรภ์จำนวน 15% จะมีอาการเหล่านี้เมื่อเข้าสู่ไตรมาสที่ 3
วิธีแก้ไข สาเหตุของอาการเหล่านี้คือการขาดธาตุเหล็กและโฟเลต ดังนั้นรับประทานอาหารที่มีปริมาณธาตุเหล็กและโฟเลตสูง หรือปรึกษาคุณหมอเพื่อขอรับอาหารเสริมค่ะ นอกจากนี้การออกกำลังกายเป็นประจำ หลีกเลี่ยงคาเฟอีน
กรดไหลย้อน
เช่นเดียวกันกับการเป็นตะคริว นี่อาจจะเป็นครั้งแรกที่คุณแม่มีอาการกรดไหลย้อนก็ได้ค่ะ ตัวการสำคัญก็คือฮอร์โมนของคุณแม่เองอีกนั่นแหละ เนื่องจากฮอร์โมนไปคลายกล้ามเนื้อ (ที่โดยปกติแล้วจะทำหน้าที่กักเก็บ) กรดในกระเพาะอาหาร ให้ออกมา กลางวันอาจจะเป็นได้เหมือนกัน แต่กรดไหลย้อนในตอนกลางคืนทรมานกว่ากันเยอะค่ะ
วิธีแก้ไข ระวังอย่าให้น้ำหนักขึ้นมากเกินไป งดการกินอาหารที่มีรสจัด คาเฟอีน อาหารทอด ๆ มัน ๆ ดื่มน้ำสะอาดเยอะ ๆ ก่อนมื้ออาหาร แบ่งอาหารเป็นหลาย ๆ มื้อกินทีละน้อย ตั้งหมอนให้สูงหน่อยหรือนั่งเอน ๆ หลับก็ช่วยได้นะคะ
คัดจมูก
เนื่องจาก ฮอร์โมนเอสโทรเจนที่เพิ่มขึ้น ทำให้ปริมาณเลือกในร่างกายเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ทำให้เยื่อในโพรงจมูกบวม ส่งผลทำให้คัดจมูกได้นั่นเองค่ะ
วิธีแก้ไข นอนหัวสูงขึ้น ใช้น้ำเกลือพ่นจมูกและล้างจมูก
กรนและหยุดหายใจ ขณะหลับ
ฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นนอกจากจะทำให้คัดจมูกแล้ว ยังทำให้เกิดอาการกรนได้ด้วย และถ้าหากคุณแม่น้ำหนักขึ้นมากไปยิ่งจะทำให้แย่ลง การกรนทำให้น่ารำคาญก็จริงแต่สิ่งที่น่ากลัวกว่าก็คือการหยุดหายใจขณะหลับ หรือภาวะที่ทางเดินหายใจพังลงมาชั่วครู่ ทำให้คุณแม่หยุดหายใจแค่เพียงช่วงสั้น ๆ
วิธีแก้ไข ลองหาซื้อเครื่องพ่นละอองแบบอุ่นมาใช้ในตอนกลางคืน การนอนตะแคงซ้ายก็ช่วยได้ค่ะ สาเหตุหลัก ๆ มาจากความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ แต่ถ้าคุณแม่ไม่ได้เป็นทั้งสองอย่าง ควรปรึกษาคุณหมอ เพื่อหาสาเหตุ และการรักษาต่อไปค่ะ
โรคนอนไม่หลับ
อาจจะเพราะ ความวิตกกังวลที่ คุณแม่มีในการตั้งครรภ์ครั้งนี้ ฮอร์โมนที่มีการเปลี่ยนแปลง หรือสาเหตุอื่น ๆ ก็สามารถทำให้คุณแม่มีอาการของโรคนอนไม่หลับได้นะคะ แม้จะเป็นเรื่องธรรมดาและก็น่ารำคาญอยู่ไม่ใช่น้อย ซึ่งหากนอนไม่หลับนาน ๆ อาจจะ ทำให้เป็นโรคซึมเศร้าได้เลยนะคะ
วิธีแก้ไข หลีกเลี่ยงคาเฟอีน ลดการกินน้ำตาล หรือของหวาน ดื่มน้ำมาก ๆ อย่างน้อยวันละ 8 แก้ว ออกกำลังกายเป็นประจำ อาบน้ำอุ่น ๆ หาวิธีผ่อนคลาย เช่น หายใจเข้าลึก ๆ ทำสมาธิ เล่นโยคะ หรือจะนับแกะ ก็ได้นะคะ
_________________________________________________________________________________________
ที่มา : What To Expect
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
รู้หรือไม่ คนท้องนอนหงาย เสี่ยงทารกในครรภ์เสียชีวิต
คนท้องนอนท่าไหน ไม่ให้ปวดหลัง และปวดเอว
คนท้องนอนตะแคงขวาได้ไหม อันตรายจากการนอนทางขวา มีอะไรควรรู้?